รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ฟุ้งมี 400 บริษัท ขอรับเอกสารโครงการบริหารจัดการน้ำ 3 แสนล้าน เตรียมชง ครม.ตั้งกรรมการคัดเลือกอีกคณะ ขอนั่งหัวโต๊ะเอง ปัดขัดแย้ง กยน.อ้างไม่เกี่ยวโชว์ออฟคนเดียว ชี้แค่หมดหน้าที่ ส่วนเรื่องสำรวจเมฆทำแผนเรียบร้อย ก่อนเจรจาขอเงินสำนักงบประมาณ
วันนี้ (23 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว. วิทยาศาสตร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเข้ารับเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) ออกแบบโครงการบริหารจัดการน้ำ วงเงินงบประมาณ 3 แสนล้าน ที่จะหมดเขตการขอรับเอกสารในวันนี้ (23 ก.ค.) ว่า จนถึงขณะนี้มีผู้เข้าขอรับเอกสารกว่า 400 บริษัท ซึ่งเป็นกระแสตอบรับเกินกว่าที่คาดไว้มาก ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในประเทศ และต่างประเทศที่จดทะเบียนในประเทศไทยแล้ว ถือว่าร้อยละ 90 เป็นบริษัทสัญชาติไทย และจากจำนวนบริษัทที่มากเช่นนี้ อาจส่งผลให้การวิเคราะห์คุณสมบัติต้องใช้เวลามาก ส่วนหลักเกณฑ์คัดเลือกเบื้องต้นนั้น ตนจะเปิดเผยอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ค.) เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมไปถึงผู้ที่มีข้อสงสัยสามารถมาสอบถามได้
นายปลอดประสพ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ กระบวนการคัดสรรบริษัทที่จะได้รับงานออกแบบตามทีโออาร์ดังกล่าวต้องมีไม่น้อยกว่า 90 วันนับจากนี้ รวมไปถึงขั้นตอนการสัมภาษณ์เพิ่มเติมด้วย โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ค.) ตนจะเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง และผู้อำนวยการ 10 คน รวมกับผู้เชี่ยวชาญอีก 6-7 คน โดยตนในฐานะประธาน กบอ.จะเป็นประธานกรรมการชุดนี้ เพื่อพิจารณาและจัดทำบัญชีรายชื่อบริษัทที่ผ่านการคัด เลือก (Shortlist) เบื้องต้น
“กรรมการชุดใหม่ที่ ครม.ตั้งขึ้นมาจะไปพิจารณาในรายละเอียด เพื่อนำเสนอ ครม.อีกครั้งหนึ่ง ถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณา และหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนบริษัทต่างๆ” นายปลอดประสพ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อท้วงติงจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย นายปลอดประสพ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการทำความเข้าใจกันแล้ว โดยตนได้ชี้แจงรายละเอียดของโครงการ ซึ่งอาจเกิดจากการที่ทางวิศวกรรมสถานฯ ไม่ได้ศึกษาโครงการให้ดีก่อนที่จะตั้งข้อสังเกตออกมา ทั้งนี้ย้ำว่าขั้นตอนนี้ยังไม่อยู่ในระยะของการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่มีการลงนามในสัญญา หรือจ่ายเงินใดๆ รวมไปถึงการดำเนินการตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือปีไอเอที่ต้องมีการทำในขั้นตอนการออกแบบก่อสร้าง ซึ่งฝ่ายวิศวกรรมสถานฯ ก็ยอมรับเพิ่งทราบในส่วนนี้
เมื่อถามถึงปัญหาความขัดแย้งภายในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ซึ่งมีกระแสข่าวว่ากรรมการหลายคนได้ถอนตัวออกไป นายปลอดประสพ กล่าวว่า เท่าที่ทราบไม่มีใครถอนตัว เพราะระยะหลังมานี้ก็ไม่ได้มีการประชุม กยน.เลย ต้องเข้าใจว่า บทบาทของ กยน.คือ ผู้ทำแผนระยะสั้นและระยะยาว ที่ได้นำมาเป็นต้นแบบของร่างทีโออาร์ที่นำมาใช้ในการประกวดครั้งนี้ โดยมี กบอ.เป็นผู้ปฏิบัติ และคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) เป็นพี่เลี้ยง ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการปฏิบัติ ดังนั้นบทบาทของ กยน.จึงถือว่าสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้เลิกรากันไป ยังทำหน้าเหมือนที่ปรึกษาอยู่ กรรมการก็ไม่จำเป็นต้องถอนตัว บางคนก็มาร่วมในคณะ กบอ.
“คงไม่เกี่ยวกับที่ว่า ผมโชว์ออฟคนเดียว เพราะผมเป็นประธาน กบอ.มีหน้าที่ปฏิบัติ ไม่มีหน้าที่คิดเรื่องแผน เพราะแผนก็เสร็จมาแล้ว ทีโออาร์ฉบับนี้ก็ลอกมาจากแผนของ กยน.ทั้งเล่ม ยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้งอะไรกัน” ประธาน กบอ.ระบุ
เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการประกาศพื้นที่รับน้ำนองในจังหวัดต่างๆ นายปลอดประสพ กล่าวว่า เรื่องนี้กรมชลประทาน และกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบในการทำความเข้าใจ ซึ่งอาจจะมีประชาชนในบางพื้นที่ที่ยังไม่ทราบ ก็จะติดตามเรื่องนี้ให้อีกครั้ง รวมไปถึงการซ้อมแผนระบายน้ำในพื้นที่ กทม.ซึ่ง นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ดูแลอยู่ เร็วๆ นี้ จะมีการทดสอบในระดับร้อยละ 30 แม้ว่าในหลายๆ คลองของ กทม.จะยังทำการขุดลอกไม่แล้วเสร็จ เพราะมีบางจุดที่ เช่น คลองลาดพร้าว ที่ผู้รับเหมาะเข้าไปดำเนินการไม่ได้ ก็ต้องรอให้ทหารเข้าไปทำแทน เนื่องจากยังมีการรุกล้ำพื้นที่เป็นจำนวนมาก ล่าสุด ครม.ก็อนุมัติให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทำการสร้างแฟลตที่พักทดแทนให้แล้ว โดยที่ กทม.และกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ไปเจรจา
ส่วนกรณีโครงการสำรวจการเคลื่อนไหวของเมฆและละอองอนุภาคในอากาศที่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในหลักการไปแล้วนั้น นายปลอดประสพ เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะทำงานได้ทำแผนการเบื้องต้นเรียบร้อย และอยู่ในระหว่างการเห็นชอบจากตน หลังจากนั้นจึงไปเจรจากับทางสำนักงบประมาณเพื่อขออนุมัติเม็ดเงิน และนำเรื่องเข้า ครม.อีกครั้ง โดยจะมี 6 มหาวิทยาลัย และ 3 หน่วยราชการเข้าร่วมโครงการนี้