เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง คดีแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่แล้ว พบเนื้อหาไม่ต่างจากการอ่านคำวินิจฉัยเมื่อศุกร์ 13 ก.ค. ผู้สนใจแห่เข้าชมจนเว็บไซต์ใช้การไม่ได้
วันนี้ (26 ก.ค.) เว็บไซต์ (www.constitutionalcourt.or.th) ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยที่18-22/2555 กรณี ที่พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับคณะนายวันธงชัย ชำนาญกิจ นายวิรัตน์ กลัยาศิริ ส.ส.สลขลาพรรคประชาธิปัตย์ นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายบวร ยสินทร กับคณะ รองประธานรัฐสภา ในฐานะรัฐสภา คณะรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา นายสุนัย จุลพงศธร กับคณะ และนายภารดร ปริศนานันทกุล กับคณะ ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ซึ่งศาลมีคำวินิจฉัยยกคำร้องไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดนั้นมีลักษณะคล้ายกับการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในคำวินิจฉัยกลางดังกล่าวมีทั้งสิ้น 29 หน้า แบ่งเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรกจะเป็นการสรุปข้อเท็จจริงและเอกสารประกอบคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5 ส่วนที่ 2 เป็นการสรุปข้อเท็จจริงคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และเอกสารประกอบของผู้ถูกร้องและส่วนที่ 3 เป็นประเด็น ที่เป็นคำวินิจฉัยขอศาล โดยมีเนื้อหาไม่ได้แตกต่างไปจากที่ได้อ่านห้คู่กรณีฟังเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา สรุปว่า ศาลเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 68 เป็นบทบัญญัติในเรื่องสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ จึงต้องตีความในแนวทางยอมรับสิทธิ ไม่ใช่จำกัดสิทธิ เพื่อให้ชนชาวไทยทุกคน และศาลรัฐธรรมนูญสามารถตรวจสอบการกระทำที่มีปัญหาตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง เพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้สมกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้นจึงเห็นว่า ศาลมีอำนาจศาลรับคำร้องโดยตรงจากผู้ที่ทราบว่ามีการกระทำล้มล้างการปกครองฯ และสามารถรับคำร้องจากอัยการสูงสุดที่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น กรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องผ่านอัยการได้ โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ให้อำนาจศาลในการสั่งให้มีการเลิกการกระทำที่ศาลเห็นว่า เป็นการล้มล้างการปกครอง ฯ ซึ่งการจะมีคำสั่งนั้นต้องเป็นช่วงที่การกระทำนั้นยังคงดำเนินอยู่และยังไม่บังเกิดผล กรณีอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงตามมสาตรา 68 วรรสอง แล้วแต่ยังไม่มีคำสั่งประการใดจากอัยการสูงสุดหากปล่อยให้กระบวนการลงมติในวาระ 3 ลุล่วงไป แม้ต่อมาอัยการสุงสุดยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อให้สั่งเลิกการกระทำนั้น ก็ไม่สามารบังคับตามคำวินิจฉัยในทางใดได้อีก
ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมในลักษณะยกเลิกทั้งฉบับได้หรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 แม้จะเป็นอำนาของรัฐสภาก็ตาม แต่การแก้ไขเพิ่มเติมโดยการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้มาจากการลงประชามติของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ก็ควรจะได้ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่า สมควรที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสม และเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291
สำหรับการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ศาลเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการให้มีการวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นรายมาตรา เพื่อปฏิรูปการเมือง ปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองขึ้นใหม่ให้มีเสถียรภาพ ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญ 50 ให้ไว้เพื่อเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหา ที่อาจจะเกิดขึ้นจากข้อบกพร่องในตัวรัฐธรรมนูญเอง หรือปัญหาจากข้อเท็จจริงทางการเมืองที่ต้องมีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และมีความสอดคล้องต่อเนื่องในคราวเดียวกัน หากพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวาระ 2 แล้ว เห็นได้ว่ากระบวนการดังกล่าวยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ถือได้ว่า เป็นการล้มล้างการปกครองฯ อีกทั้งขั้นตอนการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ยังไม่ได้เป็นรูปธรรม และเมื่อพิจารณาบันทึกหลักการและเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวในมาตรา 291/11 วรรคห้า ก็ยังบัญญัติคุ้มกันเพื่อรับรองการร่างรัฐธรรมนูญที่จะไม่กระทบถึงสาระสำคัญแห่งรัฐ ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือรูปแบบรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำไม่ได้” หากร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะดังกล่าวให้ร่างนั้นตกไป ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 219/11 วรรคหก
อย่างไรก็ตามหาก ส.ส.ร.มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะดังกล่าวประธานรัฐสภาและรัฐสภาก็มีอำนาจยับยั้งให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไปได้ รวมถึงหากบุคคลใดทราบการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองฯก็ยังมีสิทธิเสนอเรื่องให้กับอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ทุกช่วงเหตุการณ์ ตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ ที่สำคัญจากการชี้แจงและไต่สวนฝ่ายผู้ถูกร้องล้วนเบิกความถึงเจตนารมณ์ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ไม่มีเจตนารมณ์ที่จะกระทำการล้มล้างการปกครองฯ และผู้ถูกร้องทั้งหมดยังมีเจตคติอันตั้งมั่นว่าจะดำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่เช่นเดิม ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ข้อกล่าวอ้างทั้งหมดเป็นเพียงการคาดการณ์หรือความห่วงใยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปกครอง ทั้งยังหากไกลต่อการที่จะเกิดเหตุตามที่กล่าวอ้าง จึงให้ยกคำร้องในประเด็นนี้ และเมื่อได้วินิจฉัยเป็นดังนี้แล้ว จึงไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ 4 ที่ว่า หากมีการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ เป็นเหตุให้ต้องวินิจฉัยให้ยุบพรรคหรือไม่ อาศัยเหตุดังกล่าวข้างต้นจึงให้ยกคำร้องทั้ง 5 คำร้อง
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกลางในช่วงบ่ายของวันนี้ได้ไม่นาน ปรากฏว่าได้มีผู้ให้ความสนใจเข้าชมและดาวน์โหลดคำวินิจฉัยกลาง ซึ่งเป็นไฟล์ในรูปแบบพีดีเอฟ (PDF) จำนวนมาก ส่งผลให้เว็บไซต์เกิดใช้การไม่ได้เป็นระยะๆ ขณะเดียวกันก็พบว่ามีคู่กรณีมารอขอคัดสำเนาคำวินิจฉัยที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งแต่ช่วงเช้า อย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยส่วนตนนั้นคาดว่าจะเผยแพร่ได้ในสัปดาห์หน้า