xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“แม้ว”ดันทุรัง “ปรองดอง”เพื่อตัวเอง -นับถอยหลังวันแตกหัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นที่แน่นอนแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เลือกที่จะใช้วิธีการหักดิบออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเองพ้นจากความผิด โดยใช้วาทกรรม “ปรองดอง”บังหน้า และอ้างว่าทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์เหมือนกันหมด ภายใต้แผนปรองดองที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่

กระบวนการออกกฎหมายนิรโทษกรรมตามแผนการลบล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้น มีแนวทาง “การสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ที่ได้จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร (กรรมาธิการฯ ปรองดอง) ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นประธาน

แม้ว่า จะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายถึงผลการศึกษาดังกล่าว โดยเฉพาะจากภาคประชาชนที่เคยต่อต้านระบอบทักษิณมาก่อน ที่เห็นว่าควรจะให้การพิจารณาคดีไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายไหนดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป ไม่ต้องมีการนิรโทษกรรมให้ใครทั้งสิ้น

ส่วนพรรคฝ่ายค้าน โดยพรรคประชาธิปัตย์ ได้ท้า พ.ต.ท.ทักษิณว่า หากต้องการสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง ต้องยกเว้นการนิโทรกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงผู้รับผิดชอบการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2552 และ 2553

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการขานรับจากฝ่ายพรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยคนของพรรคเพื่อไทยบางคนอ้างเหตุผลว่า การออกกฎหมายต้องบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่สามารถยกเว้นให้ใครได้ ซึ่งโดยนัยก็คือ จะต้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประโยชน์จากการนิรโทษกรรมด้วยนั่นเอง

นอกจากนั้นยังมีเสียงจากฝ่ายผู้สูญเสียจากความขัดแย้งทางการเมือง อย่างนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตในปฏิบัติการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมของคนเสื้อแดง เมื่อคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 พร้อมกับทหารรวม 6 นาย ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการเดินหน้าแผนปรองดอง หากยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าใครเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด แม้ว่าโดนส่วนตัวจะเห็นด้วยกับการให้อภัย แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำผิดจะอภัยให้ใคร และคนที่ทำผิดนั้นรู้ตัวเองหรือไม่

ขณะที่ สถาบันพระปกเกล้าที่เป็นผู้ทำรายงานการวิจัยแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติตามที่ได้รับมอบหมายจากกรรมาธิการฯ ปรองดอง ที่เห็นว่าควรจะยืดระยะเวลาการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนให้ทั่วถึงก่อน โดยการเปิดเวทีเสวนาในวงกว้าง และห้ามนำงานวิจัยชิ้นนี้ไปใช้เพื่อผลทางการเมือง

นอกจากนี้ยังเห็นว่า กรรมาธิการฯ ปรองดองที่มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยเป็นกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ ได้บิดเบือนรายงานของสถาบันพระปกเกล้า โดยพยายามสรุปแบบรวดรัดว่า งานวิจัยเสนอให้มีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้แก่ทุกฝ่าย และให้ยกเลิกผลทางการกฎหมายของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.)โดยทันที ทั้งที่งานวิจัยได้เสนอให้ทำเป็นขั้นเป็นตอน

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยได้ใช้เสียงส่วนใหญ่ ลากรายงานแนวทางการสร้างการปรองดองแห่งชาติตามที่กรรมาธิการฯ ปรองดองเสนอ ให้ผ่านการรับรองของสภาได้ เมื่อคืนวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา

หลังจากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า จะยังไม่นำรายงานดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และจะให้นายงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป. ) ไปศึกษาก่อน

แต่แล้วเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกกับนักข่าวว่า ครม. ได้พิจารณาวาระทราบจร เรื่องที่ 9 รับทราบรายงานคณะกรรมาธิการฯ ปรองดองแล้ว โดยเป็นการนำเสนอเอกสารรายงานที่กรรมาธิการฯ ได้ให้ทีมงานวิจัยสถาบันพระปกเกล้าไปศึกษา และกรรมาธิการฯ ได้นำรายงานดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา และมีมติให้ส่งรายงานดังกล่าวให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป

หลังจากนั้น นักการเมืองในเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่างก็อออกมาขานรับสร้างกระแสให้กระบวนการปรองดองเพื่อทักษิณเดินหน้าต่อไปได้

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ได้กล่าวถึงการดำเนินการเกี่ยวกับรายงานของกรรมาธิการฯ ปรองดองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ตั้งธงไว้ว่าจะต้องเสร็จเมื่อไหร่ แต่หลังสงกรานต์ตนในฐานะประธาน ปคอป.จะเรียกประชุม เพื่อขอมติจากที่ประชุมว่า รัฐบาลควรจะเดินหน้าเองหรือส่งกลับให้สภาฯ พิจารณาต่อไป ซึ่งภายในเดือนเมษายนนี้จะมีคำตอบที่ชัดเจน และเรื่องที่ ปคอป.ทำจะไม่ชนกับการเสนอ พ.ร.บ.ปรองดองที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ดำเนินการอยู่

ส่วนนายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พยายามทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแผนการสร้างความปรองดองของรัฐบาล โดยบอกว่า แนวทางการสร้างความปรองดองในขณะนี้เหมือนกับการตบมือข้างเดียว จึงได้กำชับลูกหลานทุกคนว่า การปรองดองไม่ใช่เฉพาะในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียว หากในสภาฯ ยังพูดไม่รู้เรื่อง ไม่อยากปรองดองกัน ก็ไม่รู้ว่าจะว่าอย่างไร แต่นโยบายปรองดองนั้นต้องมีเพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย อยู่ด้วยกันเหมือนพี่น้องกันจริงๆ แต่ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดงที่ได้รับการปูนบำเหน็จให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการออก พ.ร.บ.ปรองดองว่า เป็นหน้าที่ของรัฐสภาหรือรัฐบาลว่า เมื่อขั้นตอนตั้งต้นจากสภา บทบาทนี้น่าจะเป็นสภาเป็นหลัก แต่รัฐบาลก็มีหน้าที่พิจารณาในกรณีนี้โดยรอบคอบ เพราะการสร้างความปรองดองถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่ตนเห็นว่าในเมื่อสภาตั้งต้นมาก็น่าจะให้สภาว่ากันไปก่อน

นายณัฐวุฒิอ้างว่า 5-6 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองเสียหายอย่างมหาศาลเราเลยอยากให้เกิดรูปธรรมของการปรองดองขึ้นเร็ว ถือว่าไม่ช้า และของรัฐบาลก็มีความคืบหน้า เช่นเรื่องการเยียวยาผู้บาดเจ็บล้มตาย รวมทั้งการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญ ในการนำมาประกอบร่วมกันเป็นการปรองดองของประเทศ

ขณะที่ นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวยืนยันว่า จะเดินหน้าเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือร่าง พ.ร.บ.ปรองดองอย่างแน่นอน โดยอ้างว่าเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ซึ่งตนกำลังรวบรวมรายชื่อ ส.ส. และระดมความคิดกันอยู่ คาดว่าจะยื่นต่อสภาทันสมัยประชุมนี้ เพราะเรื่องนี้รอช้าไม่ได้ อยากให้มีการลงมือทำไปก่อน ผลออกมาอย่างไรค่อยมาทบทวนกัน

นายประชายังอ้างอีกว่า มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังขวางการปรองดอง จิตตกคิดวนเวียนอยู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณ กินไม่ได้นอนไม่หลับ กลัว พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับมา ทำตัวเป็นพวกขี้แพ้ชวนตี ไม่ฟังเสียงข้างมาก

ส่วนทางพรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ก็ระบุว่ารัฐบาลมีท่าทีละเลยข้อเสนอที่จะนำไปสู่ความปรองดองอย่างแท้จริง พยายามหยิบฉวยข้อเสนอบางประเด็นไปบังหน้า โดยเลือกข้อเสนอบางข้อแต่ไม่ใช้ข้อเสนอบางข้อของสถาบันพระปกเกล้าโดยเฉพาะการขอให้ชะลอการสรุปผลการพิจารณาแนวทางปรองดอง และแนวคิดสานเสวนาเพื่อให้เกิดความปรองดอง

นายเทพไทย้ำว่า การที่พรรคเพื่อไทยไม่รับคำท้า ให้ยกเว้นการนิรโทษให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยปล่อยให้สถาบันตุลาการทำการตรวจสอบให้ชัดเจน เท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นว่าการเสนอนิรโทษกรรมต้องการทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณคนเดียว

การดันทุรังเดินหน้าแนวทางปรองดองโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ตัวเองพ้นจากความผิด ช่วยตอกย้ำว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังคงเป็น พ.ต.ท.ทักษิณคนเดิมที่มีแต่ความตะกละเห็นแก่ได้อย่างไม่สิ้นสุด และไม่เคยยอมรับว่าตัวเองทำผิดแม้แต่น้อย

ยิ่งในขณะนี้ มีน้องสาวเป็นนายกรัฐมนตรี คุมอำนาจด้านบริหารของประเทศ มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่คุมเสียงข้างมากในสภาเป็นแขนขาทำงานด้านนิติบัญญัติ และยังมีคนเสื้อแดงเป็นฐานมวลชนให้ตามเดิม ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงเหิมเกริม ใช้กระบวนการทางการบริหารและนิติบัญญัติเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองอย่างโจ๋งครึ่ม ไม่ละอายต่อหน้าอินทร์หน้าพรม ซึ่งนั่น จะนำไปสู่การแตกหักทางการเมืองในไม่ช้า 
กำลังโหลดความคิดเห็น