xs
xsm
sm
md
lg

เรกูเลเตอร์หวังเปิดให้เอกชนยื่นประมูลไอพีพีรอบ 3 ทันสิ้นปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายดิเรก  ลาวัณย์ศิริ
“เรกูเลเตอร์” ตั้งคณะทำงานร่างเกณฑ์เปิดประมูลไอพีพีรอบ 3 เร่งสรุปผลศึกษาหวังเปิดประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นประมูลแข่งขันได้ภายในสิ้นปีนี้ ยันทำตามมติ กพช.เปิดรับเฉพาะเชื้อเพลิงก๊าซฯ เท่านั้น “กฟผ.” เผยหากเลือกได้อยากเห็นการเปิดกว้าง หวังมีถ่านหินเข้าแข่งลดผลกระทบค่าไฟในอนาคต

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาแนวทางการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) รอบที่ 3 ที่มีนายนภดล มัณฑะจิตร กรรมการเรกูเลเตอร์เป็นประธานตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่ดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2555-2573 (PDP 2010) ฉบับปรับปรุง โดยการศึกษาจะพยายามออกประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจประมูลยื่นแข่งขันผลิตไฟฟ้าให้เร็วที่สุดภายในสิ้นปีนี้

“การเปิดไอพีพีรอบ 3 เป็นไปตามมติ กพช.ที่กำหนดให้ต้องเปิดประมูลโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติรอบใหม่จากไอพีพีจำนวน 6 แห่ง กำลังการผลิตรวม 5,400 เมกะวัตต์ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบโรงแรกในปี พ.ศ. 2564” นายดิเรกกล่าว

นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า คณะทำงานที่ตั้งขึ้นจะเร่งศึกษาเพื่อให้สามารถออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ามาลงทุนโรงไฟฟ้าให้ทันในสิ้นปีนี้ ซึ่งเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าตามมติ กพช.กำหนดให้เป็นก๊าซฯ แต่ถ้าจะเป็นเชื้อเพลิงอื่นเช่นถ่านหินนั้น ตามแผนพีดีพีกำหนดให้เป็นหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ดำเนินการ

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวหากเป็นไปได้อยากเห็นการเปิดไอพีพีรอบ 3 เปิดกว้างสำหรับการเสนอเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องของราคาก๊าซฯ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่ขณะนี้ราคานำเข้าสูงถึง 600 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งหากมีเชื้อเพลิงเข้ามาก็จะลดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าได้

“แม้ว่าจะกำหนดให้ กฟผ.รับหน้าที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไปแล้วก็ตาม แต่ถ้าเอกชนมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่นในนิคมอุตสาหกรรม ก็สามารถดำเนินการได้ ลดความเสี่ยงในเรื่องผลกระทบต่อชุมชน และสำคัญคือถ่านหินสะอาดมีต้นทุนต่ำกว่าก๊าซฯ และปริมาณสำรองก็มาก” นายสุทัศน์กล่าว
นายสุทัศน์  ปัทมสิริวัฒน์
กำลังโหลดความคิดเห็น