“อภิสิทธิ์” เตือนอันตรายล็อกสเปก ส.ส.ร.สร้างปมเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหารก้าวล่วงลูกตุลาการ องค์กรอิสระ ยัน ปชป.ไม่ขวางปรองดอง แต่ต้านล้างผิดคนโกง เชื่อสังคมมีพลังพอที่จะคัดค้าน บอกไม่อยากเชื่อ “ทักษิณ” ให้แม่ “กมลเกด” เสียสละ เพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นคดี แนะรัฐบาลเอาเรื่องชาวบ้านเดือดร้อนเป็นวาระดีกว่า
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ กล่าวถึงการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 2 ซึ่งพรรคเพื่อไทยระบุว่าจะไม่ตอบโต้ใดๆ ระหว่างที่ฝ่ายค้านอภิปรายว่า ที่จริงก็ไม่มีเรื่องอะไรที่ต้องตอบโต้ เพราะส.ส.ประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ในการแปรญัตติ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ระบบการเลือก ส.ส.ร.ที่เราต้องการให้หลากหลายเพื่อสะท้อนความเห็นของคนทุกกลุ่มในสังคมมากกว่าที่จะสะท้อนความเห็นของกลุ่มเสียงข้างมากในสภา จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้สิทธิ โดยคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากก็ต้องชี้แจงถึงเห็นผลที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ที่แปรญัตติว่าเพราะอะไร อย่างไร ที่ผ่านมารัฐบาลมีเป้าหมายเดียวคือ ทำให้เสร็จเร็วที่สุด ไม่ชี้แจง เร่งให้มีการลงมติ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการพิจารณาผ่านตามร่างของคณะกรรมาธิการฯ จะเกิดปัญหาอะไรขึ้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จะทำให้ ส.ส.ร.เป็นตัวสะท้อนกลุ่มคนที่มีอำนาจในปัจจุบัน ทั้งที่มาจากการเลือกตั้ง ที่พรรคการเมืองจะมีบทบาทที่มาของ ส.ส.ร. เพราะคณะกรรมาธิการฯ ไปเอากฏหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมาใช้ ที่ไม่ได้ห้ามผู้สมัคร ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง ยังไม่รวมถึง ส.ส.ร.ที่มาจากผู้เชี่ยวชาญก็ถูกเลือกโดยรัฐสภาที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากเกือบเกินครึ่งอยู่แล้ว จึงเท่ากับว่าเรากำลังปล่อยให้เสียงข้างมากเขียนกติกากฎหมายสูงสุดของประเทศได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากใช้กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมาเลือก ส.ส.ร. เท่ากับพรรคการเมืองจะส่งคนสมัครรับเลือกตั้งได้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า แม้กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้ห้าม และเคยสอบถามคณะกรรมาธิการฯ มาแล้วว่าส่งได้ แม้ไม่ใช่เจตนา ดังนั้น ถ้าไม่ใช่เจตนาก็ควรที่จะแก้ไขไม่ให้พรรคการเมืองส่งคนของตนลง ส.ส.ร.ได้ ก็ต้องแก้ไข เมื่อถามย้ำว่าหากพรรคการเมืองส่ง ส.ส.ร.เข้าไปได้ รัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นจะส่งผลอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก็จะเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภา ทั้งที่ปกติในการเขียนกติกาก็ไม่ควรปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเขียน และถ้าเจตนาที่สะท้อนมาจากคำพูดและบันทึกเหตุผลของร่างพรรคเพื่อไทยที่พยายามเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหารก้าวล่วงไปถึงองค์กรอิสระและฝ่ายตุลาการ มันไม่ใช่
ส่วนหากมีการเพิ่มอำนาจของฝ่ายบริหารโดยลิดรอนอำนาจส่วนอื่นมันจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มันก็ไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะประชาธิปไตยประกอบด้วยหลักที่มีการตรวจสอบ ถ่วงดุลก็จะเสียไปจากแนวทางที่จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ ซึ่งมีเวลาในการอภิปรายอีก 4-5 วันอยากให้คณะกรรมาธิการฯ ฟังเหตุและผลของเสียงข้างน้อยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของการสร้างความขัดแย้งหรือทำให้เสียดุลจากการตรวจสอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ระบุเองว่าใครขวางปรองดองก็ช่างแม่มัน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่มีใครขวางปรองดอง มีแต่คนที่ขวางการล้างผิดให้กับคนโกง ซึ่งตนคิดว่าสังคมจะต้องยึดเอาส่วนรวมเป็นหลัก จะมายึดเอาความต้องการของคนคนเดียวไม่ได้
ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณต้องการให้มารดาของ น.ส.กมลเกด อัคฮาด ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ เสียสละเพื่อส่วนรวม และยอมรับความปรองดองในสังคม นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่อยากจะเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กล้าที่จะพูดอย่างนี้กับครอบครัวที่สูญเสีย โดยเฉพาะกรณีของ น.ส.กมลเกด ที่เป็นอาสาสมัครที่มาช่วยดูแลผู้ชุมนุม คนเหล่านี้เสียสละไปแล้ว มีความสูญเสียไปแล้ว วันนี้เขาเพียงต้องการความเป็นธรรม ความจริง ซึ่งฝ่ายตนก็สนับสนุน แต่กลับกลายเป็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณทำเพียงเพื่อตัวเองจะได้หลุดพ้นจากคดีความต่างๆ ก็พยายามจะมาขอร้องคนอื่นให้ลืมสิ่งเหล่านี้ไป ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณจะต้องไปทบทวนตัวเองว่าทำไมถึงทำให้ความต้องการของตนเองอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง ทำให้มีคนต้องสูญเสีย บ้านเมืองต้องขัดแย้ง ประเทศสะดุดหยุดลง แทนที่จะปล่อยวางตรงนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณมีอำนาจเต็มที่แบบนี้ คิดว่าอะไรจะยับยั้งความต้องการได้หรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนคิดว่าสังคมจะมีความเข้มแข็งเพียงพอในการที่จะบอกว่าการกระทำแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราพึงกระทำกัน ที่จะปล่อยให้ความต้องการของคนคนเดียวที่อยากจะพ้นผิดจากการที่ถูกตัดสินว่าผิดมาบังคับให้ประเทศ หรือสังคมต้องเดินไป โดยไม่คำนึงถึงหลักการและความถูกต้อง เมื่อถามต่อว่า สุดท้ายแล้วการดำเนินการล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แบบไม่มีคดีติดตัว หลักกฎหมายสามารถทำได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้ ถ้าฟังจากฝ่ายรัฐบาลก็ดูจะพูดจาขัดแย้งกันเอง ตนก็ยังไม่ทราบว่ากฎหมายที่ออกมาจะเป็นในลักษณะไหน แต่ที่แน่ๆ มันไม่ใช่การปรองดอง
ส่วนที่มีการเสนอให้พรรคการเมืองขนาดกลาง หรือพรรคเล็ก หรือคณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เป็นผู้เสนอ พ.ร.บ.ปรองดองแทนรัฐบาลนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วจะออกมาในรูปแบบใด แต่ขอย้ำว่าเรื่องปรองดองไม่มีใครมีปัญหา แต่เรื่องการล้างผิดให้กับคนโกงมันเป็นประเด็นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ไม่ควรนำทั้งสองเรื่องมาปนกัน เมื่อถามว่า หน่วยงานที่สังคมมองว่าเป็นกลางอย่าง คอป.ควรจะวางบทบาทอย่างไร ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คอป.มีหน้าที่ในการที่จะสรุปและทำรายงานถึงรัฐบาล จริงๆ คอป.เหลือเวลาทำงานอีก 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งก็ต้องไปถาม คอป.ว่าทำไมถึงปล่อยให้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ มาบอกได้ว่า คอป.คิดอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่าสุดท้าย คอป.จะถูกใช้เป็นเครื่องมืออย่างกรณีสถาบันพระปกเกล้าหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องให้ คอป.เป็นผู้ชี้แจง ซึ่งตนหวังว่า คอป.จะดำรงความเป็นอิสระและความเป็นกลางตามเจตนารมณ์ที่ได้มีการตั้งเอาไว้ แต่ถ้า คอป.ไม่ยึดหลักความเป็นกลาง ไม่เป็นอิสระ ไปจำนนโอนอ่อนต่อผู้มีอำนาจก็จะไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ ความปรองดองก็จะไม่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับสถาบันพระปกเกล้าที่วันนี้ก็ควรจะยืนยันตามแถลงการณ์เดิม
ส่วนที่ขณะนี้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กำหนดท่าทีที่จะเคลื่อนไหว จะไปสอดคล้องกับที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองหลังสงกรานต์จะมีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ควรจะมีความรุนแรง ถ้ารัฐบาลจะใช้แนวทางการเดินหน้า ก็ควรเอาเรื่องของประชาชนเป็นตัวตั้ง แต่ถ้าไปเอา พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามาเรื่องก็จบไม่มีความขัดแย้งอะไร
เมื่อถามย้ำว่า รัฐบาลประเมินว่าเสียงต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีพลังมากพอที่คัดค้านได้ นายอภสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ส่วนตัวคิดว่าถ้ารัฐบาลคิดว่าจะสร้างความขัดแย้งเพื่อประโยชน์ของคนเพียงคนเดียวได้ ก็คิดผิด มันจะย้อนรอยกลับไปที่เริ่มความขัดแย้งจากฝ่ายการเมืองลุกลามไปสู่สังคมอีก ทุกฝ่ายควรทำหน้าที่ของตนเองให้ดีโดยคิดถึงประโยชน์ของส่วนรวม ถ้าสภาไม่สามารถหาคำตอบได้ด้วยเหตุและผล แต่ใช้เสียงข้างมากจะทำให้คนไม่เชื่อมั่นในระบบ เพราะจะเป็นตัวทำลายความศรัทธาที่คนจะมีต่อตัวระบบ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย และก็ไม่แปลกที่พรรคทำหน้าที่ตรสจสอบและถูกโดดเดี่ยว เพราะการทำหน้าที่ฝ่ายค้านของพรรคในหลายยุคสมัยก็เป็นอย่างนี้มา โดยยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในการปกป้องประโยชน์ของส่วนรวม และขอให้ประชาชนติดตามว่าใครทำอะไร อย่างไรในสภา และทำเพื่อใคร