xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” รอคำวินิจฉัยกลางก่อนถกแก้ไข รธน.อย่างไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
นายกรัฐมนตรีเผย ครม.ยังไม่ตัดสินใจปัญหาแก้ รธน. รอคำวินิจฉัยกลางของศาลฯ ก่อน จากนั้นจะให้กฤษฎีกานำไปพิจารณาก่อนเสนอความเห็นมายังรัฐบาล ขณะเดียวกันไม่ยอมรับ ครม.ทำพลาดดันแก้ รธน. อ้างเป็นนโยบายที่ต้องทำ พร้อมย้ำรัฐบาลไม่รวบรัดทีโออาร์ป้องกันน้ำท่วมเอื้อนักลงทุนต่างชาติ แค่อยู่ในขั้นตอนเสนอแก้คิด บอกไม่เกินเดือนหน้าบอกได้พื้นที่ไหนเสี่ยงน้ำท่วม


 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" 
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความเห็นที่แตกต่างของคนในรัฐบาลเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยบางฝ่ายเห็นว่าต้องเดินหน้าโหวตวาระ 3 บางฝ่ายเห็นว่า ไม่ควรโหวตวาระ 3 ว่า การวิพากษ์วิจารณ์ถ้าเป็นการทำให้สังคมหรือทุกฝ่ายมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่อยากให้การวิจารณ์นั้นนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรง อยากเห็นการช่วยกันวิเคราะห์แนวทางออกของประเทศและการเดินทั้งหมดจะไปในรูปแบบไหน แน่นอนข้อตัดสินต่างๆ ย่อมมีหลายๆ มุมและมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งอยากให้ใช้ช่วงเวลานี้ในการวิเคราะห์มากกว่าการทำให้เกิดความขัดแย้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้แม้แต่คนในรัฐบาลด้วยกันเองยังมีความเห็นที่ขัดแย้ง นายกรัฐมนตรี ย้อนถามว่า ขัดแย้งอย่างไร ไม่มีหรอก เมื่อถามว่านายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เห็นควรให้เดินหน้าโหวตวาระ 3 ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี แนะให้แก้ไขรายมาตรา น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า อันนี้เป็นความเห็นส่วนบุคคล ณ วันนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่มีความเห็นใดๆ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมามีรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติม รวมถึงคำแนะนำ ซึ่งเรายังไม่แน่ใจว่าในคำวินิจฉัยจริงๆ เขียนอย่างไร ดังนั้นเห็นควรให้ ครม.รอคำวินิจฉัยส่วนกลางออกมาอย่างเป็นทางการก่อน โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาจะนำคำวินิจฉันนั้นมาตีความ เพื่อเสนอต่อ ครม.อีกครั้ง

ส่วนรัฐบาลจะปฏิบัติตามคำแนะของกฤษฎีกาหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คงถือว่ากฤษฎีกาเป็นฝ่ายกฎหมายที่แนะนำคณะรัฐบาล แต่การตัดสินใจขึ้นอยู่กับ ครม.ที่จะหารือและตัดสินใจร่วมกัน เมื่อถามว่า รัฐบาลจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเหมือนเดิมตรงที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ได้ทั้งฉบับต้องทำประชามติก่อน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขออนุญาตแก้ไขคำว่าข้อผิดพลาด อันนี้คือหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลเรื่องการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญและการที่มีผู้ร้องนั้นคือส่งไปให้ตีความ ซึ่งเห็นแล้วว่า เจตนารมณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการล้มล้างหรือการแก้ไขทั้งฉบับแต่ใดๆ ฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้คงจะนำข้อวินิจฉัยมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติมากกว่า ซึ่งจริงๆ ขั้นตอนทั้งหมดส่วนใหญ่เป็นของรัฐสภาที่จะต้องหารือและตัดสินกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเห็นของ ร.ต.อ.เฉลิมน่าคิด ที่มองคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถูกต้องและไม่ควรเดินหน้าโหวตวาระ 3 เพราะจะทำให้รัฐบาลอยู่ลำบาก นายกรัฐมนตรีก็จะตกที่นั่งลำบากเพราะต้องเป็นผู้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ส่วนนี้ต้องแยกเป็นส่วนๆ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีความเห็นจาก ครม.และรัฐบาล แต่นี่คือความเห็นของ ร.ต.อ.เฉลิม และการโหวตวาระ 3 ในส่วนของคณะรัฐมนตรีผ่านไปแล้ว นั่นคือต้องไปหารือกันในส่วนของรัฐสภา

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ทีโออาร์น้ำ ที่ถูกมองว่ารัฐบาลข้ามขั้นตอนเร่งรัดเกินไปและให้ความสำคัญนักลงทุนต่างชาติมากกว่าคนไทยว่า คงไม่ใช่ ขั้นตอนนี้ไม่ใช่ขั้นตอนที่เร่งรัด เพราะเบื้องต้นเราจะขอร่างข้อคิดเห็นข้อแนะนำก่อน ยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะตกลงการจัดซื้อจัดจ้าง ตรงนี้เปิดโอกาสให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นจากจำนวนรายชื่อเป็นนักลงทุนในประเทศเยอะและหลังจากครบกำหนด 1 เดือน ประมาณปลายเดือน นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ.) จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องผู้ที่เกี่ยวข้องมาชีแจงให้เกิดความชัดเจน เรียนว่าทุกอย่างไม่มีการรวดรัด แต่ไม่สามารถเป็นลักษณะของการทำงานที่นานเกินไป เพราะอย่างที่เรียนแผนการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างยั่งยืนนั้นต้องรีบทำ ขณะเดียวกันเราต้องการความรู้ความชำนาญของหลายๆ ส่วนเข้ามาบูรณาการจากแนวที่รัฐบาล โดย กนย.ได้เสนอไว้เพื่อให้มองภาพรวมอย่างเป็นเอกภาพ ส่วนงานที่เร่งด่วนเราจะดำเนินควบคู่ขนานกันไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลได้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยัง ต้องเห็นแผนก่อน ซึ่งแผนนี้เป็นเรื่องงานก่อสร้าง และการที่ให้เสนอทีโออาร์เป็นลักษณะที่เราต้องการความเห็นแผนการระบายน้ำ การบริหารจัดการน้ำด้วย ซึ่งจะเห็นผลกระทบในขณะเดียวกัน

เมื่อถามว่า รัฐบาลติดตามงานการบริหารจัดการน้ำทุกสัปดาห์ ห้วงเวลาไหนที่จะบอกได้ว่าพื้นที่ไหนน้ำจะท่วมและพื้นที่ไหนน้ำไม่ท่วม เพราะประชาชนอยากรู้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือของตัวเอง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า บอกแน่ ขอเวลานิดหนึ่ง ข้อมูลทั้งหมดกำลังรวมอยู่ ไม่เกินเดือนหน้าเราจะชี้แจงประชาชน เมื่อถามว่าหมายถึงจะชี้เลยใช่หรือไม่พื้นที่ไหนต้องถูกน้ำท่วม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องเรียนว่าการพยากรณ์ข้างหน้าคงไม่สามารถบอกได้ 100% ว่าพื้นที่ไหนจะท่วมหรือไม่ท่วม แต่เราจะบอก โดยดูแนวโน้มจากการพยากรณ์ว่าพื้นที่ไหนมีความเสี่ยงแค่ไหน แต่เปอร์เซ็นต์ความถูกต้องหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับปริมาณใกล้ๆนั้นอีกที อย่างที่เราเห็นบางทีมีพายุต่างๆ เข้ามาถึงเวลาจริงอาจไม่ลงบางภาค บางครั้งเคลื่อนจากภาคเหนือมาลงภาคตะวันออกเฉียงเหนือแบบนี้ เป็นต้น ซึ่งต้องมีองค์ประกอบเข้ามาช่วย แต่สิ่งที่เราบอกคืองบประมาณเร่งด่วนเรานำไปทำพนังกั้นน้ำ ดูแลเรื่องเขื่อนและระบบการป้องกันอย่างเต็มที่ในเวลาที่มีอยู่อย่างไร อันนี้บอกได้ คงขอแยกเป็นสองส่วน ซึ่งจะทำให้มากที่สุดละเอียดที่สุด เพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจ

ส่วนนอกจากการบอกผ่านสื่อรัฐบาลจะมีวิธีการอย่างไรที่จะแจ้งให้ประชาชนทราบว่ารัฐบาลได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มีแน่นอน รอนิดหนึ่ง เมื่อถามว่าจะครบ 1 ปีในการดำเนินงานแผนบริหารจัดการน้ำที่แถลงไว้ต่อรัฐสภามีความคืบหน้าแค่ไหน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แผนบริหารจัดการน้ำต้องแยกเป็นสองส่วน คือแผนงานก่อสร้างส่วนใหญ่คืบหน้าไปประมาณ 60-70% ส่วนแผนบริหารเรื่องการระบายน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ นั้น ในส่วนของปลายน้ำต้องหารือด้านเทคนิคเร่งการระบายน้ำพื้นที่ตอนปลายให้ลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการน้ำได้มีการบูรณาการเป็นเอกภาพตั้งแต่เรื่องการพยากรณ์และการเตือนภัย คิดว่าไม่เกินเดือนหน้าจะชี้แจงให้ประชาชนรับทราบทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น