สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เฉลิมพระเกียรติ 60 ปีบรมราชาภิเษก ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ณ เขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท อันเป็นโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เฉลิมพระเกียรติ 60 ปีบรมราชาภิเษก ของ กฟผ. โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ผู้ว่าการ กฟผ. และผู้บริหารระดับสูง กฟผ. เข้าร่วมพิธี ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนระหว่าง กฟผ.กับกรมชลประทานเพื่อสนองนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของพลังงานหมุนเวียน และลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่แล้วจากเขื่อนเจ้าพระยาของกรมชลประทานผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก่อนระบายลงท้ายเขื่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านการเกษตร อุปโภคบริโภค และด้านพลังงาน
โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เฉลิมพระเกียรติ 60 ปีบรมราชาภิเษกได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือนตุลาคม 2550 โดยดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำมีกำลังผลิตรวม 12 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย เครื่องผลิตไฟฟ้า กำลังผลิต 6 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง ใช้ปริมาณน้ำในการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยเครื่องละ 97.3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยน้ำที่ผ่านการผลิตไฟฟ้าแล้วจะปล่อยคืนสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรงตามเดิม จึงไม่กระทบต่อแผนการระบายน้ำเพื่อการชลประทานแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังได้ก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าขนาด 22 กิโลโวลต์ ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร เพื่อส่งไฟฟ้าที่ผลิตได้เชื่อมต่อระบบส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่มีอยู่เดิม
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เฉลิมพระเกียรติ 60 ปีบรมราชาภิเษก นับเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่สะอาด ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน 35,624 ตันต่อปี ลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ 15 ล้านลิตร ทั้งยังช่วยสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าของจังหวัดชัยนาท ส่งเสริมการศึกษาวิจัยด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และสร้างรายได้ให้แก่แรงงานท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวให้จังหวัดชัยนาท นอกจากนั้น ประชาชนยังได้ประโยชน์จากการนำน้ำในการชลประทานมาใช้อุปโภคบริโภค ถือเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างคุ้มค่าอีกด้วย