xs
xsm
sm
md
lg

กกต.แจงประชามติ ใช้เสียงข้างมากผู้มีสิทธิ และเกินกึ่งหนึ่ง “สดศรี” แนะแก้รายมาตรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคเมืองและการออกเสียงประชามติ(แฟ้มภาพ)
กกต. เผยข้อมูลเลือกตั้ง 54 มีผู้ใช้สิทธิ 35,220,208 คน จากทั้งหมด 46,939,549 คน ภาคกลางแยะสุด ส่วนภาคใต้น้อยสุด พร้อมแจง “ยุทธพงศ์” หลังให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน ชี้ประชามติต้องให้ข้อมูล ปชช. ทั้งเห็นชอบ และไม่เห็นชอบ ยก ม.165 ไม่ระบุวิธีดำเนินการ ต้องใช้ พ.ร.บ.ประกอบ ม.9 ที่ให้ใช้เสียงข้างมากผู้มีสิทธิ และเกินกึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิ ด้าน “สดศรี” ปัดกกต. ถกเรื่องประชามติ แต่แนะแก้ รธน.รายมาตราดีกว่า

วันนี้ (17 ก.ค.) รายงานข่าวจาก กกต.แจ้งว่า สำหรับข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ กกต.ใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.54 ที่ผ่านมา มีจำนวน 46,939,549 คน และมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 35,220,208 คน หากแยกจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นรายภาคนั้น ภาคกลาง มีผู้มีสิทธิจำนวนทั้งสิน 16,336,685 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 12,372,430 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 15,809,833 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 11,458,596 คน ภาคเหนือมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 8,552,633 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 6,598,881 คน และภาคใต้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 6,240,398 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 4,790,301 คน แต่ทั้งหมดนี้ จะมาเทียบเคียงกับการทำประชามติไม่ได้ ถ้าเราจะใช้ก็จะนำแค่ยอดของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 46,939,549 คน ซึ่งถ้าจะเพิ่ม หรือลดก็ไม่น่าจะต่างไปจากนี้มากนัก

แหล่งข่าวจาก กกต.เปิดเผยว่า สำหรับกรณีที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ไปทำประชามติหากจะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น เมื่อพิจารณาดูรัฐธรรมนูญมาตรา 165 เกี่ยวกับการทำประชามติ แล้วแทบจะเป็นไปไม่ได้ในข้อเท็จจริง เพราะมีการกำหนดว่า การออกเสียงประชามติจะต้องได้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง แต่ไม่ใช่เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ ซึ่งขณะนี้ประชากรไทยที่มีสิทธิเลือกตั้ง และออกเสียงประชามติมีอยู่ 42 ล้านเสียง ดังนั้น เสียงข้างมากจะต้องได้เดิน 21 ล้านเสียง ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยนั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน

และตามข้อเท็จจริง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ระบุไว้เพียงว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติการจัดให้มีการออกเสียงประชามติให้กระทำได้ในเหตุดังต่อไปนี้ (1) ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่า กิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติ หรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้ (2) ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ออกเสียงประชามติ การออกเสียงประชามติ (1) หรือ (2) อาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติในปัญหาที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ หรือเป็นการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ

การออกเสียงประชามติต้องเป็นการให้ออกเสียงเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบในกิจการตามที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับตัวบุคคล หรือคณะบุคคลจะกระทำมิได้ ก่อนการออกเสียงประชามติ รัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ และให้บุคคลฝ่ายที่เห็นชอบ และไม่เห็นชอบกับกิจการนั้นมีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเท่าเทียมกัน หลักเกณฑ์ และวีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการออกเสียงประชามติ ระยะเวลาในการดำเนินการ และจำนวนเสียงประชามติเพื่อมีข้อยุติ

ดังนั้น หากจะทำประชามติในมาตรา 165 ไม่ได้ระบุวิธีการในการดำเนินการไว้ จึงต้องไปดูในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการจัดการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 มาตรา 9 ระบุว่า การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคเมือง และการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า การจัดทำประชามติจะต้องดำเนินการตามมาตร่ 165 ประกอบมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ วรรคหนึ่ง ซึ่ง ครม.จะต้องเป็นผู้กำหนดว่าจะให้มีการออกเสียงประชามติเรื่องใด หากให้ทำประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เห็นชอบให้ต้องการแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่เห็นชอบนั้น ประชาชนจะต้องออกมาใช้สิทธิเกินครึ่ง และต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง เช่นขณะนี้ มีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งสิ้นจำนวน 40 คน ก็ต้องมีคนมาใช้สิทธิมากกว่าครึ่ง คือ 21 คน (เสียงข้างมาก) และต้องมีเสียงที่เห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของ 20 ล้านเสียงคือ ก็ต้องได้ 11 ล้านเสียง ซึ่งต้องคิด 2 ครั้ง ถ้าครั้งแรกไม่ได้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงก็เป็นอันต้องตกไป

นางสดศรี กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กกต.ไม่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ ครม.จะต้องตัดสินใจว่าจะให้ กกต.เป็นผู้ดำเนินการจัดทำประชามติหรือไม่ ถ้าให้ทำ ครม.ก็ต้องเป็นผู้ดำเนินการให้มีพระราชกฤษฎีกาออกมา เราก็ดำเนินการได้ทันที เราก็รอฟังอยู่ว่าเขาจะดำเนินการกันอย่างไร

เมื่อถามว่า มีคนมองว่าผู้ร่างกฎหมายปี 50 นั้นมีการหมกเม็ดไว้ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยาก มีการล็อกไว้ เมื่อดูตามคำวินิจฉัยศาลแล้ว นางสดศรี กล่าวว่า ต้องไปถามเสียงข้างมากตนเป็นเสียงข้างน้อย แต่รัฐธรรมนูญ 50 นั้นระบุไว้ในมาตรา 291 ว่า หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้โดยสภา เหมือนอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำมาแล้ว เช่น การกำหนดเขตเดียวเบอร์เดียว ซึ่งใช้เวลาไม่กี่เดือน 2-3 เดือนก็เสร็จแล้ว ดังนั้น ตนเห็นว่า หากแก้รัฐธรรมนูญแบบรายมาตราเหมือนอย่างที่ผ่านมา ไม่ต้องไปทำประชามติก็คิดว่าจะเร็วกว่า และน่าจะดีกว่าไปทำประชามติ และไม่ต้องเปลืองเงินด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น