เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านจำนวน 151 คน ได้เดินทางไปยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 ที่เห็นชอบให้กรมชลประทานเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ได้ภายใต้งบประมาณ 13,280 ล้านบาท
“โครงการเขื่อนแม่วงก์” เป็นอีกมหากาพย์หนึ่งของการต่อสู้ภาคประชาชนและเครือข่ายพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม กับกรมชลประทานและรัฐบาลมาอย่างยาวนาน นับแต่เริ่มมีโครงการศึกษาที่จะจัดทำเขื่อนดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2527 แต่กรมชลประทานก็ไม่สามารถผลักดันให้โครงการดังกล่าวเป็นที่ยอมรับกันของภาคประชาชนได้ ทั้งนี้เพราะเหตุผลในการก่อสร้างเมื่อเทียบกับจำนวนผืนป่าอนุรักษ์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุดที่ต้องสูญเสียไปจำนวน 13,000 ไร่ ไม่มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์นั่นเอง
แต่ถึงกระนั้นกรมชลประทานก็ไม่วายที่จะผลักดันโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้คณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะมีมติไม่เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการดังกล่าวไปตั้งแต่ปี 2545 ตามที่กรมชลประทานเสนอให้พิจารณาแล้วก็ตาม
ขณะเดียวกันปี 2547 กรมชลประทานก็ยังดันทุรังเสนอรายงาน EIA ดังกล่าวกลับไปให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็ได้มีมติที่ชัดเจน 2 ข้อว่า
1) ให้กรมชลประทาน ประสานการดำเนินการวางแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำแม่วงก์ให้สอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำสะแกกรังของคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำสะแกกรัง เพื่อหาข้อยุติในการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบในลักษณะบูรณาการ โดยพิจารณาให้มีผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ตลอดจนความขัดแย้งกับราษฎรน้อยที่สุด
2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำวิธีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ (SEA: Strategic Environmental Assessment) มาใช้ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย
มติทั้งสองข้อดังกล่าวทำให้กรมชลประทานต้องถอยหลังกลับไปศึกษาและดำเนินการให้เป็นไปตามมติดังกล่าวอยู่อย่างยาวนาน จนหลายฝ่ายคิดว่ายุติโครงการดังกล่าวไปแล้ว แต่ทว่าเมื่อเกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 กรมชลประทานก็แอบนำโครงการเขื่อนแม่วงก์ขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ดูเหมือนลุกลี้ลุกลนมาก โดยไม่รอหรือแยแสกระบวนการตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมกำหนดไม่ โดยก้าวข้ามขั้นตอนของกฎหมายเสนอโครงการดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการก่อนเลย แล้วจึงค่อยๆ กลับมาศึกษาหาเหตุผลรองรับในภายหลัง ซึ่งดูเหมือนรัฐบาลและกรมชลประทานจะไม่สนใจหลักธรรมาภิบาล หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเสียแล้ว และที่สำคัญดูเหมือนจะท้าทายกฎหมายและรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเจตนา
ทั้งนี้โครงการเขื่อนแม่วงก์เป็นหนึ่งใน 21 โครงการก่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ที่คณะกรรมการ กนอช. และคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธานได้กำหนดไว้ในทีโออาร์ ตามกรอบความคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย (TOR) ที่เปิดโอกาสให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศมาออกแบบภายใต้เงินงบประมาณเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท
ดูเหมือนรัฐบาลโดย กบอ. จะลุกลี้ลุกลนจนมองข้ามขั้นตอนของกฎหมายไปอย่างตั้งใจ แม้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจะออกมาเตือนแล้วหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 57 วรรคสอง ที่บัญญัติไว้ว่า “การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ”
“ทีโออาร์” ป้องกันน้ำท่วมภายใต้เม็ดเงินมหาศาลนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนแทบทั้งสิ้น ตั้งแต่งานหลักด้านการบรรเทาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 8 ลุ่มน้ำ ซึ่งมีเป้าหมายโครงการอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ประกอบด้วยการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่า ดิน ฝายแม้ว ประมาณ 10 ล้านไร่ วงเงินหมื่นล้านบาท สร้างอ่างกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก 5 หมื่นล้านบาท ทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งจัดทำพื้นที่ปิดล้อม พื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัด อีก 5 หมื่นล้านบาท ปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานเหนือนครสวรรค์และเหนืออยุธยาให้เป็นแก้มลิงแม่น้ำเก็บกักน้ำหลากชั่วคราวได้ประมาณ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้พื้นที่ 2 ล้านไร่ งบ 6 หมื่นล้านบาท
นอกจากนั้น ยังมีแผนงานปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและคันริมแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน ฯลฯ งบประมาณ 7 พันล้านบาท และโครงการจัดทำทางน้ำหลาก หรือฟลัดเวย์ และทางผันน้ำขนาดไม่น้อยกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รับอัตราการไหลของน้ำส่วนเกินจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก ไปทางฝั่งตะวันออกและตกของเจ้าพระยา อีก 1.2 แสนล้านบาท การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์เตือนภัย การบริหารจัดการน้ำหลากน้ำแล้งงบ 3 พันล้านบาท รวมถึงการปรับปรุงองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำ สั่งการ กำกับ ดูแล และวิธีการเยียวยาอีกด้วย
ส่วนโครงการอื่นๆ เป็นแผนงานฟื้นฟูและพัฒนาในลุ่มน้ำภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก 6,000 ล้านบาท การสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้และอีสาน 1.2 หมื่นล้านบาท การทำผังใช้ที่ดินรวมทั้งทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเศรษฐกิจหลักในภาคใต้และอีสานอีก 1 หมื่นล้านบาท การปรับปรุงสภาพทางน้ำหลักและคันริมแม่น้ำในลุ่มน้ำภาคใต้ อีสาน ตะวันตก ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำเพชร 1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งการปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์เตือนภัยใน 17 ลุ่มน้ำ ในภาคใต้ อีสาน ชายฝั่งทะเลตะวันตก ตะวันออก งบ 2 พันล้านบาท รวมถึงการปรับปรุงองค์กรด้วย
โครงการแต่ละโครงการเป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลกลับมองข้ามการปรึกษาหารือกับภาคประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียก่อนการดำเนินการ ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่สนใจขั้นตอนของกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดไว้อีกมาตราใน มาตรา 58 ที่ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครองอันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน” ไปเสียแล้ว
หากรัฐบาลหรือ กบอ. หรือ กนอช. ยังเดินหน้าต่อไปโดยไม่ทบทวนหรือฟังเสียงทักท้วงของภาคประชาชน มาตรการตอบโต้ของภาคประชาชนก็คือ การฟ้องร้องเพื่อเพิกถอนมติ หรือคำสั่ง หรือการกระทำใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย ดังกรณีการฟ้องเพิกถอนมติโครงการเขื่อนแม่วงก์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมานั่นเอง...