กมธ.เสียงข้างน้อย รุมค้านมอบอำนาจให้ ปธ.สภาวางกรอบสรรหา 22 อรหันต์ ตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส.ร. หวั่นกินรวบหาช่องดึงพวกร่วมวงเขียน รธน.ใหม่ ด้าน ”พิชิต” อ้าง ปธ.สภาเป็นแค่บุรุษไปรษณีย์ เชื่อไว้ใจได้
วันนี้ (25 เม.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งเป็นการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... ต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 8 โดยเป็นการพิจารณาต่อในมาตรา 291/6 เรื่องให้รัฐสภาดำเนินการคัดเลือก ส.ส.ร. ตามมาตรา 291/1 (2) ให้แล้วเสร็จภายใน 75 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกา หรือตามมาตรา 291/5 มีผลใช้บังคับ รวมทั้งให้สภาของสถาบันอุดมศึกษา องค์กรภาคเศรษฐกิจ สังคม และองค์กรภาคเอกชน แต่ละแห่งคัดเลือกบุคคล ซึ่งมีคุณสมบัติที่จะเป็น ส.ส.ร.ตามมาตรา 291/1 (2) ในประเภทต่างๆ ตามมาตรา 291/1 (2) (ก) (ข) และ (ค) ประเภทละไม่เกิน 2 คน โดยจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อของแต่ละประเภท พร้อมทั้งรายละเอียดตามที่ประธานรัฐสภากำหนด
ทั้งนี้ การอภิปรายของ กมธ.เสียงข้างน้อยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขของ กมธ.เสียงข้างมากที่เขียนให้อำนาจประธานรัฐสภาดำเนินการในทุกกระบวนการ เพราะถือเป็นการรวบอำนาจทุกอย่างไว้ที่คนคนเดียว เช่น การจัดทำบัญชีรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.แต่ละประเภท ให้อำนาจประธานรัฐสภาแต่งตั้งคณะกรรมการ 15 คน เพื่อดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเป็น ส.ส.ร. กรณีการเลือก ส.ส.ร.ที่มีคะแนนเท่ากันให้ประธานรัฐสภาทำการจับสลากว่าผู้ใดได้รับการคัดเลือก รวมทั้งกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสมัครรับการคัดเลือกและการคัดเลือก ส.ส.ร. ให้ประธานรัฐสภากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว
โดย นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย สงวนคำแปรญัตติเสนอให้ตัดมาตรา 291/6 ออกทั้งมาตราว่า การกำหนดให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการในเกือบทุกกระบวนการ ถ้าเขียนกฎหมายออกไปอย่างนี้ทำให้ประธานรัฐสภากินรวบทุกอย่าง อำนาจเบ็ดเสร็ดทุกอย่างจะอยู่ที่ประธานรัฐสภาคนเดียว ซึ่งจะส่งผลให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลายเป็นฉบับกินรวบด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เราไม่สามารถเอาประเทศทั้งประเทศไปไว้กับคนคนเดียวได้ ซึ่งการให้อำนาจประธานสภากำหนดกรอบการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้เป็น ส.ส.ร. ซึ่งต้องคัดเลือกมาทั้งหมด 22 คน
นายนิพนธ์กล่าวต่อว่า ตนอยากเสนอให้แค่สภาสถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้คัดเลือกแต่เพียงผู้เดียว เพราะเราไม่สามารถแยกแยะได้ว่าองค์กรใดจะเป็นตัวแทนของผู้เชี่ยวชาญด้านใด มันไม่มีความชัดเจนที่สุดจะส่งผลให้มีการฟ้องร้องกันมากมาย นอกจากนี้ การให้ประธานรัฐสภาจัดทำบัญชีรายชื่อของผู้ที่จะได้รับคัดเลือกเป็น
ส.ส.ร.แต่ละประเภท แล้วให้ที่ประชุมรัฐสภาเป็นผู้เลือก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเสียงข้างมากของพวกท่านเลือกอีกชั้นหนึ่ง สุดท้ายก็กลายเป็นการกินรวบอยู่ดี
“ปัจจุบันเขาไม่ยุทธกันด้วยอาวุธปืนแล้ว แต่ใช้คน 22 คนที่เสียงข้างมากของพวกท่านเลือกเข้ามา ไปเขียนกติกาของประเทศแล้วเอา 77 คนมายกมือสร้างความถูกต้อง นี่คือความหวาดระแวงของสังคมในการเขียนกติกาของประเทศ นี่คือหัวใจของการยึดอำนาจของประเทศนี้ เขียนรัฐธรรมนูญที่จะมีโครงสร้างประเทศอย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องใช้กระบอกปืนและรถถัง เอาคนของตัวเองมาเขียนอะไรก็ได้ตามที่ตัวเองต้องการ” นายนิพนธ์กล่าว
นายพิชิต ชื่นบาน ในฐานะคณะกรรมธิการเสียงข้างมาก ชี้แจงว่า การทำหน้าที่ของสภาสถาบันการศึกษาในการเป็นผู้คัดเลือกตัวบุคคลที่จะได้รับคัดเลือกเป็น ส.ส.ร.นั้น เปรียบเหมือนทำงานเป็นตัวกรอง ที่คัดกรองมาให้กับประธานรัฐสภา ที่จะทำหน้าที่เป็นคณะบุคคล ไม่ใช่แค่ตัวบุคคล ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าประธานรัฐสภาจะสามารถคัดเลือกคณะบุคคลให้เป็นที่ไว้วางใจได้ ทั้งนี้ การทำหน้าที่ของประธานรัฐสภาเปรียบเหมือนบุรุษไปรษณีย์ที่จะส่งต่อให้ที่ประชุมรัฐสภาคัดเลือกอีกชั้นหนึ่ง ส่วนข้อกังวลว่าจะเป็นการบล็อกโหวตนั้น คงเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าบทบาทของประธานรัฐสภาที่ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่บุรุษไปรษณีย์ไม่ได้มีอะไรให้สมาชิกต้องกังวลใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการอภิปรายยังคงเป็นไปอย่างกว้างขวาง สมาชิกที่ขอสงวนคำแปรญัตติส่วนใหญ่ที่ลุกขึ้นอภิปรายเป็น ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ โดยยังคงท้วงติงประเด็นที่มอบอำนาจให้ประธานรัฐสภามีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือก ส.ส.ร.สรรหาทั้ง 22 คน รวมทั้งการเสนอให้สถาบันการศึกษาเป็นผู้เสนอรายชื่อผู้ที่จะคัดเลือกเป็น ส.ส.ร.เพียงอย่างเดียว โดยไม่จำเป็นต้องมีองค์กรเฉพาะด้านอย่าง ภาคเอกชน เศรษฐกิจ เสนอรายชื่อเข้ามา เพราะเกรงว่าจะมีคดีความการฟ้องร้องในภายหลัง เนื่องจากไม่สามารถแยกแยะได้ชัดเจนว่าองค์กรใดมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านใด อีกทั้งยังไม่สามารถให้ความไว้วางใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ได้ เพราะมีกระแสวิจารณ์หนักถึงความไม่เป็นกลางต่อการปฏิบัติหน้าที่ในสภา ดังนั้นอาจจะส่งผลต่อการได้มาของ ส.ส.ร. ทั้ง 22 คนได้
นพ.สุกิจ หัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรรมาธิการทำเหมือนเป็นผู้รับเหมาเขียนสเปกเสียเองให้ประธานสภามีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการให้สภาเลือก ส.ส.ร. 22 คน เรากังวลและกลัวมากที่สุดเพราะคนที่จะมอบหมายให้นั้นเป็นบุคคลที่ตลอดเวลาที่ผมร่วมประชุมด้วย เป็นความรู้สึกจากใจ พูดแบบลูกผู้ชายตรงไปตรงมา ทุกครั้งที่ปฏิบัติหน้าที่หลายครั้งได้สร้างความเคลือบแคลงน่าสงสัยในความเป็นกลางอย่างมาก จึงไม่อาจไว้วางใจให้มาทำหน้าที่นี้ได้”
จนกระทั่งเวลา 16.52 น. นายธรนิตพล ไชยนันทน์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) หารือกับที่ประชุมว่า หากปล่อยให้การอภิปรายเป็นไปอย่างนี้เรื่อยๆ สภาจะไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ หากประธานไม่ยอมให้มีการหารือกันของวิป 3 ฝ่าย และตัวแทน กมธ.เสียงข้างมาก เหมือนกับที่มีการไปตกลงหารือกันในมาตรา 291/5 ซึ่งทำให้การประชุมเป็นไปได้ด้วยดี ดังนั้น จึงอยากให้ประธานสั่งพักการประชุม เพื่อให้ทั้ง 4 ฝ่ายได้ไปหารือกันในมาตรา 291/6 จากนั้นพล.อ.ธีรเดชทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม จึงสั่งพักการประชุมเป็นเวลา 30 นาที