xs
xsm
sm
md
lg

จับผิด"เหลิม"รับจ๊อบ จ้องล้มองค์กรอิสระ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเร่งเปิดคำวินิจฉัยกลางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 ไม่เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครอง คาดไม่เกินวันที่ 27 ก.ค.นี้ พร้อมสั่งจำหน่ายและไม่รับ6 คำร้อง รวมถึงคำร้องของพันธมิตร ด้าน “เพื่อไทย-เสื้อแดง”รอดูคำวินิจฉัยก่อนกำหนดท่าที ปชป.จับผิด “เหลิม”รับงานนายใหญ่ล้มองค์กรอิสระ ผู้ตรวจถามยุบแล้วได้อะไร แต่“สดสี” รับได้เปลี่ยนแนว กกต.

นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วานนี้ (25 ก.ค.) ว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบกับร่างคำวินิจฉัยกลางกรณียกคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่มีประมาณ 30 หน้าแล้ว แต่เนื่องจากจะต้องมีการปรับปรุงข้อเท็จจริงบางประการ และแก้ไขคำผิดถูก ซึ่งหากคณะทำงานที่เป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ก็จะเสนอต่อตุลาการฯ แต่ละคนให้ลงนาม ซึ่งน่าจะเริ่มเสนอให้ลงนามได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และเมื่อแล้วเสร็จคาดว่าไม่เกินวันศุกร์ที่ 27 ก.ค.นี้ คู่กรณีจะสามารถคัดสำเนาคำวินิจฉัยกลาง และสำนักงานจะนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวมถึงเผยแพร่ทางเว็ปไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของคำวินิจฉัยกลางจะไม่มีอะไรที่แตกต่างจากที่คณะตุลาการได้อ่านให้คู่กรณีฟังเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ส่วนคำวินิจฉัยจะตอบปัญหาสังคมหรือทำให้หลายหน่วยงานนำไปปฏิบัติได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการทำความเข้าใจในเนื้อหาคำวินิจฉัยกลางที่จะออกมา และที่ศาลฯ มีข้อแนะนำในเรื่องการทำประชามติก็เป็นส่วนหนึ่งในคำวินิจฉัย

สำหรับคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการแต่ละคนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างที่คณะทำงาน ซึ่งคณะตุลาการตั้งขึ้นตรวจสอบความถูกต้องของถ้อยคำและส่งคืนให้ตุลาการแต่ละคนได้พิจารณา หากแล้วเสร็จ ก็จะเผยแพร่ไปพร้อมกับคำวินิจฉัยกลาง แต่หากไม่แล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถเผยแพร่ได้ในสัปดาห์หน้า

**จำหน่ายคำร้องพธม.ร้อง416สส.สว.

ที่ประชุมคณะตุลาการวันเดียวกันนี้ ยังได้พิจารณาและมีคำสั่งจำหน่าย 2 คำร้อง ในกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ว. ขอถอนคำร้องที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า การที่กรรมาธิการและสมาชิกรัฐสภา มีส่วนร่วมในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการกระทำล้มล้างการปกครองหรือไม่ และกรณี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคณะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 212 ว่า การที่นายสุนัย จุลพงศธร กับพวก 416 คนดำเนินการจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการกระทำล้มล้างการปกครองหรือไม่ แม้ว่าก่อนหน้าที่ศาลจะมีคำสั่งให้คู่กรณียื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว แต่เนื่องจากศาลได้มีคำวินิจฉัยยกคำร้องในประเด็นเดียวกันนี้ตามคำร้องทั้ง 5 คำร้องแล้วว่าไม่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ และพบว่าไม่มีข้อเท็จจริงอื่นนอกเหนือจากใน 5 คำร้อง การพิจารณาคดีนี้ต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดี จึงมีคำสั่งให้จำหน่าย 2 คำร้องดังกล่าว

คณะตุลาการฯ ยังมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยรวม 4 คำร้อง โดย 1.เป็นกรณีที่นายเรืองไกร ขอถอนคำร้องที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า กกต.และผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึง 6 พรรคการเมือง สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 จึงอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ เนื่องจากศาลฯ ได้มีคำวินิจฉัยยกคำร้องในประเด็นที่มีการ้องไปแล้ว 2.กรณี จสต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 213 เพื่อเพิกถอนการลงมติรับคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ของ 7 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

3.กรณีที่นายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ และคณะ และ 4.กรณี นายวานิช พาชารี ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยกเลิกการกระทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพิกถอนการพิจารณาคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครอง และคำสั่งที่ให้รัฐสภาชะลอการลงมติวาระ 3 รวมทั้งเพิกถอนการพิจารณาและคำวินิจฉัยที่ให้ยกคำร้อง เนื่องศาลฯเห็นว่าคำร้องของ จสต.ประสิทธิ์ นายหนึ่งดิน และนายวานิช เป็นการขอให้วินิจฉัยโดยผู้ถูกร้องเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียเอง หากศาลพิจารณาวินิจฉัยก็จะขัดต่อหลักยุติธรรมที่ห้ามบุคคลเป็นผู้วินิจฉัยคดีของตนเอง รวมทั้งหลักความเป็นกลางในการพิจารณาคดี ซึ่งเป็นเหตุในการคัดค้านตุลาการ เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องในคำร้องนี้โดยตรง จึงไม่คำสั่งไม่รับคำร้อง

**จี้ เลขาศาลฯ เร่งเผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง

นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงคำวินิจฉัยกลางว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนได้ตรวจดูคำวินิจฉัยกลางเรียบร้อยแล้ว และได้เซ็นชื่อลงนามกันแล้วทุกคน โดยเนื้อหาไม่มีส่วนใดเปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้อ่านเมื่อวันที่ 13 ก.ค. และเดิมคิดว่าวันนี้สำนักงานฯ น่าจะเผยแพร่ได้ แต่เมื่อทราบว่า ทางสำนักงานฯ ยังไม่ได้เผยแพร่ จึงได้ตรวจสอบไปยังนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ทราบว่า ยังอยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ และตรวจดูคำผิดเท่านั้น ก็ได้ย้ำกับเลขาธิการฯ ไปว่าหากวันนี้ (26ก.ค.) เสร็จ ก็สามารถแจกได้ และหากคู่กรณีจะมาขอคัดคำวินิจฉัยกลางก็ให้ดำเนินการได้เลย

**พท.รออคำวินิจฉัยกลางก่อน

นายภูมิธรรม เวชชยชัย ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ต้องรอคำวินิจฉัยที่เป็นลายลักษณ์อักษรออกมาก่อนถึงจะสามารถตีความได้ โดยหลังการประกาศของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ก็จะมีการหารือกับทีมกฏหมาย คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการยุทธศาตร์พรรค ในระหว่างการสัมมนาพรรคเพื่อไทย 28-29 ก.ค. ที่ จ.ชลบุรี ซึ่งคาดว่าจะได้ความชัดเจนในส่วนของพรรค และจะนำมติพรรคเพื่อไทยเข้าหารือกับพรรคร่วมในวันที่ 31 ก.ค.ต่อไป

ทั้งนี้ เชื่อว่า ก่อนเปิดสมัยประชุมสภาก็จะได้แนวทางที่ชัดเจนในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลออกมาแน่นอน โดยยังยืนยันข้อเสนอเดิมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยการตั้ง ส.ส.ร. แต่ทั้งหมดก็ต้องรอคำวินิจฉัยกลางอีกครั้ง เพราะมีความสำคัญ และบางเรื่องอาจมีผลผูกพันกับพรรคเพื่อไทย รวมทั้งอาจมีผลกระทบตามมาในอนาคตได้

**รับฟัง"เสนาะ"เสนอแก้รายมาตรา

ส่วนการที่นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ออกมาระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรานั้น นายภูมิธรรม เห็นว่า พรรคเพื่อไทยรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะจากบุคคลสำคัญ อาทิ คณะนิติราษฎร์ และประชาชน แต่ก็ต้องนำมาไต่ตรองและวิเคราะห์บนจุดยืนของพรรคที่เป็นประชาธิปไตยและต้องไม่เกิดความขัดแย้ง เพราะความต้องการของพ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการให้ประเทศเดินหน้า เกิดความปรองดองและมีความเป็นประชาธิปไตย

**"เหลิม"ยัน 5 แนวทางทำได้แน่

ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะ 5 แนวทางว่า ในวันที่ 28 ก.ค.นี้ จะนำไปหารือในการสัมมนาของพรรคเพื่อไทย แต่ยอมรับว่าลำบาก เพราะพรรคใหญ่ มีแต่คนเก่ง แต่ตนก็ไม่เคยน้อยอกน้อยใจเวลาที่เขาไม่เชื่อ

ส่วน 5 แนวทางที่ว่าจะมีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวทันทีว่า ง่ายที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่สังคมได้ประโยชน์ แล้วใครจะมาคัดค้าน ยกตัวอย่างศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองก็ยังมีอยู่ แต่ไปรวมอยู่ที่ศาลฎีกา ส่วนงานที่ศาลทำมาก่อนหน้านี้ก็ใช้บทเฉพาะกาลกำหนดหน้าที่ต่อไป สิ่งที่ตนเสนอขึ้นมา ผ่านการคิดและหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้ว ไม่ใช่ให้สัมภาษณ์แบบนึกสนุก

“แล้วแต่ว่าพรรคจะเอาไหม ทั้ง 5 แนวทางทำได้แน่นอน เพียงแต่อย่าไปทำอะไรที่มันคลุมเครือ อย่างยึดหลักกฎหมายอย่างเดียว ต้องเอาความรู้สึกสังคม และเด็กมีเส้น กลุ่มคนที่ไม่อยากให้เราอยู่ นำมาผสมผสาน มันถึงจะไปได้” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

ส่วนได้รับความเห็นชอบจาก พ.ต.ท.ทักษิณหรือยัง ร.ต.อ.เฉลิม ตอบพร้อมหัวเราะว่า ไม่ทราบ เพราะผมไม่ได้ไปพบ ไปกินโจ๊กเป๋าฮื้ออร่อย เลยไม่ได้ไปไหนเลย

**เสื้อแดงหารือแก้รายมาตราหรือไม่

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวถึงข่าวที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อยากให้มีการแก้ไขเป็นรายมาตราว่า คนเสื้อแดงยืนยันว่าจะรอคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญก่อน หลังจากนั้นจะมีการหารือกัน และนำข้อสรุปจากพี่น้องคนเสื้อแดงไปแจ้งให้พรรคเพื่อไทยทราบ พร้อมเหตุผลประกอบ ไม่ว่าจะแตกต่างกันอย่างไร สุดท้ายก็ควรจะได้มติที่เป็นเอกภาพ เพื่อที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า

**จับพิรุธรับงานกำจัดเสี้ยนหนาม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลควรตัดสินใจให้เด็ดขาด เพื่อที่จะให้บ้านเมืองเกิดบรรยากาศที่ดี และหันหน้ามาปรึกษาหรือตั้งหลักกันเสียใหม่ว่าจะเดินหน้าในเรื่องนี้อย่างไร ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยกับแนวคิดของประธานรัฐสภาว่าไม่ควรจะเดินหน้าลงมติวาระ 3 ต่อไป ดังนั้น อย่าไปสร้างความระแวงให้เกิดขึ้นเลย

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นกรู้ อย่างร.ต.อ.เฉลิม ถ้าไม่มีสายตรงจากนายใหญ่ คงไม่กล้าออกมาพูด เพราะอาจถูกปลดได้ ซึ่งตนเห็นว่าใน 5 ประเด็นนั้น มีส่วนที่น่าสนใจ คือ 1.การเสนอยกเลิกผู้ตรวจการแผ่นดิน ตนเชื่อว่าเรื่องนี้มีเบื้องหน้า เบื้องหลัง เพราะที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการแต่งตั้งรัฐมนตรี
2.การควบรวมศาล ให้เป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา ซึ่งหมายถึงการยุบศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง เพราะเริ่มเห็นได้ว่าเป็นอุปสรรค และเป็นเสี้ยนหนามในการปกครองของรัฐบาลชุดนี้

นอกจากนั้น ยังมีการเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่แค่จัดการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ไม่ต้องมี กกต. ก็ได้ เพราะการจัดการเลือกตั้ง สามารถโอนให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการได้ และในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่บอกว่าต้องมาจากการคัดเลือกของรัฐสภา ซึ่งจะทำให้ป.ป.ช. ไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริง และผิดเจตนารมณ์ของการตรวจสอบถ่วงดุลตามรัฐธรรมนูญ

**ถาม“เหลิม”ยุบองค์กรผู้ตรวจเหตุใด

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีร.ต.อ.เฉลิม เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้มีการยุบองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ต้องถามคนที่พูดว่าจะยุบ มีเหตุผลอะไร เข้าใจปรัชญาของการก่อตั้งองค์กรหรือไม่ โดยหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัตินั้น ให้ผู้ตรวจฯ เข้าไปตรวจสอบกรณีข้าราชการ หรือพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งยืนยันว่าการพิจารณาตรวจสอบของผู้ตรวจฯ ในเรื่องต่างๆ ไม่ได้ดูว่าผู้ร้องหรือผู้ถูกร้องเป็นใคร เป็นฝ่ายไหน และจากการทำงานที่ผ่านมา คิดว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายบัญญัติ ข้อมูลสถิติก็ชัดเจนว่าประชาชนได้รับการแก้ไขปัญหา จากการมาขอให้ผู้ตรวจฯ ช่วยดำเนินการ

เมื่อถามว่า อาจเป็นเพราะการวินิจฉัยของผู้ตรวจที่ผ่านมา เป็นโทษกับรัฐบาล นายรักษเกชา กล่าวว่า ผู้ตรวจฯ วินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ซึ่งหากผู้ถูกร้องไม่เห็นด้วย ตามกระบวนการก็เปิดโอกาสให้โต้แย้งได้อยู่แล้ว และหลายครั้งที่ผู้ตรวจฯ มีคำวินิจฉัยออกไป ผู้ถูกร้องก็ไม่ได้ออกมาตอบโต้อะไร

**“สดศรี”ไม่ขัดลดอำนาจ กกต.

นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงข้อเสนอที่จะลดอำนาจให้กกต.มีหน้าที่เพียงจัดการเลือกตั้งว่า เรื่องดังกล่าวมีการเสนอกันในที่ประชุมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ปี 2550 แล้วว่าควรจะตั้งศาลแผนกคดีเลือกตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาความผิดของผู้ที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งแทน กกต. แต่ก็มีการค้านว่าหากให้กกต. มีอำนาจเพียงแค่จัดการเลือกตั้ง ก็จะเหมือนกรรมการในสนามฟุตบอลที่เห็นว่ามีการล้ำหน้า หรือการฟาวล์เกิดขึ้น ก็ไม่สามารถเป่านกหวีดได้ ซึ่งหากเป็นการเลือกตั้งจริง กกต.ที่เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง เห็นว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งก็ต้องไปแจ้งความต่อตำรวจ ผ่านอัยการแล้วจึงจะไปถึงศาล ก็จะทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้าได้ เป็นคำถามว่าจะทันต่อสถานการณ์หรือไม่ ลักษณะนี้จะเหมือนกับการจัดการเลือกตั้งในสมัยที่กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ

“ส่วนตัวไม่ได้ต่อต้านการลดอำนาจของ กกต. เพราะหากเป็นเช่นนั้น กกต.ก็จะไม่อยู่ในสถานที่ต้องรับผิด หรือการร้องเรียนใดๆ อีก หน้าที่ก็ลดลง ทำหน้าที่เพียงจัดการเลือกตั้ง ไม่ต้องให้ใบเหลือง หรือใบแดงใคร ไม่ต้องทำสำนวนส่งฟ้อง ก็ถือเป็นเรื่องดี เชื่อว่ากกต. ทุกคนไม่มีใครยึดติดกับอำนาจ ไม่ได้ต้องการอำนาจให้ใบเหลืองใบแดงใครอยู่แล้ว โดยลักษณะของ กกต.ที่มีหน้าที่เพียงจัดการเลือกตั้งจะเหมือนกับ กกต. ของประเทศมาเลเซีย”นางสดศรีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น