xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯยันต้องถอน-พท.ตีมึน! เลื่อนปรองดอง-ศาลรธน.เผยคำวินิจฉัยกลาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-รัฐบาลเพื่อไทยตีมึน! เมินคำขู่ เล็งเลื่อนร่างพ.ร.บ.ปรองดองแทน ด้านโฆษกพันธมิตรฯ ยันต้องถอนเท่านั้น จวกเลื่อนวาระไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหา ด้าน “ค้อนปลอม” นัด 1ส.ค. อ้างไร้วาระปรองดอง-แก้รธน ขณะที่ศาลรธน.เผยแพร่คำวินิจฉัยกลางแล้ว

วานนี้ ( 26 ก.ค.) นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่ประสานงานกับรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ประกาศเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อกดดันให้รัฐบาลถอนร่างกม.ปรองดอง ออกจากที่ประชุมสภาฯว่า ยืนยันว่า จะไม่มีการหยิบยกมาพิจารณาในสภาฯ อย่างแน่นอน โดยวิปรัฐบาลจะเสนอให้นำกฎหมายอื่นมาพิจารณาแทนทันทีที่เปิดสมัยประชุม

เมื่อถามว่า เมื่อไม่คิดจะหยิบมาพิจารณาทำไมถึงไม่ถอนร่างกฎหมายออกไป นายวรวัจน์ กล่าวว่า การถอนเป็นเรื่องของเจ้าของร่าง ซึ่งมีอยู่หลายร่าง ในส่วนที่วิปรัฐบาลจะดำเนินการได้คือการหยิบยกเรื่องอื่นมาพิจารณาแทนเท่านั้น ส่วนจังหวะไหนถึงจะหยิบยกกฎหมายปรองดองขึ้นมาพิจารณาอีกรอบ นายวรวัจน์ กล่าวว่า ไม่มี ยังไม่มีการพูดกัน

**นัด1ส.ค. “ไร้วาระปรองดอง-แก้รธน”

ที่รัฐสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวว่า ได้เรียกประชุมนัดพิเศษในวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งเป็นวันเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป แต่จะเลื่อนญัตติ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ออกไปก่อน เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ
 
ส่วนที่กลุ่มพันธมิตรฯขู่ว่าหากไม่ถอนร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯออกไปจะนัดชุมนุมใหญ่ นายสมศักดิ์ตอบว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะเอาอย่างไร จึงจะขอเลื่อนวาระอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อน ไปจนกว่าจะได้คำตอบสุดท้าย เพื่อที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรปกติในวันที่ 8 -9 ส.ค. จะได้ไม่เกิดปัญหา

ทั้งนี้แนวโน้มการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนได้พูดไปหมดแล้วตั้งแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย โดยเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของศาลที่ให้แก้ไขเป็นรายมาตรา และเห็นควรให้ลงประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

*พธม.ยันต้องถอน! เท่านั้น

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตร กล่าวว่า การเลื่อนวาระร่างปรองดองไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่ควรจะถอนร่างออกจากการพิจารณาของสภาเพื่อไม่ให้สังคมขัดแย้งมากกขึ้น

**“มาร์ค”หนุนแก้เศรษฐกิจก่อน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่

วิปรัฐบาลส่งสัญญาณว่าจะไม่เดินหน้า ร่าง พรบ.ปรองดองที่ค้างการพิจารณาในวาระที่ 1 ของสภาว่า ถือเป็นสัญญาณที่ดีและอยากให้มีความชดัเจนว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เพราะอะไรที่ช่วยขจัดเงื่อนไขความขัดแย้งได้ถือเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นรัฐบาลจึงควรขจัดเงื่อนไขความขัดแย้ง เพราะมีปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งดูแลแก้ไขอยู่มาก

**ศาลรธน.เผยแพร่คำวินิจฉัย 29 หน้า

อีกด้าน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยที่18-22/2555 กรณี ที่พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา และคณะ กับคณะ รองประธานรัฐสภา ในฐานะรัฐสภา คณะรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ซึ่งศาลมีคำวินิจฉัยยกคำร้องไปเมื่อวันที่ 13 ก.ค.

ทั้งนี้ในคำวินิจฉัยกลางดังกล่าวมีทั้งสิ้น 29 หน้า แบ่งเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรกจะเป็นการสรุปข้อเท็จจริงและเอกสารประกอบคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5 ส่วนที่ 2 เป็นการสรุปข้อเท็จจริงคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และเอกสารประกอบของผู้ถูกร้องและส่วนที่ 3 เป็นประเด็น ที่เป็นคำวินิจฉัยขอศาลโดยเนื้อหาขอคำวินิจฉัยไม่ได้แต่กต่างไปจากที่ได้อ่านไปแล้วเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยคำวินิจฉัยกลาง ระบุว่า คดีคำร้อง 5 คำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่าคดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย 4 ประเด็น

ในประเด็นที่ 2 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ หรือไม่ โดยมีประเด็นในการพิจารณาว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 291 จะนำไปสู่การแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ทั้งฉบับ ได้หรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า อำนาจในการก่อตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมืองหรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของประชาชน ซึ่งเป็นที่มาโดยตรงในการให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งระบบกฎหมายและองค์กรทั้งหลายที่ใช้อำนาจทางการเมืองการปกครอง ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้องค์กรที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญใช้อำนาจที่ได้รับมอบจากรัฐธรรมนูญ กลับไปแก้รัฐธรรมนูญเหมือนการใช้อำนาจแก้ไขกฎหมายธรรมดาทั่วไป ซึ่งการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เป็นกระบวนการที่ผ่านการลงประชามติโดยตรงจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้

ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ได้มาโดยการลงประชามติ ก็ควรจะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ก็เป็นความเหมาะสมและเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ จึงจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291

นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าว คำวินิจฉัยส่วนตนนั้นไม่แต่ต่างจากคำวินิจฉัยกลางมากนัก แม้จะเผยแพร่ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น