xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.จี้รัฐยกระดับพลังงานไฟฟ้าเป็นวาระแห่งชาติก่อนวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กฟผ.เสนอรัฐยกระดับเรื่องพลังงานไฟฟ้าเป็นวาระแห่งชาติ เร่งหาข้อยุติเรื่องพลังงานหลักและพลังงานหมุนเวียนก่อนก๊าซหมดอ่าวไทยในอีก 15 ปีข้างหน้า หากไม่เร่งวางแผนที่ชัดเจนไทยเสี่ยงวิกฤตพลังงาน

นายพงษ์ดิษฐ พจนา ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยระหว่างการศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นว่า รัฐบาลควรจะยกระดับเรื่องพลังงานไฟฟ้าเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากอีก 15 ปีข้างหน้าหากไทยไม่สามารถหาข้อสรุปถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าที่ชัดเจนได้ก็จะถึงวิกฤตพลังงานของประเทศไทย เนื่องจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะหมด และจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งก๊าซจากต่างประเทศซึ่งมีความเสี่ยง

“รัฐต้องมาเป็นผู้นำหรือร่วมมือกับ กฟผ.ในการทำความเข้าใจกับชุมชน ซึ่งถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีเวทีที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ โดยไทยจะต้องกระจายความเสี่ยงของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสม และอะไรที่สังคมยอมรับได้ และเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐ เช่น การโซนนิ่งเขตอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า” นายพงษ์ดิฐกล่าว

สำหรับแนวทางของ กฟผ.ที่เสนอเป็นทางเลือกคือ พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินนำเข้า, พลังงานก๊าซ LNG, พลังงานนิวเคลียร์ โดยสิ่งสำคัญคือต้องสื่อสารให้สังคมเข้าใจ ส่วนพลังงานหมุนเวียน (พลังงานลม, แสงอาทิตย์ ฯลฯ) นั้นยอมรับว่ามีข้อจำกัดในการพัฒนาเพราะแหล่งพลังงานไม่แน่นอน มีต้นทุนสูง รัฐต้องสนับสนุนส่วนต่างให้ผู้ผลิต ซึ่งจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft โดยตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) 2553-2573 ปรับปรุงครั้งที่ 3 กำหนดให้มีพลังงานหมุนเวียนถึง 30% ภายในปี 2566 ซึ่งเป็นสัดส่วนเทียบเท่าสากล โดยสวีเดนใช้พลังงานทางเลือกสูงที่สุด 50%

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมนิวเคลียร์ กฟผ. กล่าวว่า ตามแผนPDP กฟผ.จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินนำเข้าที่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุนประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ใช้พื้นที่ 700-800 ไร่ โดยจะก่อสร้างที่โรงไฟฟ้ากระบี่เดิมที่ใช้น้ำมัน กำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ และหลังจากปี 2561 จะก่อสร้างอีก 3 โรง กำลังผลิตโรงละ 800 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างหาพื้นที่ที่เหมาะสม วงเงินลงทุนโรงละประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท โดยเน้นพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันเนื่องจากต้องนำเข้าถ่านหินจึงต้องมีท่าเรือน้ำลึก และจะใช้รูปแบบโรงไฟฟ้าแบบเปิดเพราะมีพื้นที่เพียงพอและต้นทุนต่ำกว่าแบบปิด
กำลังโหลดความคิดเห็น