ประธานวิปรัฐบาลแย้มเป็นไปได้ใช้ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ว.มาใช้กับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ตามที่ฝ่ายค้านเสนอ เตรียมดึง กกต.ร่วมเคาะในที่ประชุม 4 ฝาย ติงประชาชนเริ่มเซ็ง ส.ส.บ้าน้ำลายอภิปรายแก้ รธน.ยืดเยื้อ ปัดดึงเวลายัดไส้ พ.ร.บ.ปรองดอง โบ้ย ปชป.เตะถ่วงมีวาระซ่อนเร้นมากกว่า
นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมกทารประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยภายหลังการประชุมประจำสัปดาห์ถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยืดเยื้อมาถึง 6 วัน และจะมีการประชุมต่อในวันที่ 24-25 เม.ย.นี้ว่า เบื้องต้นในวันพรุ่งนี้ (24 เม.ย.) ในการประชุมผู้แทน 4 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย รัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ว. และกรรมาธิการ จะมีประชุมในส่วนของมาตรา 291/5 เกี่ยวกับการเลือกตั้งการเลือกตั้งสมาชิกสถาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยได้เชิญผู้แทนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกใช้กฎหมายระหว่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น ที่ผ่านชั้นกรรมาธิการมาแล้ว กับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ที่ฝ่ายค้านเสนอให้นำมาใช้นั้น ฉบับใดจะมีการความเหมาะสมมากกว่า
“รัฐบาลไม่มีธง ไม่ซีเรียสว่าจะใช้กฎหมายฉบับไหน รอให้ กกต.มาเป็นผู้ให้ข้อมูลว่าติดขัดอะไรหรือไม่ หากจะใช้การเลือกตั้งรูปแบบเดียวกับ ส.ว. ต้องดูด้วยว่า กกต.จะงดเว้นระเบียบในส่วนใดได้บ้าง อาทิ การเลือกตั้งล่วงหน้า การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เพราะ กกต.ถือเป็นผู้ที่จะบังคับใช้กฎหมายในการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยตรง”
นายอุดมเดชกล่าวว่า นอกจากนี้ ในส่วนของมาตรา 291/11 ที่ฝ่ายค้านต้องการปรับให้นำร่างที่ ส.ส.ร.ยกร่างแล้วเสร็จ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ก่อนนำออกไปทำประชามติ เรื่องนี้ต้องหารือกันอีกครั้ง เพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่าจะนำกลับเข้ามาให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาในประเด็นใด หากนำเข้ามาเพื่อดูว่าเนื้อหากระทบสถาบันพระมหากษัตริย์หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็เป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้ แต่หากต้องการนำเข้ามาเป็นสัญลักษณ์ในการทำหน้าที่ของผู้แทนฯ ก็คงไม่เหมาะสม เพราะในขั้นตอนก็ได้ให้อำนาจประชาชนในการตัดสินใจอยู่แล้ว ส.ส.-ส.ว.ในฐานะผู้แทนประชาชนจึงไม่ควรมีหน้าที่อีก
ผู้สื่อข่าวถามว่า ภายในสัปดาห์นี้การพิจารณาวาระที่ 2 จะแล้วเสร็จหรือไม่ นายอุดมเดชกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับฝ่ายค้าน โดยต้องทำความเข้าใจว่าการแปรญัตติถือเป็นสิทธิ แต่หากจะใช้เวลาในการอภิปรายมากเกินไป ต้องถามว่าความเหมาะสมคืออะไร ที่ผ่านมาก็ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับชมผ่านการถ่ายทอดมาตลอด 6 วัน จึงต้องถามประชาชนด้วยว่ามากเกินไปหรือไม่ ฟุ่มเฟือยเกินไปหรือไม่
ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีการเร่งรีบรวบรัดจากฝ่ายรัฐบาล ตามที่ฝ่ายค้านพยายามกล่าวหา แต่การกำหนดวันอภิปรายที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องกรรมาธิการและสภา ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ส่วนกำหนดการนำเข้าพิจารณาในวาระที่ 3 ที่เคยกำหนดไว้ในวันที่ 8 พ.ค.นั้น ก็เป็นการตกลงร่วมกันของวิปทั้ง 4 ฝ่าย แต่มาวันนี้ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว ส่วนจะสามารถพิจารณาในวาระที่ 3 วันใดนั้นคงยังตอบไม่ได้
“เราได้ทำตามที่ผู้นำฝ่ายค้านบอกให้ผู้แทน 4 ฝ่ายมาพูดคุยกันแล้ว หากมีข้อสรุปใดๆ ออกมา ฝ่ายค้านก็ควรรับฟังเหตุและผล ซึ่งหากผู้แทนไปพูดคุยกับสมาชิกในฝ่ายตัวเองได้ ก็คิดว่าการประชุมจะจบได้ ไม่ยืดเยื้อไปอีก”
ผู้สื่อข่าวถามว่า การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยืดเยื้อจะเป็นการเปิดช่องให้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้ามาในสมัยประชุมนี้หรือไม่ นายอุดมเดชกล่าวว่า ตรงนี้ก็อาจเป็นช่องทางหนึ่งได้ แต่ส่วนตัวยังไม่เห็นร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว การยืดเยื้อที่เกิดขึ้นต้องไปถามฝ่ายค้านว่ามีเจตนาอะไรหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ต้องฝากเตือน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลด้วยว่า อย่าไปโต้เถียงในที่ประชุมเพื่อเอาชนะ ต้องฟังเสียงจากประชาชนที่รับฟังมากกว่าว่าประชาชนอยากให้เป็นอย่างไร การอภิปรายที่เยิ่นเย้อเหมือนอยู่ในวาระที่ 1 ก็อยู่ที่ผู้ทำหน้าที่ประธานจะเป็นผู้ตักเตือนไม่ให้เรื่องออกไปไกล แต่ก็น่าเห็นใจตัวประธาน ที่ตอนนี้ดูเหมือนว่าสมาชิกจะให้ความเคารพน้อยลง