xs
xsm
sm
md
lg

“อุดมเดช” คาดถกแก้ รธน.วาระ 2 เสร็จอีก 2 สัปดาห์ “สามารถ” ยันร่างฯ เสร็จทัน 240 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสามารถ แก้วมีชัย ประธาน กมธ.แก้ รธน.(แฟ้มภาพ)
ประธานวิปรัฐบาล เผยหลังถกวิป 3 ฝ่าย คาดถกแก้รัฐธรรมนูญวาระ 2 เสร็จอีก 2 สัปดาห์หน้า ด้าน ประธาน กมธ.วิสามัญ แก้ รธน. ยันร่าง กม.เสร็จทัน 240 วัน ยันถ้ายุบสภา ส.ส.ร.ก็ยังอยู่ กระบวนการเดินหน้าต่อ ย้ำ 3 กรอบห้ามแตะเว้นศาล องค์กรอิสระ อ้างไม่เหมารวมเหตุชาวบ้านจับตาคงไม่มีใครกล้าทำ

วันนี้ (3 พ.ค.) ที่รัฐสภา นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมวิป 3 ฝ่ายเพื่อหารือถึงกรอบระยะในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 2 ว่า ในการประชุมวันนี้ทางวิปฝ่ายค้านได้เสนอให้มีการเลิกประชุมเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยวันนี้จะเลิกเวลา 18.00 น. โดยประมาณ เพื่อให้ ส.ส. และ ส.ว. ได้มีโอกาสลงพื้นที่พบปะประชาชน อีกทั้งในการประชุมวิปฝ่ายค้านยังมีความเห็นว่า ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญควรจะให้สิทธิแก่ผู้ขอสงวนคำแปรญัตติได้ใช้สิทธิอย่างเต็มที่ โดยฝ่ายค้านก็จะดูในเรื่องของการอภิปรายให้มีความกระชับขึ้น

นายอุดมเดชกล่าวว่า ส่วนการประชุมก็จะมีอีกครั้งในวันที่ 8 พ.ค. โดยจะพิจารณาต่อในมาตรา 291/11 และ 291/12 ให้เสร็จ จากนั้นค่อยมาพิจารณาในมาตราอื่นต่อไป ทั้งนี้ยังคงเหลือมาตราสำคัญอยู่อีก 1 มาตรา คือ มาตรา 291/13 โดยในร่างเดิมของคณะกรรมาธิการได้ระบุไว้ว่า เมื่อ ส.ส.ร.ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วให้เสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมิได้มีลักษณะตามมาตรา 291/11 วรรค 5 ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ผิดให้ส่งต่อไปยัง กกต. ต่อไป แต่ถ้าทางด้านฝ่ายค้านได้มีการขอสงวนคำแปรญัตติว่าเมื่อ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งร่างดังกล่าวไปยัง กกต. เพื่อให้ดำเนินการจัดการให้มีการออกเสียงประชามติของประชาชนว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 2 หากเป็นไปตามวิปทั้ง 3 ฝ่าย ได้มีการพูดคุยกันไว้นั้น ในวันที่ 10 พ.ค.ก็น่าจะมีการพิจารณามาตรา 291/13 เสร็จสิ้น และพิจารณาในมาตราที่เหลือทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในสัปดาห์ถัดไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ดุลพินิจของผู้ขอสงวนคำแปรญัตติ

ด้าน นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการ ชี้แจงในที่ประชุมรัฐสภาว่า การกำนดเงื่อนไขการจัดทำร่าง รธน.ของ ส.ส.ร.ในเวลา 240 วันนั้น สามารถทำได้ทันตามกำหนด เพราะตนเคยร่วมจัดท่างรัฐธรรมนูญปี 40 ก็กำหนดระยะเวลา 240 วันเช่นกัน แต่ก็สามารถทำได้เสร็จทันก่อนกำหนดด้วยซ้ำ ส่วนวรรคสองแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญ เราสามารถนำทุกฉบับที่มีความเป็นประชาธิปไตยมาเป็นต้นแบบยกร่างได้ หรือแม้แต่ของต่างประเทศ ถ้านำมาปรับใช้ในประเทศเราให้ดีขึ้นก็สามารถทำได้ ส่วนวรรคสามขณะที่ ส.ส.ร. กำลังทำงานถ้าสภาถูกยุบจะไม่เป็นผลกระทบ ส.ส.ร.ต้องถูกยุบไปด้วย เพราะหลังจากรัฐธรรมนูญมีการประกาศใช้ก็จะมีผลบังคับตามกฎหมายสูงสุด อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีความชอบธรรมที่คงอยู่ต่อไป ไม่จำเป็นต้องยุบไปตามรัฐสภาที่เป็นผู้จัดตั้งขึ้นมาเหมือนเช่นกรณี ส.ส.ร.ชุดก่อนๆ

นายสามารถกล่าวต่อว่า ส่วนการจัดให้มีการรับฟังความเห็นทุกภูมิภาค โดยไม่ได้กำหนดว่าต้องจัดให้มีทุกจังหวัดนั้น เพราะการไปล๊อกทุกจังหวัด จะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ และ ส.ส.ร.ก็มีกรรมาธิการสามัญประจำแต่ละจังหวัดเพื่อดำเนินการเปิดรับฟังความเห็นอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับปัจจัย งบประมาณ และบุคลากรของแต่ละพื้นที่

ส่วน วรรคห้า คณะกรรมาธิการได้วางกรอบการเขียนรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.ไว้ 3 หลักใหญ่ คือ1. ห้ามไปมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2. ห้ามเปลี่ยนรูปแบบของรัฐ โดยประเทศไทยเป็นรัฐเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้ และ 3. เป็นการตกผลึกทางความคิดของสาธารณะชนทั่วประเทศที่เห็นพ้องต้องกันเพื่อไม่ให้ ส.ส.ร.แตะหมวดกษัตริย์ เลยเพิ่มเติมว่า ....หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ ส่วนที่ไม่เขียนห้ามเรื่องศาลและองค์กรอิสระนั้น หากองค์กรใดที่เป็นประโยชน์ อำนวยความยุติธรรม ทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ ตนมั่นใจว่าไม่ต้องเขียนไว้ก็ไม่มีใครอยากยกเลิกแน่นอน เพราะการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.ทำท่ามกลางสายตาของสาธารณชน การตรวจสอบของสื่อ และเสียงวิจารณ์ของสังคม การเขียนอะไรที่กระทบต่อสถาบัน องค์รกอิสระที่มีประสิทธิภาพนั้นคงไม่ทำกัน หรือถ้าทำแบบนั้นก็ยังมีการจัดให้ทำประชาพิจารณ์ ซึ่งอาจจะไม่ผ่านในขั้นตอนนั้นก็ได้ กรรมาธิการเสียงข้างมากจึงเห็นควรให้กำหนดเฉพาะ 3 เรื่องใหญ่ๆ นี้เท่านั้น

ส่วนกรณีการให้รัฐสภาเป็นผู้วินิจัยร่างรัฐธรรมนูญนั้น เราไม่มีแนวปฏิบัติที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเป็นร่างกฎหมายทั่วไป หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ผ่านรัฐสภาไปแล้ว สมาชิกมีสิทธิร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้

“เราเป็นคนกำหนดกรอบ 3 เรื่องที่ห้าม ส.ส.ร.ไปแตะ ฉะนั้นเราทราบเจตนารมณ์ดีว่าเพื่ออะไร การให้รัฐสภาเป็นผู้มาวินิจฉัยจะเป็นประโยชน์มากกว่าให้องค์กรอื่นวินิจฉัย พวกเรา 600 กว่าคน สามารถวินิจฉัยประเด็นที่เราเขียนเองได้ดีกว่าองค์กรอื่น ผมคิดว่าถูกต้องสมบูรณ์แล้ว เชื่อว่าในทางปฏิบัติจะไม่มีปัญหา” นายสามารถกล่าวย้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น