xs
xsm
sm
md
lg

ค่าไฟงวดก.ย.-ธ.ค.ขยับต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รับมือค่าไฟบิลรอบใหม่(ก.ย.-ธ.ค.)เตรียมปรับขึ้นอีกระลอกจากต้นทุนราคาก๊าซฯที่ยังสูงตามทิศทางน้ำมันผสมโรงกับต้นทุนเดิมที่อั้นเอาไว้ “กฟผ.”เตือนไทยเสี่ยงค่าไฟสูงหากไม่มีโรงไฟฟ้าต้นทุนต่ำมาถ่วงดุลระยะสั้นหนุนถ่านหินสะอาด

นายสุเทพ ฉิมคล้าย ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยในงานเสวนา”ไฟฟ้าไทยในอนาคต”ว่า ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) ในงวดหน้า (ก.ย.-ธ.ค. 2555) หากพิจารณาจากต้นทุนเชื้อเพลิงซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติที่สะท้อนราคาน้ำมันย้อนหลัง 6 เดือนยังคงมีทิศทางปรับขึ้น ประกอบกับยังมีต้นทุนสะสมจากเอฟทีงวดที่ผ่านมาที่ต้นทุนจริงต้องขึ้น 57.45 สตางค์(สต.)ต่อหน่วยแต่ขึ้นจริงไปเพียง 30 สต.ต่อหน่วยส่งผลให้กฟผ.ต้องรับภาระ 1.4 หมื่นล้านบาทซึ่งกฟผ.คงรับภาระได้ไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาทไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อกระแสเงินสด

“เอฟทีงวดหน้ายังคงปรับขึ้นแต่จะมากน้อยเพียงใดอยู่ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือเรกูเลเตอร์เป็นผู้พิจารณารายละเอียดกฟผ.มีหน้าที่นำเสนอต้นทุนจริงเท่านั้น อย่างไรก็ตามเราต้องยอมรับว่าการที่ไทยพึ่งพิงก๊าซฯผลิตไฟถึง70%ทำให้ไม่สามารถนำต้นทุนที่ต่ำมาเฉลี่ยได้ขณะที่ก๊าซฯจะอิงราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มราคาสูงต่อเนื่องในอนาคตและไทยเองก็ต้องนำเข้าในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นเพราะแหล่งในประเทศเริ่มลดลงซึ่งแอลเอ็นจีมีราคาแพงกว่าก๊าซฯในอ่าวไทยถึง 2 เท่าตัว”นายสุเทพกล่าว

ทั้งนี้ระยะยาวไทยมีความเสี่ยงด้านต้นทุนผลิตไฟที่จะสูงขึ้นจากการพึ่งพิงก๊าซฯเป็นหลัก ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีใหม่พยายามหันไปพึ่งโรงไฟฟ้า ถ่านหิน และนิวเคลียร์ แต่ประชาชนยังไม่ให้การยอมรับเท่าที่ควรทั้งที่ประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนาหลายประเทศก็ยังคงเฉลี่ยเชื้อเพลิงการผลิตเช่น มาเลเซียแม้จะมีก๊าซฯมากก็ยังให้ความสำคัญถ่าน หิน เวียดนามกำหนดแผนสร้างนิวเคลียร์เริ่มในปี 2556 ในยูนิตแรก ฯลฯ ไทยจะเสียโอกาสทางการแข่งขันได้เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ปี 2558 และถึงที่สุดก็ต้องหันไปซื้อไฟราคาถูกจากเพื่อนบ้านมาเพิ่มซึ่งก็จะมีปัญหาด้านความมั่นคงตามมาอีก

นายมงคล สกุลแก้ว รองผู้ว่าการนโยบายและแผน กฟผ. กล่าวว่า ขณะนี้ไทยใช้ถ่านหินในการผลิตไฟต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศระดับโลกซึ่งการเคลื่อนไหวต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือแม้กระทั่งนิวเคลียร์แล้วผลักการใช้ไปพึ่งก๊าซฯมากกำลังบีบตัวเองให้ลำบากในแง่ของต้นทุนค่าไฟที่สูงขึ้นเมื่อไทยเข้าสู่ AEC ราคาพลังงานจะเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยการแข่งขัน ดังนั้นกฟผ.มีความพยายามที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 แห่งที่ภาคใต้ตามแผนพีดีพีโดยโรงแรกจะเป็นโรงทดแทนโรงไฟฟ้ากระบี่เดิมที่คาดว่าจะผลิตได้ในปี 2562 หลังจากนั้นทุก 3 ปีจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1แห่ง

“ไฟฟ้าที่ภาคใต้มีความต้องการใช้สูงกว่าการผลิตต้องดึงมาจากส่วนกลางเข้าเสริมและการผลิตที่ต้องเป็นถ่านหินเพราะก๊าซฯมีจำกัด ประกอบกับอยู่ติดทะเลการขนส่งจะง่ายสุด โดยกฟผ.จะใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดทั้งหมดดำเนินการที่ทั่วโลกให้การยอมรับ”นายมงคลกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ค่าไฟงวดที่ผ่านมาต้นทุนอยู่ที่ 57.45 ส.ต่อหน่วยแต่เรกูเลเตอร์ให้ขึ้นเพียง 30 สต.ต่อหน่วยซึ่งกฟผ.รับภาระราว 19 สต.ต่อหน่วยนั้นทางเรกูเลเตอร์ระบุจะให้เกลี่ยขึ้นงวดละกว่า 8 สต.ต่อหน่วยรวม 4 งวดจนถึงสิ้นปี 2556ดังนั้นต้นทุนที่เหลือจะพิจารณาจากราคาก๊าซฯ อัตราแลกเปลี่ยน โดยเอฟทีงวดที่ผ่านมา คำนวณจากค่าเงิน 30.92 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ราคาก๊าซธรรมชาติ 301.28 บาทต่อล้านบีทียู เบื้องต้นคาดราคาก๊าซเพิ่มอีก 10 บาทกว่าต่อล้านบีทียู หรือประมาณ 8-10 สต.ต่อหน่วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น