xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตใหม่ และใหญ่ในวงการยาง..จะหวังอะไรจาก “ไอ้เต้น?!”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
บนโต๊ะอาหารค่ำที่ผู้นั่งล้อมวงส่วนใหญ่คร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจยาง และไม้ยาง อีกทั้งถือเป็นระดับแถวหน้าของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้แก่ สุทิน พรชัยสุรีย์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย มานะผล ภู่สมบุญ วีระ เจนเจริญวงศ์ สมบูรณ์ พฤกษานุศักดิ์ กับสื่อมวลชนค่ายต่างๆ อีก 4 คน โดยมีโต้โผผู้นัดแนะให้มาเจอกันคือ ทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น

ขณะที่วงกำลังคุยกันอย่างออกรสชาติถึง “วิกฤตใหม่” และน่าจะต้องจัดว่าเป็นอีก “วิกฤตใหญ่” ในวงการยางพาราไทย ผมได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่า มีเหตุคาร์บอมบ์ และเป็นผลให้ไฟฟ้าดับไปทั่วเมืองปัตตานี เมื่อทราบเรื่องวงสนทนาก็ชะงักงันไปชั่วครู่ พร้อมๆ กับใบหน้า และสายตาฉงนสนเท่ห์ของแทบจะทุกคน

แวบนั้น ผมคาดเดาได้ทันทีว่า ความฉงนสนเท่ห์ของแหล่งข่าวคงต้องรวมเอา “ความคาดหวัง” ที่จะถูกลดทอนลงไปอย่างมากด้วย

โดยเฉพาะประเด็นวิกฤตไฟใต้ที่มีแต่จะร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ มันจะไปกลบการนำเสนอข่าวสารอันเป็นวิกฤตใหม่ และใหญ่ในวงการยางไทยไปอีกนาน ทั้งที่ต้องถือเป็นวิกฤตชาติที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่ในเรื่องของวงการยางแล้ว ผลสะเทือนดูจะรุนแรง และขยายวงไปกระทบผู้คนได้มากกว่าหลายเท่า
 
กับวิกฤตไฟใต้ เราจะวาดหวังอะไรได้อีกเล่าจากรัฐบาลปูนิ่ม โดยเฉพาะเด็กเมื่อวานซืนทางการเมืองที่มีชีวิตแบบพริตตี้มาตลอด อย่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้อ่อนด้อยทั้งความรู้ และความคิดที่จะใช้นำพาประเทศชาติให้ก้าวพ้นมรสุมที่รุมเร้าอยู่มากมายในเวลานี้

เช่นเดียวกับวิกฤตต่างๆ มากมายในวงการยาง สังคมไทยจะหวังอะไรได้อีกหรือกับไพร่ที่แปลงกายเป็นอำมาตย์ จากดาวสภาโจ๊กที่หันไปนำแก๊งแดงเผาบ้านเมือง จนได้เข้าสู่สภาหินอ่อน แล้วได้ดิบได้ดีได้รับมอบหมายให้เป็นรัฐมนตรีกำกับดูแลแก้ปัญหาในวงการยางโดยตรงคือ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือ “ไอ้เต้น” ตามคำเรียกขานอย่างติดปากของชาวบ้านร้านตลาดแบบเดียวกับไอ้ตู่ ไอ้เหลิม ไอ้หมัก หรืออะไรเทือกนั้น
 
วิกฤตในวงการยางที่นับว่าหนักหน่วงอยู่แล้ว คือ เรื่องของราคาผลผลิตที่ตกต่ำลงมาอย่างต่อเนื่อง จากที่ชาวสวนยางเคยขายได้ถึงกว่า 180 บาท/กก.เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ตอนนี้ ตกลงมาอยู่ที่ประมาณ 90 บาท/กก. หรือเงินในกระเป๋าเกษตรกรหายไปกว่าครึ่ง

ที่ผ่านมา ชาวสวนยางเคยรวมตัวกันลุกฮือขึ้นเรียกร้องต่อรัฐบาลมาหลายระลอก รวมตัวปิดถนน และจะบุกทำเนียบฯ ก็มีให้เห็นมาแล้ว ขณะที่ ครม.เมื่อถูกกดดันหนักเข้าก็ยอมที่จะเทเงินกว่า 1.5 หมื่นล้านไปพยุงราคา และดูเหมือนไอ้เต้นก็รับปากกลายๆ ไปแล้วว่าจะเดินหน้าดันให้ราคายางขึ้นไปอยู่ที่ 120 บาท/กก.ตามที่ชาวสวนต้องการให้ได้โดยเร็ว
 
ท่ามกลางวิกฤตมากมายกลับกำลังมีวิกฤตใหม่ และใหญ่เกิดขึ้นในวงการยางไทยสมทบเข้าไปอีก นั่นคือ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรย (EU) เปิดฉากเล่นเอาเถิดเจ้าล่อต่อการนำเข้าไม้ และผลิตภัณฑ์ไม้จากไทย ซึ่งปัญหานี้แม้จะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับไม้ทุกประเภท แต่เป้ากลับทะลุทะลวงพุ่งตรงไปยังไม้ยาง และไม่เพียงเท่านั้น ยังกระทบกระเทือนเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปยังวงการยางไทยโดยรวมทั้งระบบ


ปมของวิกฤตนี้อาจจะเป็นเรื่องเข้าใจยากหน่อย โดยเฉพาะกับเกษตรกรรายย่อย หรือเจ้าของสวนยาง กล่าวคือ อียูได้ออกกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการนำเข้าไม้ และผลิตภัณฑ์จากไม้ (EU Timber Regulation : EUTR) ซึ่งกฎระเบียบนี้เป็นมาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้าของสหภาพยุโรป (Forest Law Enforcement, Governance and Trade : FLEGT)

หากจะบอกว่านี่เป็นอีกมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งถูกควักมาใช้เพื่อฟื้นฟูอียูในยามที่กำลังเผชิญมรสุมเศรษฐกิจก็น่าจะได้
 
เรื่องนี้แม้จะมีฐานคิดจากภาวะโลกร้อน และต้องการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมโลก โดยพุ่งเป้าต่อต้านการทำไม้เถื่อน หรือไม้ที่ได้มาโดยไม่มีกฎหมายครบทุกขั้นตอน ต้นเรื่องมาจากที่ประชุมผู้นำ 8 ประเทศ หรือ G8 เมื่อปี 2541 แล้วคณะกรรมาธิการยุโรปก็มาสานต่อเป็นแผนปฏิบัติการ EU-FLEGT ในปี 2546 จากนั้น เริ่มเจรจากับหลายประเทศให้ยอมรับ มีการดึงเอาธนาคารโลกมาช่วยประสาน สำหรับในกลุ่มอาเซียน นอกจากจะบีบไทยเราให้เร่งเจรจายอมรับแล้ว ก็ยังมีการกดดันไปยังอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และลาวอีกด้วย
ในส่วนของไทยเรานั้น แผนปฏิบัติการ EU-FLEGT ได้ขีดเส้นตายให้เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2556 เป็นต้นไป

ซึ่งที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และคณะผู้แทนไทยประจำสภาพยุโรป ได้ออกมาเคลื่อนไหวให้คนไทยได้รับรู้มาอย่างต่อเนื่อง และในส่วนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในไทยเอง ก็ดิ้นเปิดเวทีหาทางออกในเรื่องนี้แล้วอย่างน้อย 2 ครั้งคือ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2555 กรมป่าไม้ร่วมกับสหภาพยุโรปเป็นเจ้าภาพ จากนั้นจัดสัมมนาโฟกัสกรุ๊ปลงลึกระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2555

สำหรับองค์กรที่รับลูกต่อแบบเอาจริงเอาจัง คือ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งในเวลานี้ ได้จัดทำร่างความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยต่อการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้าของสหภาพยุโรป เสนอให้ ครม.นำไปพิจารณาแล้วด้วย โดยมีทั้งข้อเสนอที่เป็นมาตรการระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาวแบบละเอียด

มาตรการระยะเร่งด่วน ดำเนินการช่วง 2 เดือนนับจากนี้ คือ สิงหาคม-กันยายน 2555 เร่งเปิดเจรจาระหว่างผู้แทนไทยกับอียู เพื่อรับทราบแนวทางการจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Partnership Agreements : VPAs) เพื่อลดผลกระทบ โดยมอบให้รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เป็นหัวหอกขับเคลื่อนให้ทันต่อการบังคับใช้

มาตรการระยะกลาง ดำเนินการช่วง 6 เดือนคือ ตุลาคม 2555-มีนาคม 2556 ประกอบด้วย 1.ยกระดับคณะทำงานในการเจรจาทำข้อตกลงให้เป็นภารกิจเร่งด่วน 2.มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการส่งออก เร่งปฏิบัติตามข้อเจรจา 3.สนับสนุนด้านงบประมาณให้เพียงพอ 4.ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับทราบและเข้าใจสาระสำคัญของข้อตกลง สามารถนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

มาตรการระยะยาว หรือตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เตรียมความพร้อมของไทยให้พร้อมรับมาตรการที่ประเทศคู่ค้าในภูมิภาคต่างๆ ที่นอกเหนือจากอียูจะกำหนดมาตรการในลักษณะเดียวกันมาบังคับใช้ เพื่อให้ไทยคงศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจไม้ และผลิตภัณฑ์จากไม้ได้ยั่งยืน และภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองและรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนต่อไป

ว่ากันว่า มีอีกหลายประเทศที่จ่อจะออกมาตรการกีดกันการนำเข้าไม้แบบเดียวกับที่สหภาพยุโรปประกาศใช้ไปแล้ว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น

ผลกระทบต่อไทยนั้น ไล่เรียงได้ตั้งแต่ผู้ประกอบการ ผู้ค้า หรือผู้ส่งออกไม้ และผลิตภัณฑ์จากไม้เกือบทุกชนิดจากไทยไปอียู ไม่ว่าไม้นั้นจะได้จากป่าปลูกเพื่อการพาณิชย์หรือไม่ก็ตาม เช่น ไม้ยาง ไม้อัด ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ กรอบรูปไม้ และชิ้นส่วนที่ทำจากไม้ หรือจากขี้เลื่อยและเศษไม้ รวมไปถึงไม้ Medium-Density Fiberboard หรือ MDF ไม้ปาร์ติเคิลบอร์ด ไม้ลามิเนต อีกทั้งกระดาษ และเยื่อกระดาษด้วย

ไทยส่งออกไม้ และผลิตภัณฑ์จากไม้ไปต่างประเทศ ตลาดใหญ่อยู่ที่สหภาพยุโรป และอเมริกา ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในปี 2552 ไทยส่งออกมูลค่า 140,872.95 ล้านบาท ปี 2553 เพิ่มเป็น 168,003.89 ล้านบาท และปี 2554 เพิ่มสูงถึง 183,405.03 ล้านบาท
ในจำนวนรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาทต่อปีนั้น เป็นไม้ยาง และผลิตภัณฑ์จากไม้ยางถึงประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

มูลค่านี้ประมาณการที่ได้จากสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทยนี้ นับว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยทีเดียว และไม่ใช่จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกเท่านั้น ยังไล่เรียงไปถึงผู้ผลิตในขั้นตอนต่างๆ ลงไปจนถึงเจ้าของสวนที่ปลูก และตัดไม้ยางขายด้วย

แม้วิกฤตใหม่ และใหญ่ที่เกิดกับวงการยางไทยในครั้งนี้จะไม่ตื่นเต้นเร้าใจเท่าวิกฤตไฟใต้ ไม่ส่งเสียงดังสนั่นหวั่นไหวเท่าคาร์บอมบ์ แต่สำหรับผลกระทบที่จะแผ่ขยายเป็นวงกว้าง และความรุนแรงที่ผู้คนจะได้รับนับว่ามากมายกว่าหลายเท่านัก
กำลังโหลดความคิดเห็น