ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.ปชป.นครศรีฯ เผย ไฟฟ้าถ่านหินผิดข้อตกลง กมธ.พลังงานอัดทำชุมชนแตกแยก ด้าน กฟผ.ไม่สนเดินหน้าเตรียมประกาศสร้างโรงแรก “หัวไทร” อย่างเป็นทางการปี 56
ความเคลื่อนไหวในการเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตามแผนพัฒนาพลังงาน 2010 เป็นโรงแรกขนาด 800 เมกะวัตต์ ที่ อ.หัวไทร ยังคงเป็นปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างชุมชนที่ต้องการดำเนินวิถีชีวิตเป็นแบบพึ่งพาอาศัยระหว่างคนกับธรรมชาติ และหวั่นเกรงถึงผลกระทบอย่างกว้างขวางที่จะตามมากับโรงไฟฟ้า โดยมีตัวอย่างจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และโรงไฟฟ้ามาบตาพุด เป็นตัวอย่างที่ กฟผ.ไม่สามารถควบคุมได้
ล่าสุด วันนี้ (10 เม.ย.) นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า กรรมาธิการพลังงานสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาให้ข้อมูล เมื่อช่วงกลางปี 2554 และปรากฏว่า ได้มีการส่งตัวแทนมาให้ข้อมูล และในครั้งนั้นได้มีการทำข้อตกลงกันว่า ให้ กฟผ.ยุติความเคลื่อนไหวในพื้นที่อย่างเด็ดขาด จนกว่าจะมีการทำประชาพิจารณ์กันทั้งประเทศ เพื่อหาข้อยุติในการจัดการทิศทางพลังงานของประเทศไทย จะใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานทางเลือก จะเอา หรือไม่เอาถ่านหิน จะเอา หรือไม่เอานิวเคลียร์อย่างไร เมื่อนั้นจะได้เร่งดำเนินการไปตามทิศทางที่ต้องการ
“กฟผ.จะต้องยุติจนกว่าจะทำประชาพิจารณ์ แต่กลับส่งคนมาเคลื่อนไหวถือว่าผิดข้อตกลง เมื่อประชาชนไม่ให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นแน่ ประชาชนเขากำลังติดตามจำนวนมาก ขณะที่ กฟผ.ใช้งบประมาณจนเกิดความขัดแย้ง ขอร้องให้ยุติไปก่อนอย่างเด็ดขาดในขณะนี้” ส.ส.นครศรีธรรมราชกล่าว
ด้านความเคลื่อนไหวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรายหนึ่งเปิดเผยว่า ขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นโรงแรกให้ได้ก่อน และจะประกาศการก่อสร้างอย่างเป็นทางการใน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ราวช่วงกลางปี 2556 นี้ หลังจากนั้น จะดำเนินการตามขั้นตอนการก่อสร้างทันที
“เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในพื้นที่รายงานมายังผู้บริหารว่า สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหามวลชนได้หมดแล้ว และอ้างว่า การรวมตัวทำกิจกรรมของเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนัง เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นเวทีสุดท้ายแล้ว เนื่องจากแกนนำได้เปลี่ยนใจหันมาสนับสนุน กฟผ.แทน ส่วนวิธีการใดนั้นไม่ต้องพูดถึง ทุกอย่างในพื้นที่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด มวลชนที่มารวมตัวกันนั้นคิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา” แหล่งข่าวรายนี้กล่าว
แหล่งข่าวรายเดิมยังกล่าวต่อว่า ในแผนของการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้นั้น ขณะนี้ก้าวหน้าไปมาก ทุกพื้นที่ได้เร่งลงไปดำเนินการ เช่น ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ตรัง จ.กระบี่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.ชุมพร โดยเฉพาะ จ.ชุมพร นั้น ขณะนี้กำลังพิจารณาอาจเปลี่ยนแผนจากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับชายทะเล เนื่องจากมีการสำรวจความมั่นคงทางธรณีวิทยาเรียบร้อยแล้ว ส่วนใน จ.ประจวบคีรีขันธ์นั้น กำลังทำแผนลงพื้นที่ดำเนินการใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนของมวลชนที่มีการรวมตัวแสดงการต่อต้านคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินใน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช นั้น ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อวันที่ 7 เม.ย.55 ที่ผ่านมานั้น มีการรวมตัวกันครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนใน อ.หัวไทร โดยเฉพาะกลุ่มชุมชนชาวประมงชายฝั่ง ที่อาศัยทำมาหากินอยู่ตลอดแนวชายฝั่ง อ.หัวไทร ไปจนถึง อ.ระโนด อ.สทิงพระ จ.สงขลา ซึ่งเป็นรอยต่อกับ อ.หัวไทร ต่างมารวมตัวกันพร้อมร่วมทำกิจกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ระโนด และ อ.สทิงพระ นั้น เป็นพื้นที่ของการเตรียมการก่อสร้างโรงงานถลุงเหล็กรองรับทันทีหากมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นต้นธารของอุตสาหกรรมหนักชุดแรก