xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลแจกดะ “กล่องมีเดียบอกซ์” โวได้ข้อมูลแม่นยำน้ำท่วมเอาอยู่แน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ยงยุทธ” แจกอุปกรณ์ติดตามสถานการณ์น้ำอัตโนมัติแก่ อปท.130 แห่ง พบต้นทุนกล่องละ 3 พัน ผลิตในจีน “รอยล” โวประสิทธิภาพแม่นยำถึงร้อยละ 98 เตรียมประเมินผลเดือนหน้า เผยการจัดการน้ำต้องหาจุดสมดุลตั้งแต่แหล่งเก็บน้ำยันการใช้น้ำ

วันนี้ (19 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เป็นประธานในพิธีมอบอุปกรณ์ติดตามสถานการณ์น้ำอัตโนมัติ (Media Box) และแผนที่น้ำระดับตำบล ในโครงการพัฒนาภูมิสารสนเทศน้ำระดับตำบล โดยมีนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, นายประชา เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) และคณะผู้บริหารจากส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมพิธีมอบให้แก่เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลพื้นที่นำร่อง 130 แห่ง ซึ่งถือเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยผลักดันและพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ในการใช้ข้อมูลเพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งให้มีความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำและอุทกภัยที่อาจส่งผลกระทบในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

จากนั้นนายรอยลได้กล่าวถึงประสิทธิภาพของตัวตรวจวัดระดับน้ำอัตโนมัติว่า เท่าที่ใช้ประสิทธิภาพอยู่ในระดับร้อยละ 98 ซึ่งตัวมีเดียบอกซ์จะเป็นระบบเรดาร์ที่มีความแม่นยำค่อนข้างสูง สามารถนำไปติดตั้งบริเวณที่สะพานใหญ่ๆ ทำให้เมื่อมีน้ำหลากความเสียหายจะต่ำมาก และใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ โดยราคาต่อเครื่องไม่เกิน 3,000 บาท ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศจีน โดยจะมีการติดตามแบบเรียลไทม์ ซึ่งตนตั้งเป้าการติดตั้งมีเดียบ็อกซ์อยู่ที่ 50 เครื่องแต่คิดว่าอาจไม่ถึงเพราะในช่วงแรก อบต.ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร เนื่องจากความเคยชินที่คิดว่าการแก้ไขปัญหาต้องใช้โครงสร้าง ไม่ได้แก้ไขปัญหาด้วยข้อมูล แต่การแก้ปัญหาด้วยข้อมูลจะช่วยสะท้อนถึงการจัดการได้ รวมถึงการรู้ล่วงหน้าถึงสถานการณ์น้ำ วัดได้จากปีที่แล้วมีความแม่นยำเกินร้อยละ 85 เมื่อติดตั้งแล้วจะมีการประเมินผลในช่วงเดือน ส.ค.พร้อมกับทำแผนที่น้ำ และหากได้รับความร่วมมือกับกรมอุตุนิยมวิทยาในเรื่องการขยายโมเดลการพยากรณ์อากาศที่คำนวณคู่ไปกับโมเดลทะเล ซึ่งจะทำให้มีความแม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้ในแต่ละพื้นที่ยังอยู่ช่วงของการพัฒนา แต่เราหวังให้แต่ละ อบต.สามารถทำแผนที่น้ำในพื้นที่ตนเองได้ โดยการบริหารน้ำจะทำร่วมกับพื้นที่ข้างเคียง

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่คาดการณ์น้ำได้นั้น กรณีการสร้างแก่งเสือเต้นตรงนี้มีความจำเป็นหรือไม่ นายรอยลกล่าวว่า ตรงนี้มีปัญหาตามเพราะการคาดการณ์นั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเราต้องการเหลือพื้นที่ไว้ไม่ให้เสี่ยง แม้ว่าตอนนี้ความเสี่ยงลดลง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ และสิ่งที่ยังเห็นในพื้นที่พอไม่มีแหล่งน้ำ สิ่งที่ตามมาคือเวลาน้ำมาน้ำจะท่วมมากกว่าเดิม ทำให้ประชาชนหันมาปลูกพืชฤดูแล้ง มีการทำบ่อบาดาล ทำให้พื้นดินทรุด ป่าก็แล้ง กลายเป็นงูกินหาง จึงต้องหาจุดสมดุลให้ได้ ว่าเราจะทำแหล่งเก็บน้ำอย่างไรให้ป่าดีขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนการใช้น้ำ ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องทีโออาร์การบริหารจัดการน้ำว่าข้อบกพร่องนั้น เรื่องนี้ตนไม่ขอพูด เพราะไม่ใช่นักวิชาการ และยังไม่ได้อ่านในรายละเอียดของทีโออาร์



กำลังโหลดความคิดเห็น