xs
xsm
sm
md
lg

ต้าน"ค้อนปลอม"กินรวบ วางกรอบสรรหา22 ส.ส.ร.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 13.00 น. วานนี้ ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งเป็นการพิจารณา ร่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... ต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 8 โดยเป็นการพิจารณาต่อในมาตรา 291/6 เรื่องให้รัฐสภาดำเนินการคัดเลือก ส.ส.ร. ตามมาตรา 291/1 (2) ให้แล้วเสร็จภายใน 75 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกา หรือตาม มาตรา 291/5 มีผลใช้บังคับ รวมทั้งให้สภาของสถาบันอุดมศึกษา องค์กรภาคเศรษฐกิจ สังคม และองค์กรภาคเอกชน แต่ละแห่งคัดเลือกบุคคล ซึ่งมีคุณสมบัติ ที่จะเป็น ส.ส.ร. ตามมาตรา 291/1 (2) ในประเภทต่างๆ ตาม มาตรา 291/1 (2) (ก) (ข) และ (ค) ประเภทละไม่เกิน 2 คน โดยจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อของแต่ละประเภท พร้อมทั้งรายละเอียดตามที่ประธานรัฐสภากำหนด
ทั้งนี้การอภิปรายของกมธ.เสียงข้างน้อย ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขของ กมธ.เสียงข้างมาก ที่เขียนให้อำนาจประธานรัฐสภา ดำเนินการในทุกกระบวนการ เพราะถือเป็นการรวบอำนาจทุกอย่างไว้ที่คนๆ เดียว เช่น การจัดทำบัญชีรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ร.แต่ละประเภท ให้อำนาจประธานรัฐสภา แต่งตั้งคณะกรรมการ 15 คน เพื่อดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเป็น ส.ส.ร.
กรณีการเลือกส.ส.ร.ที่มีคะแนนเท่ากันให้ประธานรัฐสภา ทำการจับสลากว่า ผู้ใดได้รับการคัดเลือก รวมทั้งกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสมัครรับการคัดเลือก และการคัดเลือก ส.ส.ร. ให้ประธานรัฐสภา กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเพื่อวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว
นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย สงวนคำแปรญัตติ เสนอให้ตัด มาตรา 291/6 ออกทั้งมาตรา ว่า การกำหนดให้ประธานรัฐสภา เป็นผู้ดำเนินการในเกือบทุกกระบวนการ ถ้าเขียนกฎหมายออกไปอย่างนี้ ทำให้ประธานรัฐสภากินรวบทุกอย่าง อำนาจเบ็ดเสร็ดทุกอย่าง จะอยู่ที่ประธานรัฐสภาคนเดียว ซึ่งจะส่งผลให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ กลายเป็นฉบับกินรวบด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เราไม่สามารถเอาประเทศทั้งประเทศไปไว้กับคนๆ เดียวได้ ซึ่งการให้อำนาจประธานสภา กำหนดกรอบการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้เป็น ส.ส.ร. ซึ่งต้องคัดเลือกมาทั้งหมด 22 คน
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ตนอยากเสนอให้แค่สภาสถาบันอุดมศึกษา เป็นผู้คัดเลือกแต่เพียงผู้เดียว เพราะเราไม่สามารถแยกแยะได้ว่า องค์กรใดจะเป็นตัวแทนของผู้เชี่ยวชาญด้านใด มันไม่มีความชัดเจน ที่สุดจะส่งผลให้มีการฟ้องร้องกันมากมาย
นอกจากนี้ การให้ประธานรัฐสภาจัดทำบัญชีรายชื่อของผู้ที่จะได้รับคัดเลือกเป็นส.ส.ร. แต่ละประเภท แล้วให้ที่ประชุมรัฐสภาเป็นผู้เลือก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเสียงข้างมากของพวกท่านเลือกอีกชั้นหนึ่ง สุดท้ายก็กลายเป็นการกินรวบอยู่ดี
" ปัจจุบันเขาไม่ยุทธกันด้วยอาวุธปืนแล้ว แต่ใช้คน 22 คน ที่เสียงข้างมากของพวกท่านเลือกเข้ามา ไปเขียนกติกาของประเทศ แล้วเอา 77 คน มายกมือสร้างความถูกต้อง นี่คือความหวาดระแวงของสังคมในการเขียนกติกาของประเทศ นี่คือหัวใจของการยึดอำนาจของประเทศนี้ เขียนรัฐธรรมนูญที่จะมีโครงสร้างประเทศอย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องใช้กระบอกปืน และรถถัง เอาคนของตัวเองมาเขียนอะไรก็ได้ ตามที่ตัวเองต้องการ" นายนิพนธ์ กล่าว

**อ้างปธ.รัฐสภาแค่บุรุษไปรษณีย์

นายพิชิต ชื่นบาน ในฐานะคณะกรรมธิการเสียงข้างมาก ชี้แจงว่า การทำหน้าที่ของสภาสถาบันการศึกษา ในการเป็นผู้คัดเลือกตัวบุคคลที่จะได้รับคัดเลือกเป็นส.ส.ร.นั้น เปรียบเหมือนทำงานเป็นตัวกรอง ที่คัดกรองมาให้กับประธานรัฐสภา ที่จะทำหน้าที่เป็นคณะบุคคล ไม่ใช่แค่ตัวบุคคล ซึ่งตนเชื่อมั่นว่า ประธานรัฐสภาจะสามารถคัดเลือกคณะบุคคลให้เป็นที่ไว้วางใจได้
ทั้งนี้การทำหน้าที่ของประธานรัฐสภา เปรียบเหมือนบุรุษไปรษณีย์ ที่จะส่งต่อให้ที่ประชุมรัฐสภาคัดเลือกอีกชั้นหนึ่ง ส่วนข้อกังวลว่า จะเป็นการบล็อกโหวตนั้น คงเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าบทบาทของประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่บุรุษไปรณีย์ ไม่ได้มีอะไรให้สมาชิกต้องกังวลใจ

** ถล่ม"ค้อนปลอม"ไม่เป็นกลาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการอภิปรายยังคงเป็นไปอย่างกว้างขวาง สมาชิกที่ขอสงวนคำแปรญัตติส่วนใหญ่ที่ลุกขึ้นอภิปราย เป็นส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ โดยยังคงท้วงติงประเด็นที่มอบอำนาจให้ประธานรัฐสภา มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกส.ส.ร.สรรหา ทั้ง 22 คน รวมทั้งการเสนอให้สถาบันการศึกษา เป็นผู้เสนอรายชื่อผู้ที่จะคัดเลือกเป็นส.ส.ร.เพียงอย่างเดียว โดยไม่จำเป็นต้องมีองค์กรเฉพาะด้านอย่าง ภาคเอกชน เศรษฐกิจ เสนอรายชื่อเข้ามา เพราะเกรงว่าจะมีคดีความการฟ้องร้องในภายหลัง เนื่องจากไม่สามารถแยกแยะได้ชัดเจนว่า องค์กรใดมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านใด อีกทั้งยังไม่สามารถให้ความไว้วางใจ ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ได้ เพราะมีกระแสวิจารณ์หนัก ถึงความไม่เป็นกลางต่อการปฏิบัติหน้าที่ในสภา ดังนั้นอาจจะส่งผลต่อการได้มาของส.ส.ร. ทั้ง 22 คนได้
นพ.สุกิจ หัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรรมาธิการทำเหมือนเป็นผู้รับเหมาเขียนสเปกเสียเอง ให้ประธานสภามีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการให้สภาเลือกส.ส.ร. 22 คน เรากังวล และกลัวมากที่สุด เพราะคนที่จะมอบหมายให้นั้น เป็นบุคคลที่ตลอดเวลาที่ผมร่วมประชุมด้วย เป็นความรู้สึกจากใจ พูดแบบลูกผู้ชายตรงไปตรงมา ทุกครั้งที่ปฏิบัติหน้าที่หลายครั้งได้สร้างความเคลือบแคลงน่าสงสัยในความเป็นกลางอย่างมาก จึงไม่อาจไว้วางใจให้มาทำหน้าที่นี้ได้
จนกระทั่งเวลา 16.52 น. นายธรนิตพล ไชยนันทน์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการวิปฝ่ายค้าน หารือกับที่ประชุมว่า หากปล่อยให้การอภิปรายเป็นไปอย่างนี้เรื่อยๆ สภาจะไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ หากประธานไม่ยอมให้มีการหารือกันของวิป 3 ฝ่าย และตัวแทนกมธ.เสียงข้างมาก เหมือนกับที่มีการไปตกลงหารือกันในมาตรา 291/5 ซึ่งทำให้การประชุมเป็นไปได้ด้วยดี
ดังนั้น จึงอยากให้ประธานได้สั่งพักการประชุม เพื่อให้ทั้ง 4 ฝ่าย ได้ไปหารือกันในมาตรา 291/6 จากนั้น พล.อ.ธีรเดช ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมจึงได้สั่งพักการประชุมเป็นเวลา 30 นาที

** ปธ.กมธ.ยืนกรานมอบอำนาจปธ.สภา

หลังเปิดการประชุมอีกครั้ง นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจง ว่า อำนาจของประธานรัฐสภา ไม่ได้เป็นไปตามที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วง ประธานรัฐสภามีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ในการสรรหา ส.ส.ร.โดยเป็นผู้ตั้งกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส.ร. และมีอำนาจตรวจสอบคุณสมบัติ ว่าสอดคล้องรัฐธรรมนูญ มาตรา 291/2 และ 291/3 หรือไม่ และเมื่อกรณีการลงมติเลือกส.ส.ร. มีคะแนนเสียงเท่ากัน ประธานรัฐสภา มีอำนาจจับสลากตัดสินผลการคัดเลือก มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาที่เกิดจากการคัดเลือก และมีอำนาจ นำรายชื่อไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประธานรัฐสภา ไม่ได้มีอำนาจเลือก ส.ส.ร. 22 คนเอง เจตนารมณ์ของบทบัญญัติ ให้ประธานเป็นเพียงผู้ประกาศว่า องค์กรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ถูกต้องตามกฎหมาย มีองค์กรใดบ้าง ประธานไม่มีสิทธิไปคิดเอาเอง
ส่วนที่เกรงว่า จะเกิดปัญหาการบล็อกโหวต นั้น เมื่อพิจารณาจากจำนวนเสียงสนับสนุนของฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันมี 298 เสียง ฝ่ายค้านมี 201 เสียง จะเห็นว่า คะแนนเสียงจากวุฒิสภา ที่เหลืออยู่ 146 เสียงจาก 150 เสียง จะมีส่วนสำคัญในการกลั่นกรองผู้มาดำรงตำแหน่งส.ส.ร. ซึ่งตนเชื่อว่า สมาชิกมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีความเป็นตัวของตัวเอง น่าจะทำให้การสรรหาเป็นไปโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรม และการลงคะแนนยังเป็นการลงคะแนนลับ ไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นคนเลือกใคร ดังนั้นการรจะไปบล็อกโหวต เป็นเรื่องที่ทำได้เลำบาก
ด้านนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย รองประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ส่วนที่มีผู้เสนอความเห็นให้สมาชิกรัฐสภา มีสิทธิออกเสียงเลือก ส.ส.ร.ได้มากว่าคนละ 1 เสียงนั้น กรรมาธิการฯ ได้ออกแบบให้สิทธิของสมาชิกในการลงคะแนนเลือก ส.ส.ร. ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน เหมือนกับประชาชนที่มีสิทธิในการเลือก ส.ส.ร.ได้คนละ 1 เสียงเท่ากัน ดังนั้นตนเชื่อว่าระบบที่ใช้ในการเลือกตั้งส.ส.ร.ได้ออกแบบมาถูกต้อง และเหมาะสมแล้ว

**ผู้ตรวจฯตั้ง 10 ประเด็นเนื้อหาแก้รธน.

นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อ.นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐธรรมนูญ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมได้มีการรวบรวม 10 ประเด็นใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป ดังนี้
1. สมาชิกวุฒิสภา ควรจะคงไว้หรือไม่ และควรมีที่มาอย่างไร 2. หลักเกณฑ์ความรับผิดชอบของพรรคการเมืองโดยเฉพาะกรณีการถูกยุบพรรค และการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ควรมีอยู่ต่อไปหรือไม่ 3. ความจำเป็นของอำนาจหน้าที่ฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ 4. ความจำเป็น และอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระทั้งหลาย
5. กระบวนการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ ควรเป็ฯอย่างไร 6. โครงสร้างอำนาจทางการเมืองควรเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกรณีหากยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 จะมีมาตรการเชื่อมโยงกับสภาพทางการเมืองและกลไลทางการเมืองได้อย่างไร 7. ระบบการเลือกตั้ง และให้ ส.ส. สังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ 8. ระบบพรรคการเมือง และการเข้าสู่ตำแหน่งทางเมืองของฝ่ายบริหาร 9. การคุ้มครอง การให้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ และ 10. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ของภาคประชาชน
ทั้งนี้ประเด็นทั้งหมดคณะกรรมการฯได้พิจารณาจาก ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของ ครม.และพรรคร่วมรัฐบาล รวม 3 ร่าง และจากความสนใจของประชาชน โดยคาดว่า ทุกประเด็นจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในการยกร่างรัฐธรรมนูญของส.ส.ร. ซึ่งยืนยันว่า การทำงานและข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ไม่ได้เป็นการไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของ ส.ส.ร. หรือไปยกร่างรัฐธรรมนูญแข่ง แต่เป็นการเสนอหลักการที่ควรจะมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ และเป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญ ให้ไว้กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งแต่ละประเด็น คาดว่าจะใช้เวลาการพิจารณา 1–2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาเสร็จแล้ว จะนำเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อพิจารณาต่อไป

** คาดวุฒิฯไม่ร่วมถกแก้รธน.30 เม.ย.

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ระบุว่า จะมีการพักประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 26 เม.ย.เพื่อประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามปกติ แล้วจะไปประชุมร่วมรัฐสภา ต่อในวันที่ 30 เม.ย. ว่า ตนขอยืนยันว่าทางวุฒิสภา ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการประชุม โดยจะมีการประชุมวุฒิสภาเหมือนเดิม ในวันจันทร์ที่ 30 เม.ย. หากทางวิปรัฐบาล จะมาหารือเพื่อขอวันดังกล่าวไปประชุมร่วมรัฐสภาในวาระการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนเชื่อว่าทางวุฒิสภาไม่เห็นด้วย เพราะวุฒิสภายังมีวาระที่ต้องพิจารณาอีกมาก และเห็นว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ที่จะเอาวันประชุมวุฒิสภา มาประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ด้านนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ขณะนี้ได้หารือกับทางวิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภามาบ้างแล้ว โดยจะทำการประชุมร่วมรัฐสภา ต่อในวันที่ 1 พ.ค. แต่จะยืดเยื้อถึงวันที่ 3 พ.ค.หรือไม่ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้แปรญัตติ ที่จะเหลืออีกมากน้อยเพียงใด ส่วนในวันนี้ ( 26 เม.ย. ) จะเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น