xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.เสียงข้างน้อยโวยถูกปล้นมติ 291/1 ขัดประเพณีปฏิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สามารถ แก้วมีชัย
ที่ประชุม กมธ.แก้ รธน.ป่วน กมธ.ฝ่ายค้าน วอล์กเอาต์สองรอบ โวยโดนปล้นมติ ขัดประเพณีปฏิบัติ หลัง กมธ.เสียงข้างมาก แก้เกมย้อนพิจารณาหลักการรื้อมติ ม.291/1 ยืนตามร่าง รบ.ที่มา ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งโดยตรง-เลือกโดยรัฐสภา

วันนี้ (29 มี.ค.) การประชุมคณกรรมาธิการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยมี นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมาธิการทำหน้าที่ประธานการประชุม ที่ประชุมพิจารณามาตรา 291/1 ที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ต่อจากเมื่อวานนี้ (28มี.ค.) ซึ่งค้างอยู่ที่การลงมติร่างแก้ไขของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่เสนอมามาของ ส.ส.ร.ด้วยการเลือกตั้งตรงจากประชาชน 9 ร่าง โดยเมื่อเริ่มประชุมประธานได้เสนอให้นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคชาติไทยพัฒนา และร่างของพรรคเพื่อไทยเข้ามาพิจารณาด้วย เพราะถือว่าเป็นร่างที่รัฐสภาได้รับหลักการไว้แล้วควรนำมาพิจารณาได้อีก

ด้านกรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้คัดค้าน โดยอ้างว่า ประเพณีปฏิบัติเมื่อยืนยันกับสภาฯแล้วว่า จะใช้ร่างได้เป็นหลักในการพิจารณาเมื่อที่ประชุมกรรมาธิการมีมติไม่ยืนยันตามร่างของรัฐบาลถือว่าร่างนั้นตกไปแล้ว ควรพิจารณาร่างที่ยืนยันไว้ ที่มาของ ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้งตรงทั้งหมดตามที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้เสนอไว้แล้ว ขณะที่กรรมาธิการฝั่งรัฐบาล ยืนยันว่า ร่างกฎหมายที่ได้รับหลักการจากที่ประชุมสภาฯมาแล้ว ถือว่า สามารถนำมาพิจารณาได้ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาร่างของพรรคเพื่อไทย และพรรคชาติไทยพัฒนาแล้ว ไม่ได้มีเนื้อหาสาระเหมือนกับร่างของรัฐบาล ในเมื่อที่ประชุมจะพิจารณาร่างที่มีความแตกต่างกันของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยก็น่า จะนำร่างที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งได้ผ่านการรับหลักการมาแล้วมาพิจารณาด้วยได้

อย่างไรก็ดี กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ยังคงยืนยันว่า การพิจารณาร่างของรัฐบาลได้ผ่านไปแล้วควรเดินต่อไป ด้วยการพิจารณาร่างที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อย เสนอไว้ทั้ง 9 ร่างจริงอยู่วิธีที่ประธานเสนอไม่ได้มีข้อบังคับการประชุมห้ามไว้ แต่หากทำต่อไปบรรยากาศการประชุมอาจเกิดความขัดแย้งขึ้นอีก พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมจะให้ความร่วมมือเมื่อวิธีการใด จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับก็ควรดำเนินการต่อไป

จากนั้น กรรมาธิการถกเถียงกันกว่า 2 ชั่วโมง ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ในที่สุดประธานได้ขอมติว่า จะให้นำร่างของพรรคเพื่อไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา มาลงมติกับร่างของกรรมาธิการเสียงข้างน้อย และ ส.ว.เสนอ 9 แนวทางหรือไม่ ขณะนั้นกรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการนำร่างมาพิจารณาได้วอล์กเอาต์จากห้องประชุมทั้งหมดแล้วลงไปแถลงข่าวว่า ประธานกรรมาธิการพยายามเปลี่ยนมติ ด้วยการนำร่างที่ไม่ได้ถือเป็นร่างหลักในการพิจารณามาลงมติ

อย่างไรก็ดี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ท้วงติงประธานว่า ควรพักการประชุมไว้ก่อน แล้วไปพูดคุยกับกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ว่า ไม่เห็นด้วยกับการนำร่างมาลงมติ หากประธานเดินหน้าลงมติต่อไปจะครอบคลุมร่างทั้ง 9 แนวทางของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยเสนอไว้โดยที่ผู้เสนอ ไม่อยู่ด้วยให้ห้องประชุมอาจจะผิดข้อบังคับ โดยหลังจากหารือกันเป็นเวลาพอสมควร กรรมาธิการฝั่งรัฐบาลหลายคนเสนอว่า ควรกลับไปพิจารณาที่หลักการ และเหตุผลที่แขวนไว้ ประธานจึงวินิจฉัยให้พักการประชุมรับประทานอาหารกลางวัน แล้วจึงจะกลับมาพิจารณาหลักการและเหตุผลของร่างซึ่งแขวนเอาไว้ตั้งแต่การประชุมครั้งแรกๆ ต่อ

การประชุมในช่วงบ่ายเป็นการย้อนมาพิจารณาหลักการและเหตุผลของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกรรมาธิการเสียงข้างมากยืนยัน ให้ใช้หลักการและเหตุผลของร่างรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งหลักการและเหตุผลเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้จะต้องยืนตามร่างที่มีมาแต่เดิม จะมีการแก้ไขผิดจากร่างเดิมที่มีอยู่จะทำไม่ได้ ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อย เห็นว่า เมื่อกรรมาธิการลงมติในมาตรา 291/1 ไปแล้ว จะต้องดำเนินการต่อจากที่พิจารณาแล้ว การย้อนไปพิจารณาในหลักการอีกทำให้เดินหน้าต่อไปไม่ได้ แม้จะมีมติให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมดก็ไม่เห็นว่าจะมีความผิดตรงไหน กรรมาธิการทั้งสองฝ่ายต่างยืนยันในเหตุผลของตัวเอง

ในที่สุด นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ที่ประชุมพักการประชุมเพื่อให้กรรมาธิการทั้งสองฝ่ายคุยกัน ประธานจึงให้พักการประชุม 10 นาที

หลังพักการประชุมกลับมาที่ประชุม ยังคงหาข้อสรุปที่เป็นเอกภาพไม่ได้ เมื่อกรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลขอให้พิจารณาต่อในส่วนของหลักการโดยเมื่อตกลงกันไม่ได้ให้ที่ประชุมลงมติ ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยเสนอให้พักการประชุมอีก เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายพูดคุยกันต่อเพราะให้ได้ข้อยุติเรื่องที่มาของ ส.ส.ร.ขณะที่ประธานมีความเห็นว่า ควรพิจารณาให้ได้ข้อสรุปในหลักการเพื่อดำเนินการต่อไปได้ กรรมาธิการเสียงข้างน้อยยังคงไม่พอใจ เพราะเห็นว่าเท่ากับเป็นการปล้นมติมาตรา 291/1 ที่ลงมติไป ขณะที่หลักการและเหตุผลเป็นสิ่งที่คงอยู่ยังไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้

โดย นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ รองประธานกรรมาธิการ และกรรมาธิการเสียงข้างน้อย หลายคน ขอให้บันทึกไว้ว่าไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่ประธานกำลังดำเนินการอยู่ เพราะเป็นเหมือนการปล้นมติมาตรา 291/1 ที่ลงมติไปแล้ว จากนั้นมีกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมอีกครั้ง อาทิ นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กรุงเทพฯ, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.ระบบบัญชรายชื่อ, นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก และ นายนิพนธ์ บุญญามณี

ประธานได้ขอมติว่า ใครไม่เห็นด้วยกับถ้อยคำในหลักการ ปรากฏว่า ไม่มีกรรมาธิการคนใดออกเสียงแย้ง ประธานจึงสรุปว่า เมื่อทุกคนเห็นด้วยให้ถือว่าหลักการเป็นไปตามร่างของรัฐบาล แต่เมื่อกรรมาธิการที่ได้เดินออกจากห้องประชุมได้ยินประธาน สรุปว่า ทุกคนเห็นด้วยกับหลักการ นายนิพนธ์ จึงเข้าไปทักท้วงว่า ประธานจะสรุปเช่นนั้นไม่ได้เท่ากับเป็นการโกหกหลอกลวงประชาชน ทำให้กรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลประท้วงให้ถอนคำพูดสุดท้ายนายนิพนธ์ต้องยอมถอนคำพูดแต่ขอสงวนคำแปรญัตติในประเด็นนี้โดยขอให้บันทึกไว้ว่า ที่ประชุมแห่งนี้ไม่เคารพประชาชน

เมื่อพิจารณาในหลักการเสร็จแล้ว นพ.ชลน่าน เสนอว่า ถ้าหลักการได้รับการยืนยันแล้วควรให้กลับไปลงมติร่างที่มาของ ส.ส.ร.ตามมาตรา 291/1 ที่ค้างไว้ อย่างไรก็ดี ขณะนั้นกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่เสนอร่างไว้ ไม่ได้กลับเข้ามาในห้องประชุม กรรมาธิการข้างน้อยจึงทักท้วงว่าลงมติไม่ได้เมื่อผู้เสนอไม่ได้อยู่ร่วมประชุม ที่สุดแล้วประธานได้วินิจฉัยว่าเมื่อมีการยืนยันหลักการผ่านมาแล้วที่มาของ ส.ส.ร.จะต้องมีสองประเภท คือ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงและมาจากการเลือกตั้งโดยรัฐสภา หากกรรมาธิการบางส่วนไม่เห็นด้วยให้สงวนคำแปรญัตติไว้

ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา กรรมาธิการเสนอให้พิจารณาในส่วนของเหตุผลต่อ แต่ประธานเห็นว่าควรกลับไปพิจารณามาตรา 291/1 ต่อแล้วจึงกลับมาพิจารณาในส่วนของเหตุผลที่แขวนไว้ เพราะเมื่อได้ความชัดเจนเรื่องที่มาของ ส.ส.ร.แล้วจะได้แก้เหตุผลให้สอดคล้องกัน แต่ นพ.ชลน่าน ท้วงว่า เมื่อยืนยันว่า หลักการเป็นที่ยอมรับแล้ว กรรมาธิการมีสิทธิเสนอความเห็นยืนยันให้ร่างสอดคล้องกับหลักการให้ ส.ส.ร.มาจากสองทางซึ่งจะตรงกับมาตรา 291/1 ที่กำหนดไว้เดิม ประธานจึงสรุปว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่กรรมาธิการจะต้องขอทบทวนมติมาตรา 291/1 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการ นายวิชิต ชื่นบาน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติให้ทบทวนมติมาตรา 291/1 แต่ขณะที่ประธานจะถามญัตติ นายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า การพิจารณาในวันนี้มีความวุ่นวายมากพอแล้วขอให้ประธานปิดประชุมไปก่อน

อย่างไรก็ดี ในช่วงท้ายกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่เหลือเพียง นายนิพนธ์ กับ นายวิรัช ยังคงโต้แย้ง โดยยืนยันว่า ที่ประชุมได้ปล้นมติที่ลงมติไปแล้ว พอมาถึงตรงนี้กรรมาธิการฝั่งรัฐบาลได้ลุกขึ้นมาประท้วงให้ถอนคำพูด แต่ นายนิพนธ์ ยังคงไม่ยอม ประธานจึงถามมติให้ทบทวนมาตรา 291/1 เมื่อไม่มีใครทักท้วง ประธานจึงแจ้งว่า ขอรับมติไว้ส่งผลให้ที่ประชุมจะกลับไปพิจารณามาตรา 291/1 ใหม่ โดย นายวิชิต เสนอให้เดินหน้าพิจารณาต่อไป ขณะที่ นายวิรัช ทักท้วงว่า ไม่ควรพิจารณาต่อไป เพราะกรรมาธิการที่เคยเสนอคำแปรญัตติไว้ไม่อยู่ในห้องประชุม นายไพจิต จึงเสนอให้พิจารณาต่อ นายนิพนธ์ จึงพ้อว่า ประธานใจดำ เมื่อประธานจะให้พิจารณาต่อตนของเสนอญัตติไม่ให้มีการทบทวนมาตรา 291/1 ใหม่ ประธานจึงถามนายนิพนธ์ ว่า เมื่อจะเสนอญัตติก็ขอผู้รับรอง แต่ นายนิพนธ์ มีผู้รับรองไม่พอตามข้อบังคับการประชุม ทำให้เกิดการถกเถียงอย่างเคร่งเครียด แต่ในที่สุดแล้วประธานยังคงดำเนินการพิจารณาต่อ โดยสรุปว่าญัตติของ นายนิพนธ์ มีผู้รับรองไม่พอ ที่ประชุมจึงพิจารณามาตรา291/1 ต่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น