xs
xsm
sm
md
lg

จี 20 ส่งสัญญาณชัดร่วมฟื้น ศก.โลก EU ดันสหภาพการธนาคารสกัดวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย(ซ้าย) และ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ(ขวา) ระหว่างร่วมประชุมจี20 ที่เม็กซิโก
เอเจนซีส์ - บรรดาผู้นำของกลุ่ม จี-20 ประกาศร่วมกันกระตุ้นความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกที่กำลังอ่อนแรง ขณะยุโรปตกลงเดินหน้าสหภาพการธนาคารเพื่อสกัดวิกฤตหนี้ที่คุกคามความอยู่รอดของยูโรโซน ท่ามกลางความกดดันของตลาดการเงินและผู้นำทั่วโลกที่กังวลกับสถานการณ์นี้

เม็กซิโกเป็นเจ้าภาพให้การต้อนรับผู้นำกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ของโลก ซึ่งเปิดการประชุมกันที่โลสกาโบส เป็นเวลา 2 วันตั้งแต่วันจันทร์ (17) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง และถูกกระทบอย่างแรงจากมาตรการลดงบประมาณรายจ่ายกันอย่างมโหฬาร

ในร่างคำแถลงสุดท้ายที่ยังไม่มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการจนกว่าการประชุมจะสิ้นสุด แต่ได้ผ่านสายตาของสื่อมวลชนแล้วนั้น มีเนื้อหาซึ่งเห็นกันว่าเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนที่สุดในรอบ 3 ปีของผู้นำชาติเหล่านี้ ในอันที่จะร่วมกันส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้มีการเน้นย้ำให้ประเทศที่ไม่ได้มีปัญหาหนี้รุนแรง ร่วมมือกันกระตุ้นการเติบโต หากเศรษฐกิจชะลอตัวลงอีก

ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ ที่เกรงว่าวิกฤตหนี้ยุโรปจะฉุดเศรษฐกิจโลกและทำลายความหวังในการได้รับเลือกตั้งสมัยที่สองในเดือนพฤศจิกายนของตน กล่าวผ่านโฆษกหลังการหารือรอบนอกกับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนีในวันจันทร์ว่า “รู้สึกมีกำลังใจเกี่ยวกับแผนการของยุโรป”

ทั้งนี้ ผู้นำเมืองเบียร์และชาติสมาชิกชั้นนำในยูโรโซนที่เข้าร่วมประชุม จี-20 คราวนี้ ได้กระทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือ การเปิดเผยรายละเอียดมาตรการที่จะทำให้สหภาพเศรษฐกิจและการเงินยุโรปอยู่ในสภาพครบถ้วนสมบูรณ์ หลังจากก่อตั้งมา 13 ปี

ในร่างคำแถลงสุดท้าย ยังมีการให้คำมั่นสัญญาที่จะพิจารณาขั้นตอนรูปธรรม ซึ่งจะนำไปสู่ “โครงสร้างทางการเงินที่เป็นเอกภาพยิ่งขึ้น” ในยุโรป โดยที่จะครอบคลุมการกำกับดูแลการธนาคารร่วมกัน และการรับประกันการชำระหนี้

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และคณะกรรมาธิการยุโรป ต่างเร่งเร้ามาตลอดให้สมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เดินหน้าสหภาพการธนาคาร เพื่อยุติ “วงจรอุบาทว์” ซึ่งรัฐบาลที่มีหนี้ก้อนใหญ่ยังต้องเข้าอุ้มสถาบันการเงินที่ขาดสภาพคล่อง อันมีแต่ส่งผลให้ปัญหาหนี้สาธารณะเลวร้ายลง และวิกฤตยูโรโซนรุนแรงขึ้น

แม้ไม่ได้ระบุในร่างคำแถลง แต่ถ้อยคำบางส่วนบ่งชี้ว่า เบอร์ลินซึ่งเคยคัดค้านแผนการริเริ่มที่อาจทำให้ตนต้องรับผิดชอบต้นทุนการอุ้มแบงก์ของประเทศอื่น ได้เปิดกว้างมากขึ้นต่อแนวคิดเรื่องการที่รัฐในยุโรปต้องมีการร่วมมือทางการธนาคารอย่างใกล้ชิดขึ้น

กระนั้น ข่าวดีเหล่านี้ไม่คงสามารถปกปิดภูมิหลังมืดมนของเศรษฐกิจยุโรปในเวลานี้ได้ เมื่ออัตราผลตอบแทน (ยีลด์) ของพันธบัตรรัฐบาลสเปน ได้พุ่งทะลุ 7% จนแย่งชิงความสนใจของตลาดการเงินไปจากผลเลือกตั้งกรีซเมื่อวันอาทิตย์ (17) ซึ่งพรรคที่สนับสนุนการทำตามมาตรการปฏิรูปอันสุดโหดเพื่อรับเงินกู้จากอียูและไอเอ็มเอฟ เป็นฝ่ายที่ได้ชัยชนะ

ไอเอ็มเอฟนั้นระบุว่า ยินดีเจรจากับเอเธนส์ใหม่อีกรอบเพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการในข้อตกลงเงินกู้ 130,000 ล้านยูโรก ขณะที่เลล เบรนาร์ด เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็เรียกร้องให้ขยายเวลาในการดำเนินการปฏิรูปแก่กรีซ

ข่าวร้ายยังกระหน่ำซ้ำเติม เมื่อแบงก์ชาติสเปนรายงานว่า หนี้เสียของแบงก์ในประเทศแตะระดับสูงสุดในรอบ 18 เดือนเมื่อเดือนเมษายน กระตุ้นความกังวลว่าแผนอัดฉีดแบงก์แดนกระทิงดุ 100,000 ล้านยูโรอาจไม่เพียงพอ

ในอีกด้านหนึ่ง ถึงแม้ผู้นำยุโรปและโลกตะวันตกพยายามสร้างภาพความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว แต่ยังคงปรากฏรอยร้าวให้เห็น

แมร์เคิลนั้นยังคงย้ำความรับผิดชอบทางการเงินอย่างเข้มงวด ขณะที่โอบามาแล ะฟรังซัวส์ ออลลองด์ ผู้นำใหม่ของฝรั่งเศส มุ่งโฟกัสที่เรื่องหาทางผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ นายกฯ เมืองเบียร์ยังยืนกรานว่า จะไม่ยอมยกเลิกมาตรการรัดเข็มขัดสำหรับชาติยูโรโซนที่มีหนี้สินรุงรัง

แมร์เคิลสำทับว่าจะไม่มีการเปิดเผยแผนการเกี่ยวกับการขจัดวงจรอุบาทว์จากหนี้โดยละเอียด จนกว่าจะถึงการประชุมสุดยอดอียูปลายเดือนนี้

เวทีจี-20 ยังตึงเครียดยิ่งขึ้น เมื่อ โจเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แสดงความไม่พอใจที่ถูกชาติจี-20 อื่นๆ กดดันให้ยุโรปเร่งแก้ปัญหา โดยเขาพูดแบบฉุนจัดว่า สมาชิกจี-20 ต้องเข้าใจว่า การที่ 17 ชาติประชาธิปไตยในยูโรโซนจะตกลงวิธีการสร้างสหภาพการเงิน การคลัง และการเมืองกันนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา พร้อมเรียกร้องไม่ให้ใครมาเทศนาสั่งสอนอียู

ขณะเดียวกัน ภายในงานนี้ผู้นำชาติต่างๆ ยังประกาศยืนยันการอัดฉีดเงินให้ไอเอ็มเอฟเป็น 456,000 ล้านดอลลาร์ จาก 430,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนเมษายน เพื่อสมทบกองทุนป้องกันวิกฤตในอนาคต

อีกเวทีที่ถูกจับตาคือ การประชุมนอกรอบระหว่างโอบามากับวลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกหลังจากปูตินคืนสู่เครมลินในเดือนพฤษภาคม โดยทั้งคู่เห็นพ้องว่าความรุนแรงในซีเรียควรยุติลงทันที ทว่า ไม่มีการเสนอวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ หรือส่งสัญญาณว่าตกลงกันได้เรื่องการเพิ่มมาตรการลงโทษดามัสกัสแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น