xs
xsm
sm
md
lg

คนอุบลฯ ไม่เอานิวเคลียร์ ร่วมต้านเวทีเสวนา พร้อมรณรงค์หยุดสร้างทันที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - ก.พลังงาน โดย กฟผ.ร่วมภาคเอกชนจัดเวทีเสวนาทางเลือก ทางรอด ไฟฟ้าไทย ที่จังหวัดอุบลราชธานี เจอชาวบ้านต้าน พร้อมวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม จัดเวทีไฮด์ปาร์กคู่ขนานรณรงค์ไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปทั่วเมือง

วันนี้ (20 ก.ค.) ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับหน่วยงานเอกชนเปิดเวทีเสวนา "ทางเลือก ทางรอด ไฟฟ้าไทย" ศึกษาการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เห็นชอบให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาไฟฟ้าสำรอง หรือพีดีพี 2010 จำนวนกำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ โดยลดลงจากสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ตั้งไว้ 5,000 เมกะวัตต์ และมีพื้นที่เป้าหมายก่อสร้างใน 4 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี ตราด กาฬสิทธุ์ และ จ.อุบลราชธานี

ทำให้กลุ่มต่อต้านไม่เอาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานีประมาณ 200 คนพากันมาแสดงความเห็นต่อต้านไม่เอาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในเวทีเสวนา และพากันวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมมาจัดไฮด์ปาร์กต่อต้านที่ด้านล่างของโรงแรมนานประมาณ 1 ชั่วโมง

จากนั้นพากันเดินรณรงค์แจกเอกสารชี้แจงผลเสียของการมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทยไปตามถนนในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนที่ผ่านไปมาจำนวนมาก

น.ส.สดใส สร่างโศก แกนนำกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ระบุว่า โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ประเทศที่เจริญแล้วไม่อนุญาตให้นำพลังงานชนิดนี้มาใช้ และประเทศที่ใช้อยู่ก็กำลังจะสั่งปิดโรงไฟฟ้าลงเรื่อยๆ แต่ประเทศไทยกลับรับเอามหันตภัยร้ายของนิวเคลียร์มาอยู่ใกล้ตัว ทำให้องค์กรเครือข่าย 20 แห่งในจังหวัดออกมาร่วมกันคัดค้านแสดงความเห็นในการจัดเวทีเสวนาวันนี้ เพราะถือเป็นความพยายามจะมาสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีให้ได้

สำหรับแผนพัฒนาไฟฟ้าสำรอง หรือพีดีพี 2010 ระหว่างปี 2554-2573 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อนุมัติแผนให้มีโรงไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในระบบจำนวน 5,000 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ 5 จังหวัดประกอบด้วย จ.สุราษฎร์ธานี ชุมพร ตราด นครสวรรค์ และ จ.อุบลราชธานี และให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 10 โรง โรงไฟฟ้าจากก๊าซ 20 โรง

ต่อมารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรับปรุงแผนพีดีพี 2010 โดยให้มีพลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหลืออยู่ในแผน 2,000 เมกะวัตต์

แต่เพิ่มโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมก๊าซธรรมชาติ 25,451 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4,400 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าระบบพลังงานร่วม Co-generation 6,374 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 9,516 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ 750 เมกะวัตต์ และซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 6,572 เมกะวัตต์

สำหรับแผนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 2 โรง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้คัดเลือกใน 4 พื้นที่ คือ จ.สุราษฎร์ธานี ตราด กาฬสินธุ์ และ จ.อุบลราชธานี



กำลังโหลดความคิดเห็น