แกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2 เผย การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ เป็นชัยชนะของผู้ร้อง แม้ไม่ถึงที่สุดแต่สามารถยับยั้งฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นผลสำเร็จ ชี้คดีพันธมิตรฯ ฟ้องนักการเมือง 416 คน ลงมติวาระ 1 ยังมีโอกาส เพราะรอการไต่สวน แจงศาลยกคำร้องเฉพาะคำขอให้เลื่อนวินิจฉัยวันนี้ แต่คดียังอยู่ เล็งเพิ่มเติมในส่วนที่ศาลยังไม่เห็นจาก 5 คำร้องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
วันนี้ (13 ก.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำรุ่น 2 และโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ในรายการนิวส์อาว ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ว่า จากการที่ตนสังเกต ถือว่าเป็นชัยชนะของผู้ร้อง ถึงแม้จะไม่ได้อย่างถึงที่สุด แต่ก็สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ คือยับยั้งการฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้เป็นผลสำเร็จ ถึงแม้จะมีความลังเลว่าเป็นคำสั่ง คำชี้ขาด หรือเป็นข้อแนะนำ แต่ตนเชื่อว่าจะสร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้ที่จะลงมติวาระที่ 3 อย่างแน่นอน หากมีการลงมติตนก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีคนกล้าลงมติให้ผ่านด้วยมติเสียงข้างมากจริงหรือไม่
“ผมคิดว่า นี่คือ การวางข้อเงื่อนไขที่ถือว่าไม่ธรรมดาสำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในประการถัดมาต้องไม่ลืมว่าคดีของพันธมิตรฯ เองถึงแม้ว่าจะต้องได้รับผลส่วนหนึ่งจากคดี 5 คำร้องแรก แต่เราก็ยังเห็นได้ว่า 5 คำร้องแรกยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์คืออะไร ดังนั้นถ้าเราจะมีโอกาสชี้แจงเพิ่มเติม หากท่านยังไม่ยกคำร้องคดีพันธมิตรฯ เราก็ยังได้มีโอกาสไต่สวนเพิ่มเติม เพื่อพิสูจน์ความจริง” นายปานเทพ กล่าว
แกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2 กล่าวต่อว่า ในกรณีที่ศาลได้มีคำวินิจฉัย ว่า กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะทำแบบนี้ไม่ได้ จะต้องมีการลงประชามติเสียก่อน ถ้าจะมีการยกเลิกทั้งฉบับเช่นนี้ เท่าที่สังเกตถึงแม้ว่าจะไม่ใช่อำนาจในการวินิจฉัยในเรื่องคดีอาญา ซึ่งเป็นอำนาจที่ไม่ใช่ของศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่คิดว่ามีผลต่อเนื่องทันที เพราะว่าพันธมิตรฯ ได้มีการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปแล้ว
ทั้งนี้ ในกรณีที่นักการเมือง 416 คนที่ได้ดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญในช่วงที่ผ่านมา เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ถือเป็นการกระทำที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งตนเห็นว่าหลังจากคดีนี้แล้วน่าจะมีผลต่อเนื่องทันที เพราะถือว่าเป็นการทำเกินหน้าที่อำนาจของ ส.ส.และ ส.ว.เหล่านี้ เพราะฉะนั้นจึงน่าจะมีความเสียงต่อคดีอาญาเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขนี้แม้หลายคนจะมองข้ามว่ามาตรา 68 ศาลเห็นว่ายังไม่ผิด แต่ตนก็ยังเห็นว่ายังมีโอกาสในอีก 3 ขั้นตอน คือ ในชั้นไต่สวนของพันธมิตรฯ ซึ่งศาลยังไม่ยกคำร้อง ประการต่อมายังมีโอกาสที่นักการเมืองเหล่านี้เผลอไปลงมติในวาระที่ 3 ก็จะมีความเสี่ยงเข้ามาตรา 68 ด้วย ในทำนองเดียวกันถึงแม้จะไม่ใช่มาตรา 68 ก็ยังมีโอกาสเสี่ยงติดคดีอาญาในฐานะที่ดำเนินการไม่ถูกต้อง ที่ไม่ทำการลงประชามติกับประชาชนในการยกเลิกรัฐธรรมนูญเสียก่อน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อนักการเมืองทั้งสิ้น ดังนั้นก็จะใช้ประโยชน์จากคดีพันธมิตรฯ ในการเก็บตกส่วนที่ 5 คำร้องไม่สามารถจะดำเนินการต่อได้ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“แทนที่จะขยายผลจาก 5 คำร้องซึ่งเน้นพรรคการเมือง กับคณะผู้ยื่นญัตติ ก็จะขยายผลเป็นนักการเมืองทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ส.ส.และ ส.ว.ทุกคนที่ลงมติวาระที่ 1 ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นปรากฏการณ์ และน่าจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า กระบวนการดังกล่าวนั้นทำในนามพรรคการเมือง หรือว่าทำในนามบุคคลกันแน่ ซึ่งผมเชื่อว่ากระบวนการดังกล่าวก็จะเป็นบทพิสูจน์ให้ได้ความชัดเจนมากขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา” นายปานเทพ กล่าว
นายปานเทพ กล่าวอีกว่า วันนี้ศาลหลายคนเข้าใจว่าวันนี้ศาลยกคำร้องของพันธมิตรฯ นึกว่ายกคำร้องทั้งสำนวน แต่ว่าไม่ใช่ ศาลยกเฉพาะว่าการชะลอการวินิจฉัยวันนี้ ศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็น ก็เลยยกในส่วนของคำขอนี้ แต่ว่าคดีหลักที่พันธมิตรฯ ได้ยื่นต่อนักการเมือง 416 คนยังคงดำเนินอยู่เหมือนเดิม ซึ่งเวลานี้คณะผู้ที่ถูกร้องยังไม่ได้ยื่นคำชี้แจงมาให้ครบ ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาวันที่ 16 ก.ค.นี้ ซึ่งก็ใกล้เข้ามาแล้ว บางคนก็จะไม่ยื่น บางคนก็จะยื่น บางคนก็จะขอเลื่อนเวลาออกไป ดังนั้น ก็จะได้มีโอกาสพิสูจน์อีกในดาบที่สอง ว่าจะมีผลอย่างไรบ้างอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อถามว่า บางคนอาจเห็นว่าเป็นพฤติการณ์และข้อเท็จจริงเหมือนกัน คดีพันธมิตรฯ อาจมีโอกาสยกคำร้องเหมือนคดี 5 สำนวนหรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา พันธมิตรฯ ยังไม่มีโอกาสไต่สวน และตนเชื่อว่าข้อได้เปรียบของพันธมิตรฯ คือ ได้เห็นคำร้องของ 5 สำนวนว่าได้ขาดตกบกพร่องหรือว่าในสิ่งที่ศาลเห็นว่ายังไม่เห็นอะไร เราก็มีหน้าที่ในการซ่อมหรือว่าเพิ่มเติมในส่วนที่ศาลยังไม่เห็นเหล่านั้นให้มีความเห็นชัดเจนมากขึ้น ตนจึงเชื่อว่าเรายังมีโอกาส ยังไม่หมดโอกาสแต่อย่างใด