xs
xsm
sm
md
lg

ขวาง14 เมกะโปรเจกต์น้ำ ห่วงจัดทำโครงการขัดงบ3.5ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (23 ก.ค.55)นายสุวัฒนา จิตตลดากร ประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมแห่งน้ำ วสท.แสดงความเป็นห่วง การกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะมายื่นขอเสนอ ต้องมีมูลค่างานไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท เพราะจะเหลือไม่กี่บริษัทที่จะผ่านคุณสมบัตินี้ โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติ ซึ่งการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลาในการศึกษาทั้งเรื่องการเขียนแผน ความเหมาะสมแต่ละโครงการ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นต้องกำหนดประเด็นเหล่านี้ก่อน แล้วจึงออกแบบก่อสร้างภายหลัง
ส่วนลักษณะการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ในโครงการ ตามกรอบทีโออาร์ นักวิชาการไทย และบริษัทให้คำปรึกษาของไทยมีอยู่แล้ว แต่เพราะคุณสมบัติไม่เป็นไปตามทีโออาร์กำหนด จึงอยากให้รัฐบาลนำข้อเสนอของ วสท.ที่แยกเสนอออกเป็น 2 ส่วนคือ โครงการระยะสั้น ที่การแก้ปัญหามาถูกทางแล้ว และสามารถดำเนินการได้ทันที ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ ระยะยาว อยากเห็นการศึกษาอย่างรอบด้าน
ทั้งนี้ วสท.จะรอฟังคำชี้แจงหลังการปิดรับทีโออาร์ วันที่ 24 ก.ค.นี้ เพื่อให้มั่นใจว่า วสท.จะไม่ตีความกรอบทีโออาร์ผิด โดยจะหารือในกลุ่มนักวิชาการ เพื่อกำหนดแนวทางเสนอความคิดเห็นไปยังรัฐบาลต่อไป
อีกด้าน เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ณ วัดท่าการ้อง จ.พระนครศรีอยุธยาแถลงการณ์ เรื่อง ข้อเสนอการจัดการน้ำของประเทศไทย โดยแนวทางการจัดการน้ำโดยชุมชนเพื่อความยั่งยืน ที่สมดุล และเป็นธรรม
ระบุว่า ตามที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดเชิญบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ มาทำทีโออาร์เพื่อจัดจ้างให้ทำแผนแม่แบบ (Conceptual Plan) ในการแก้ปัญหาน้ำของประเทศไทยทั้งระบบตลอด 25 ลุ่มน้ำ อันประกอบด้วย 14 เมกะโปรเจกต์ในวงเงิน 350,000 ล้านบาทตามกรอบของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยหรือ กบอ. ซึ่งได้มี "แผนงานโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ" ในพื้นที่ 5 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และลุ่มน้ำป่าสัก รวมความจุประมาณ 1,807 ล้าน ลบ.ม.ใช้งบประมาณกว่า 50,000 ล้านบาทนั้น
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนืออันประกอบด้วยค ณะทำงานในลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน กก อิง หงาว งาว สาละวิน และโขง ซึ่งได้ดำเนินงานในการจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมมาโดยตลอด เห็นชัดเจนว่าแผนงานดังกล่าวของรัฐบาลขาดความโปร่งใส ชัดเจน และการมีส่วนร่วม ดังนั้นเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยทีโออาร์สามแสนล้านต่อสาธารณะชน ยุติแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำโดยการทำลายป่าอันเป็นแนวทางที่ไร้ซึ่งความเป็นเหตุเป็น และให้ความสำคัญต่อการจัดการน้ำชุมชนเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศไทย พร้อมกับมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรมของทุกภาคส่วนในประเทศ ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนตามบริบทนิเวศวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ดังนี้
1. ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ป่าต้นน้ำให้กลับคืนมาสู่สมดุลอย่างยั่งยืนเหมาะสมกับระบบนิเวศของแต่ละพื้นที่ อันเป็นการป้องกันปัญหาอุทกภัยที่ถูกจุด
2. ผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำโดยชุมชนท้องถิ่น ให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำแห่งชาติ โดยการผสานแนวคิดภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมินิเวศ การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดการเข้าใจและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและองค์รวม
3. กำหนดนโยบายสาธารณะในการบริหารจัดการลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน และเป็นองค์รวมของระบบนิเวศในลุ่มน้ำทั้งระบบ (ดิน น้ำ ป่า) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้เหมาะสมกับระบบนิเวศของลุ่มน้ำ และสอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
4. เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา ในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น
5. กักเก็บน้ำระดับตำบล “หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ” โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งแผนงานเหล่านี้จะกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนไม่มากนัก แต่จะมีประโยชน์ต่อชาวบ้านและชุมชนโดยตรงในแต่ละพื้นที่
6. ฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่ตามธรรมชาติโดยการขุดลอกตะกอนแม่น้ำ การแก้ไขปัญหารุกล้ำในลำน้ำเพื่อรักษาพื้นที่ลำน้ำ การพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำและกลางน้ำด้วยการขุดลอก การทำพื้นที่แก้มลิง และรักษาความสมบูรณ์ของพื้นที่ต้นน้ำเพื่อชะลอน้ำ
7. จัดแบ่งพื้นที่ (Zoning) ให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท เช่น พื้นที่เกษตร แหล่งท่องเที่ยว แหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์แล้ว ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างอีกด้วย
8. กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ
9. สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
10. ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู
11. ท้ายสุด ขอให้ยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแม่น้ำปิงตอนบน เขื่อนสาละวิน เขื่อนแม่น้ำโขง ฯลฯ โดยหันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชนดังได้กล่าวมาแล้ว
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับเครือข่ายนักอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และชาวบ้านทั่วประเทศ และในจังหวัดนครสวรรค์ จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเพิกถอนมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 กรณีเห็นชอบให้มีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ มูลค่า 13,280 ล้านบาท โดยมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายเสียก่อน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสกัดการให้เอกชนออกแบบวางแผนการจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านที่เปิดให้ทีโออาร์ไปแล้ว และเพื่อเป็นการตอบโต้แผนของรัฐบาลที่จะสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ 21 เขื่อนตามกรอบในทีโออาร์ที่ขัดรัฐธรรมนูญด้วย โดยมีกำหนดยื่นฟ้องวันอังคารที่ 24 กรกฎาคม 2555 เวลา 10.30 น. ณ ศาลปกคลองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น