xs
xsm
sm
md
lg

ปล้นโหวตแก้รธน.ยก2ร่างลงมติร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- “กมธ.เพื่อไทย” ปล้นโหวตแก้รธน. “สามารถ” กลับลำ ส่อเค้าถูกบีบจาก รัฐบาลปูแดง แก้เกมเสนอร่างแก้ไขพท.-ชทพ.ลงมติร่วม 9 ร่างของฝ่ายค้านชี้ขาดที่มาสสร. ด้านกมธ.เสียงข้างน้อยวอล์กเอ้าท์สองรอบโวยโดนปล้นมติ

ภายหลังกรรมาธิการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เสียงข้างน้อยจากพรรคประชาธิปัตย์ โหวตเอาชนะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ถึงมาตรา 291/1 ที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) ที่ให้มี 200 คนนั้น

วานนี้(29 มี.ค.55) มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยมีนายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมธิการทำหน้าที่ประธานการประชุม
นายสามารถ กล่าวก่อนประชุมว่า จะนำร่างของพรรคเพื่อไทย และร่างของพรรคชาติไทยพัฒนาเข้ามาลงมติร่วมกับร่างของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่เสนอแนวทางเลือกตั้งสสร.ด้วยการเลือกตั้งตรงทั้งหมด 9 แนวทาง เหตุผลที่นำสองร่างเข้ามาพิจารณาด้วยเพราะเป็นร่างที่รับหลักการมาแล้ว ส่วนวิธีการลงมติจะใช้วิธีการเขียนในใบลงคะแนน หลังจากการพิจารณาเรื่องที่มาของสสร.เสร็จสิ้นแล้ว จะพิจารณาต่อเรื่องคุณสมบัติของสสร. ซึ่งที่ประชุมจะนำความเห็นของกฤษฏีกาและคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กรณีจะนำกฎหมายเก่ามาอนุโลมใช้ได้อย่างไร และหรือจะร่างกฎหมายใหม่ตามความเห็นของกกต.มาใช้ได้อย่างไร

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรรมาธิการ กล่าวว่า กรณีการลงมติมาตรา 291/1 ที่เสียงข้างมาเห็นว่าควรนำร่างแปรญัตติของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยมาแทนร่างของรัฐบาล ตนเห็นว่าผลการลงมติควรได้รับการยอมรับ เพราะเสียงข้างมากที่ได้ลงมติถือว่าตัวร่างมีความเหมาะและเป็นประชาธิปไตยเพราะสสร.ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน การพิจารณาฯ ควรเดินหน้าต่อไปโดยควรปรับปรุงร่างของรัฐบาลให้มีความเป็นประชาธิปไตยเพื่อนำไปสู่ความปรองดองและก้าวข้ามความขัดแย้งทั้งหมด

ส่วนที่ประธานจะนำร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนามาพิจารณาด้วยเพราะเป็นร่างที่รับหลักการมาแล้ว นายอลงกรณ์ กล่าวว่า วิธีนี้ไม่ถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่ทำกัน เมื่อลงมติไปแล้วไม่ควรเปลี่ยนแปลงมติอีก ที่มาของสสร.ควรมาจากประชาชนทั้งหมด ไม่ควรมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยปกติเมื่อรับหลักการร่างกฎหมายแล้ว และได้ยืนยันกับสภาว่าจะใช้ร่างของใครเป็นหลักในการพิจารณาจะต้องใช้ร่างนั้น ไม่เช่นนั้นต่อไปการพิจารณากฎหมายถ้าร่างหลักไม่ได้รับความเห็นชอบจะไปเอาร่างอื่นมาแทนซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ “สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำคือการรื้อโหวตซึ่งไม่มีใครเขาทำกัน ” นายอลงกรณ์ กล่าว

สำหรับวิธีการลงมติที่ประธานจะเสนอให้ลงมติด้วยลายมือ นายอลงกรณ์ กล่าวว่า อย่าพลิกแพลงจนเสียหลัก การพิจารณาเคยดำเนินการอย่างไรควรดำเนินการอย่างนั้น กรรมาธิการเสียงข้างน้อยให้ความร่วมมือมาโดยตลอด เมื่อสภามีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคก็ยอมรับและร่วมมือกันทำงาน การทำงานต้องทำบนหลักความถูกต้องถ้าพลิกแพลงวิธีการทำงานจนทำให้การทำงานมีปัญหาการพิจารณาจะเดินต่อไปไม่ได้ ฝ่ายค้านมาช่วยดูให้เกิดความรอบคอบเมื่อมีมติแล้วก็ควรดำเนินการต่อไปเพราะวิธีการเลือกสสร.ถ้าปล่อยให้เลือกตั้งทางอ้อมจะเกิดปัญหามีร่างทรงอยู่ในสสร.การลงมติตามความเห็นของฝ่ายค้านไม่ได้เสียหายอะไร

**“สามารถ”สั่งรื้อโหวต

ต่อมา ที่ประชุมพิจารณามาตรา 291/1 ที่มาของ สสร. ต่อจากเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ซึ่งค้างอยู่ที่การลงมติร่างแก้ไขของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่เสนอที่มาของสสร.ด้วยการเลือกตั้งตรงจากประชาชน 9ร่างฯ เมื่อเริ่มประชุมประธานได้เสนอให้นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคชาติไทยพัฒนาและร่างของพรรคเพื่อไทยเข้ามาพิจารณาด้วยเพราะถือว่าเป็นร่างที่รัฐสภาได้รับหลักการไว้แล้วควรนำมาพิจารณาได้อีก

ด้านกรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้คัดค้านโดยอ้างว่าประเพณีปฏิบัติเมื่อยืนยันกับสภาฯแล้วว่าจะใช้ร่างได้เป็นหลักในการพิจารณาเมื่อที่ประชุมกรรมาธิการมีมติไม่ยืนยันตามร่างของรัฐบาลถือว่าร่างนั้นตกไปแล้ว ควรพิจารณาร่างที่ยืนยันไว้ ที่มาของสสร.ควรมาจากการเลือกตั้งตรงทั้งหมดตามที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้เสนอไว้แล้ว ขณะที่กรรมาธิการฝั่งรัฐบาลยืนยันว่าร่างกฎหมายที่ได้รับหลักการจากที่ประชุมสภามาแล้วถือว่าสามารถนำมาพิจารณาได้ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาแล้วไม่ได้มีเนื้อหาสาระเหมือนกับร่างของรัฐบาล ในเมื่อที่ประชุมจะพิจารณาร่างที่มีความแตกต่างกันของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยก็น่าจะนำร่างที่มีความแตกต่างกันซึ่งได้ผ่านการับหลักการมาแล้วมาพิจารณาด้วยได้

กรรมาธิการเสียงข้างน้อยยังคงยืนยันว่าการพิจารณาร่างของรัฐบาลได้ผ่านไปแล้วควรเดินต่อไปด้วยการพิจารณาร่างที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยเสนอไว้ทั้ง 9 ร่างแม้วิธีที่ประธานเสนอไม่ได้มีข้อบังคับการประชุมห้ามไว้ แต่หากทำต่อไปบรรยากาศการประชุมอาจเกิดความขัดแย้งขึ้นอีก พรรคประชาธิปัตย์พร้อมจะให้ความร่วมมือเมื่อวิธีการใดจะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับก็ควรดำเนินการต่อไป

จากนั้นกรรมาธิการฯ ถกเถียงกันกว่า 2 ชั่วโมง ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ในที่สุดประธานได้ขอมติว่าจะให้นำร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนามาลงมติกับร่างฯของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยและส.ว.เสนอ 9 แนวทางหรือไม่ ขณะนั้นกรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการนำร่างมาพิจารณาได้วอล์กเอ้าท์จากห้องประชุมทั้งหมด

**ปชป.วอล์คเอาท์

การประชุมในช่วงบ่ายเป็นการย้อนมาพิจารณาหลักการและเหตุผลของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกรรมาธิการเสียงข้างมากยืนยันให้ใช้หลักการและเหตุผลของร่างรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งหลักการและเหตุผลเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้จะต้องยืนตามร่างที่มีมาแต่เดิม จะมีการแก้ไขผิดจากร่างเดิมที่มีอยู่จะทำไม่ได้ ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยเห็นว่าเมื่อกรรมาธิการลงมติในมาตรา 291/1 ไปแล้วจะต้องดำเนินการต่อจากที่พิจารณาแล้ว การย้อนไปพิจารณาในหลักการอีกทำให้เดินหน้าต่อไปไม่ได้ แม้จะมีมติให้สสร.มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมดก็ไม่เห็นว่าจะมีความผิดตรงไหน กรรมาธิการทั้งสองฝ่ายต่างยืนยันในเหตุผลของตัวเอง ในที่สุดนายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ที่ประชุมพักการประชุมเพื่อให้กรรมาธิการทั้งสองฝ่ายคุยกัน ประธานจึงให้พักการประชุม 10 นาที

หลังพักการประชุมกลับมาที่ประชุมยังคงหาข้อสรุปที่เป็นเอกภาพไม่ได้เมื่อกรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลขอให้พิจารณาต่อในส่วนของหลักการโดยเมื่อตกลงกันไม่ได้ให้ที่ประชุมลงมติ ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยเสนอให้พักการประชุมอีกเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายพูดคุยกันต่อเพราะให้ได้ข้อยุติเรื่องที่มาของสสร. ขณะที่ประธานมีความเห็นว่าควรพิจารณาให้ได้ข้อสรุปในหลักการเพื่อดำเนินการต่อไปได้ กรรมาธิการเสียงข้างน้อยยังคงไม่พอใจเพราะเห็นว่าเท่ากับเป็นการปล้นมติมาตรา 291/1 ที่ลงมติไป ขณะที่หลักการและเหตุผลเป็นสิ่งที่คงอยู่ยังไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้ โดยนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.ระบบบัญชี รายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์รองประธานกรรมาธิการและกรรมาธิการเสียงข้างน้อยหลายคนขอให้บันทึกไว้ว่าไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่ประธานกำลังดำเนินการอยู่เพราะเป็นเหมือนการปล้นมติมาตรา 291/1ที่ลงมติไปแล้ว

จากนั้นมีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้วอล์กเอ้าท์ออกจากห้องประชุมอีกครั้งอาทิ นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กรุงเทพฯ ,นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ,นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก และนายนิพนธ์ บุญญามณี

ประธานได้ขอมติว่าใครไม่เห็นด้วยกับถ้อยคำในหลักการ ปรากฎว่าไม่มีกรรมาธิการคนใดออกเสียงแย้ง ประธานจึงสรุปว่าเมื่อทุกคนเห็นด้วยให้ถือว่าหลักการเป็นไปตามร่างของรัฐบาล แต่เมื่อกรรมาธิการที่ได้เดินออกจากห้องประชุมได้ยินประธานสรุปว่าทุกคนเห็นด้วยกับหลักการนายนิพนธ์จึงเข้าไปทักท้วงว่าประธานจะสรุปเช่นนั้นไม่ได้เท่ากับเป็นการโกหกหลอกลวงประชาชน ทำให้กรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลประท้วงให้ถอนคำพูดสุดท้ายนายนิพนธ์ต้องยอมถอนคำพูดแต่ขอสงวนคำแปรญัตติในประเด็นนี้โดยขอให้บันทึกไว้ว่า ที่ประชุมแห่งนี้ไม่เคารพประชาชน

เมื่อพิจารณาในหลักการเสร็จแล้วนพ.ชลน่าน เสนอว่าถ้าหลักการได้รับหารยืนยันแล้วควรให้กลับไปลงมติร่างที่มาของสสร.ตามมาตรา291/1 ที่ค้างไว้ อย่างไรก็ดีขณะนั้นกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่เสนอร่างฯไว้ไม่ได้กลับเข้ามาในห้องประชุม กรรมาธิการข้างน้อยจึงทักท้วงว่าลงมติไม่ได้เมื่อผู้เสนอไม่ได้อยู่ร่วมประชุม ที่สุดแล้วประธานได้วินิจฉัยว่าเมื่อมีการยืนยันหลักการผ่านมาแล้วที่มาของสสร.จะต้องมีสองประเภทคือมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและมาจากการเลือกตั้งโดยรัฐสภา หากกรรมาธิการบางส่วนไม่เห็นด้วยให้สงวนคำแปรญัตติไว้

ด้านนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา กรรมาธิการเสนอให้พิจารณาในส่วนของเหตุผลต่อ แต่ประธานเห็นว่าควรกลับไปพิจารณามาตรา 291/1 ต่อแล้วจึงกลับมาพิจารณาในส่วนของเหตุผลที่แขวนไว้เพราะเมื่อได้ความชัดเจนเรื่องที่มาของสสร.แล้วจะได้แก้เหตุผลให้สอดคล้องกัน แต่นพ.ชลน่าน ท้วงว่า เมื่อยืนยันว่าหลักการเป็นที่ยอมรับแล้ว กรรมาธิการมีสิทธิเสนอความเห็นยืนยันให้ร่างสอดคล้องกับหลักการให้สสร.มาจากสองทางซึ่งจะตรงกับมาตรา291/1 ที่กำหนดไว้เดิม ประธานจึงสรุปว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่กรรมาธิการจะต้องขอทบทวนมติมาตรา 291/1 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการ นายวิชิต ชื่นบาน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยเสนอญัตติให้ทบทวนมติมาตรา 291/1แต่ขณะที่ประธานจะถามญัตตินายวิรัช ร่มเย็น สส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า การพิจารณาในวันนี้มีความวุ่นวายมากพอแล้วขอให้ประธานปิดประชุมไปก่อน

ในช่วงท้ายกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่เหลือเพียงนายนิพนธ์กับนายวิรัชยังคงโต้แย้งโดยยืนยันว่าที่ประชุมได้ปล้นมติที่ลงมติไปแล้ว พอมาถึงตรงนี้กรรมาธิการฝั่งรัฐบาลได้ลุกขึ้นมาประท้วงให้ถอนคำพูดแต่นายนิพนธ์ยังคงไม่ยอมประธานจึงถามมติให้ทบทวนมาตรา 291/1 เมื่อไม่มีใครทักท้วง ประธานจึงแจ้งว่าขอรับมติไว้ส่งผลให้ที่ประชุมจะกลับไปพิจารณามาตรา 291/1ใหม่ โดยนายวิชิตเสนอให้เดินหน้าพิจารณาต่อไป ขณะที่นายวิรัชทักท้วงว่าไม่ควรพิจารณาต่อไปเพราะกรรมาธิการที่เคยเสนอคำแปรญัตติไว้ไม่อยู่ในห้องประชุม นายไพจิต จึงเสนอให้พิจารณาต่อ นายนิพนธ์จึงพ้อว่าประธานใจดำ เมื่อประธานจะให้พิจารณาต่อตนของเสนอญัตติไม่ให้มีการทบทวนมาตรา 291/1 ใหม่ ประธานจึงถามนายนิพนธ์ว่าเมื่อจะเสนอญัตติก็ขอผู้รับรองแต่นายนิพนธ์มีผู้รับรองไม่พอตามข้อบังคับการประชุม ทำให้เกิดการถกเถียงอย่างเคร่งเครียด แต่ในที่สุดแล้วประธานยังคงดำเนินการพิจารณาต่อ โดยสรุปว่าญัตติของนายนิพนธ์มีผู้รับรองไม่พอ ที่ประชุมจึงพิจารณามาตรา291/1 ต่อ

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติ ให้ที่ประชุมพิจารณา ม.291/1 (1) (2) ตามร่างครม. ทันที ทำให้นายวิรัช ส.ส.ระนอง เสนอนับองค์ประชุม แต่เมื่อนับแล้วได้ 24 คน จึงถือว่าครบองค์ประชุม พร้อม ๆ กันนั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทย พากันทยอยวิ่งเข้าห้องประชุม เพื่อลงมติถึงที่มา ส.ส.ร.ในมาตรา 291/1 ปรากฏว่าที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นด้วยกับร่างรัฐบาล 21 ต่อ 3

หลังจากผลโหวตออกมาชนะ ทำให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย มีสีหน้าโล่งใจ ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในห้องประชุมและนอกห้องประชุมถึงกับพูดว่า “วันนี้โดนปล้นไปหมด ถ้าแบบนี้ไม่ต้องประชุมกันแล้ว” อย่างไรก็ตามการลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล จะทำให้ ส.ส.ร. มีจำนวน 99 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และอีกกลุ่มมาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมรัฐสภา 22 คน

**ขยายเวลาประชุมถึงพ.ค.

นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปฯรัฐบาล) กล่าวถึงแนวคิดขยายเวลาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติออกไปเพื่อให้มีเวลาเพียงพอจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ถ้าจะมีการขยายเวลาออกไปคงไม่เกี่ยวกับการมารองรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะเป็นแค่ผลพลอยได้ แต่สาเหตุที่สำคัญเป็นเพราะกรรมาธิการ ยังไม่มีข้อสรุปในการพิจารณาว่าจะเสร็จเมื่อใด แต่คำนึงเหตุผลแล้วจะเห็นว่าที่ผ่านมาเมื่อต้นสมัยประชุมเกิดวิกฤตอุทกภัยทำให้การเปิดประชุมไม่สามารถทำได้เต็มที่เพราะส.ส.ต้องลงพื้นที่ไปดูแลประชาชน อีกทั้งการขยายเวลาออกไปจะช่วยให้การพิจารณาร่างกฎหมายของภาคประชาชนสามารถผลักดันได้ทันในสมัยประชุมนี้ หากรัฐบาลมีความรับผิดชอบและได้รับรองไว้แล้ว ละติดขัดแค่กรอบเวลาก็ควรขยายเวลาสมัยประชุมออกไปเพื่อให้พิจารณาได้เสร็จสิ้นได้ทันในสมัยประชุมนี้ ส่วนแนวทางการขยายเวลาสมัยประชุมอยู่ระหว่างการหารือกับประธานสภาผู้แทนราษฎร และคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 วันนี้ ทั้งนี้การขยายเวลาคงต้องดูด้วยว่าการขยายไปแล้วจะสามารถผักดันกฎหมายได้ทันหรือไม่ หากขยายเวลาไปแล้วทำไม่ทันคงไม่ขยาย ส่วนระยะเวลาที่เหมาะสมหากจะขยายเวลาคงขยายออกไปสิ้นสุดไม่เกินปลายเดือนพฤษภาคม

**ครม.ถอนร่างปิดประชุมรัฐสภา

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังมีรายงานถึงการถอนร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภา สมัยสามัญนิติบัญญัติ ในวันที่ 18 เมษายน ออกไป คาดว่าจะมีการเสนอขอขยายการประชุม เพื่อรองรับการพิจารณาวาระรายงานการปรองดอง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปเป็นวันที่ 30 เมษายนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น