สภาถกรายงาน กมธ.ปรองดอง ปชป.โวยลัดคิวข้ามวาระอื่นแฝงเพื่อประโยชน์ใครบางคน “เจริญ” โยนเป็นอำนาจ ปธ.สภาบรรจุได้ “บิ๊กบัง” นำทีมอ้างต้องรีบปรองดองโดยเร็วที่สุด เหตุชาติเสียหายจากความแตกแยกขั้นสูงสุด “มาร์ค” แนะทำตามข้อเสนอสภาสถาบันพระปกเกล้าจัดสานเสวนาหาจุดร่วมกันทุกฝ่าย
วันนี้ (4 เม.ย.) เมื่อเวลา 17.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญนิติบัญัติ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนฯคนที่หนึ่ง เป็นประธานประชุมพิจารณาเรื่องที่กรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว เรื่องรับทราบ รายงานของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยก่อนเข้าวาระ นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ พยายามจะขอหารือที่ประชุม แต่นายเจริญก็ตัดหน้าด้วยการแจ้งระเบียบวาระดังกล่าวก่อนที่ นพ.สุกิจจะได้หารือ โดยได้ติงถึงเกณฑ์การบรรจุวาระประชุมว่า กมธ.ชุดใดเสนอเรื่องมาก่อนก็ควรได้รับการบรรจุก่อน แต่ตามระเบียบวาระดังกล่าวกลับได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระก่อน นายเจริญชี้แจงว่า ตามข้อบังคับการบรรจุระเบียบวาระเป็นอำนาจและดุลพินิจของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ทำให้ นพ.สุกิจกล่าวว่า ฟังชี้แจงแล้วไม่ได้รับคำตอบ หรือคิดว่าถ้าเป็นประโยชน์กับรัฐบาลหรือใครบางคนก็บรรจุก่อนอย่างนั้นหรือไม่ แต่นายเจริญตัดบทพิจารณาต่อโดยแจ้งมีการถ่ายทอดช่อง 11 และวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยตลอดการอภิปรายจนจบวาระ
จากนั้น พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคมาตุภูมิ ในฐานะประธานกมธ. ได้นำเสนอรายงานดังกล่าวว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบ ความรุนแรงในประเทศอันนำมาสู่ความสูญเสียอย่างประมาณค่ามิได้ ทำให้สังคมไทยที่เคยมีแต่ความรักสามัคคี มีคุณธรรม กลายเป็นสังคมที่มีแต่การเอาชนะ ความหวาดระแวง กระทบเศรษฐกิจ เป็นภยันอันตรายต่อความเป็นชาติ เพราะปัญหาร้าวลึกมานานยากที่หน่วยงานใดจะแก้โดยลำพังได้ ด้วยเป็นปัญหาความขัดแย้งทางความคิด จากการศึกษาของ กมธ.พบว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายต่อประเทศในขั้นสูงสุด ทำให้ประเทศขาดความมั่นคง จำเป็นที่ประเทศไทยต้องเข้าสู่กระบวนการปรองดองให้เร็วที่สุด ปัจจัยสำคัญที่นำพาชาติก้าวข้ามความขัดแย้งครั้งนี้ไปสู่การปรองดอง คือการใช้หลักเมตตาธรรม ให้อภัยซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานหลักนิติธรรม ด้วยการคืนความถูกต้องชอบธรรมให้ทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง ตามที่นานาประเทศใช้เป็นเครื่องมือยุติความขัดแย้ง จะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายและเป็นหนทางสู่ความปรองดองในที่สุด
“กมธ.เรียกร้องให้ทุกฝ่ายสร้างบรรยากาศปรองดอง ระมัดระวังไม่กระทำการใดๆ ที่กระทบกระเทือนปรองดองประเทศ ทุกฝ่ายต้องอยู่ในกรอบสันติวิธี เคารพความเห็นต่างๆ การสร้างความปรองดองจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อให้สังคมไทยกลับคืนสู่ความสงบ รู้รักสามัคคี เมตตาธรรม และพร้อมให้อภัยซึ่งกันและกัน เพื่อความผาสุกความเจริญของชาติต่อไป โดยกมธ.ได้พิจารณาศึกษาเสร็จแล้ว จึงเสนอให้สภาฯพิจารณา โดยมุ่งหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากสภาช่วยหาแนวทางสร้างความปรองดอง เพื่อเสนอเป็นแนวทางในการสร้างความปรองดองต่อไป” พล.อ.สนธิกล่าว
จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็น โดยสมาชิกฝ่ายค้านได้พยายามเสนอให้สภาชะลอการพิจารณารายงานของกรรมาธิการออกไป โดยหยิบยกแถลงการณ์ของคณะกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้าฉบับล่าสุด ที่ยืนยันว่างานวิจัยของสถาบันไม่ถือเป็นข้อสรุป หรือข้อเสนอแนะให้กรรมาธิการนำไปดำเนินการ และยังเสนอให้สภาเพียงรับหลักการของรายงานกมธ.ดังกล่าวไว้ แล้วขยายเวลาสมัยประชุมสภาออกไป จัดให้มีสานเสวนาระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อน ตามข้อเสนอของสภาสถาบัน
เริ่มจากนายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้อ่านแถลงการณ์ทั้งฉบับของสภาสถาบันพระปกเกล้าต่อที่ประชุม เพื่อยืนยันถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของสภาสถาบัน แต่นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ในฐานะเลขานุการกรรมาธิการปรองดอง ชี้แจงว่า กมธ.ไม่อยากใช้เสียงข้างมากลากไป จึงดำริให้หาสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือมาดำเนินการ และเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง พร้อมกับลงมติ ตนได้อ่านข้อสังเกตของกรรมการสภาสถาบัน รู้สึกยินดีที่ระบุว่าสถาบันยินดีและเป็นเกียรติ และจะอนุมัติให้คณะทำงานได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพราะเป็นปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมือง และยังมีข้อความตอนหนึ่งว่า เมื่อมีการทักท้วงและวิพากษ์วิจารณ์ สถาบันก็ต้องลงไปตรวจสอบ และพบว่ากระบวนการศึกษาวิจัยมีความถูกต้องตามหลักวิชาการ และผู้วิจัยทำตามหลักเสรีภาพทางวิชาการ ส่วนกรณีที่มีหนังสือแถลงจุดยืนต่อ กมธ.ว่าการรวบรัดใช้เสียงข้างมากโดยไม่ฟังข้อเสนอแนะจะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ ขอเรียนว่า กมธ.ซีกรัฐบาลไม่เคยมีความคิดใช้เสียงข้างมาก เราเคารพในงานวิจัย เมื่อรายงานฉบับสมบูรณ์ส่งมอบแล้วก็เป็นภาคส่วนหนึ่งของ กมธ. เพราะจะมีภาคผนวกอื่นอีก เช่น การแก้ปัญหาภาคใต้ การวิจัยในส่วนภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ และฝ่ายความมั่นคง
ด้าน นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ แย้งว่า กมธ.ต้องอ่านถ้อยคำของสภาสถาบันฯ ให้ครบ อย่าเลือกหยิบแต่ข้อความที่เป็นประโยชน์ หรือสอดคล้องกับหัวใจตนเอง แต่ส่วนที่ไม่สอดคล้องกลับไม่อ่าน มิเช่นนั้นความปรองดองจะไม่เกิดขึ้น
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ขอใช้สิทธิในฐานะหนึ่งในกรรมการสถาบันพระปกเกล้า อภิปรายว่า การประชุมของสภาสถาบัน กรรมการล้วนห่วงใยเรื่องการใช้งานวิจัยของคณะวิจัยที่ทำขึ้นตามคำร้องขอของ กมธ. จะไปใช้อ้างอิงในส่วนที่บิดเบือน ส่วนที่นายชวลิตกล่าวว่า สบายใจที่เห็นว่ามีการนำข้อท้วงติงทุกฝ่ายมาตรวจสอบและปรับปรุงบางอย่าง แต่ต้องอ่านให้ครบว่าทางสภาสถาบันยืนยันว่าอะไร โดยเฉพาะข้อที่ว่า ปัจจุบันบรรยากาศการปรองดองยังไม่เกิด หลายฝ่ายยังมีความเห็นขัดแย้ง จึงเสนอให้มีการสร้างบรรยากาศการปรองดองทั้งระดับบนคือฝ่ายการเมือง และระดับล่างคือฝ่ายประชาชน ด้วยการจัดให้มีการพูดคุยหาทางออกร่วมกันจนมีฉันทามติที่เหมาะสม เพื่อนำประเด็นไปหาทางออกร่วมกัน คณะกรรมการห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่จะนำไปดำเนินการแต่อย่างใด แต่รายงานของ กมธ.ที่เสนอเข้ามาในสภาวันนี้ ไม่ตรงกับสิ่งที่คณะวิจัยยืนยัน จึงมีคำแถลงการณ์ออกมา โดยเสนอให้สภารับทราบรายงาน กมธ.ในชั้นหนึ่งก่อน และขยายเวลาประชุมออกไป เพื่อหาทางออกอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นข้อสรุปและจุดยืนที่สะท้อนออกมาของกรรมการสถาบัน เพราะหลายคนวิตกกังวลว่าชื่อเสียงจะได้รับผลกระทบ หากมีการนำไปดำเนินการทางการเมืองที่มีผลจากการอ้างอิงไม่ถูกต้อง ดังนั้น ตนขอถามประธาน กมธ.ว่าจะดำเนินการตามข้อเสนอของคณะผู้วิจัยและสถาบันพระปกเกล้าหรือไม่
นายพีรพันธุ์ พาลุสุข กมธ.ปรองดอง กล่าวว่า กรรมาธิการได้รับทราบรายงานของสถาบันและมีหลายเรื่องที่ได้พูดคุยกัน แต่ยังไม่ได้เป็นข้อสรุปออกมา จึงอาจจะมีการนำไปพุดคุยกันในที่ประชุม ซึ่ง กมธ.มีหน้าที่ที่จะเอาความเห็นงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้ามาศึกษา และเมื่อได้ผลการศึกษามาแล้วรายงานของ กมธ.ปรองดองเราก็ไปศึกษามาแล้ว ตามโจทย์และกรอบเวลาที่ให้ไป ก็ต้องส่งรายงานมายังสภาฯ เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นอย่างไร
“ผมแปลกใจว่าสถาบันพระปกเกล้ารู้ล่วงหน้าได้อยางไรว่า สภาฯ จะมีมติอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งที่ไม่มีเลย มาบอกว่าอย่าอ้างอิงตอนใดตอนหนึ่ง ท่านอาจวิตกไป ส่วนที่แนะนำให้ขยายเวลาออกไป ให้ไปจัดเสวนาก่อน นั่นก็ถือเป็นข้อเสนอ พวกผมไปทำเองไม่ได้ จนกว่าพวกท่านทั้งหลายสภาฯ บอกว่าเห็นด้วย แล้วค่อยไปดำเนินการกันต่อ สิ่งที่วิตกเป็นเรื่องที่ท่านจินตนาการกันเอง มันยังไม่เกิด เมื่อสภาฯ มีมติอย่างไรแล้วนั่นจึงเป็นเรื่องที่เราต้องร่วมกันต่อไปว่าจะเห็นด้วยกับรายงานของ กมธ.ปรองดอง หรือรายงานของสถาบันพระปกเกล้า ไม่ใช่ว่าเราจะไปทำตามที่ท่านเสนอก่อนไมได้” นายพีรพันธุ์กล่าว
ด้าน นายอภิสิทธิ์ชี้แจงอีกครั้งว่า สภาสถาบันพระปกเกล้าก็มีข้อเสนอในแถลงการณ์ชัดเจนว่าให้ไปทำเสวนาในการเปิดเวทีและเขายินดีให้ความร่วมมือ ไม่ได้บอกล่วงหน้าว่าสภาฯ จะมีมติอย่างไร แต่บอกว่าถ้าเห็นสอดคล้องกับที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอเท่านั้น และหากสภาฯ จะมีมติที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไปดำเนินการไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ก็จะขอถอนรายงานกลับคืนมาเท่านั้น วันนี้ประธาน กมธ.ปรองดองก็ช่วยตอบว่าแนวคิดคืออะไร จะยึดตามแนวทางข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าหรือไม่ อยากให้ชี้แจงเพื่อสังคมได้รับรู้ว่า หากท่านจะดำเนินการล้มคดี คตส. หรือการนิรโทษกรรม ซึ่งหากทำอย่างนั้นก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะไปอ้างรายงานการวิจัยก็เท่านั้นเอง เพราะในรายงานของกรรมาธิการมีหลายส่วนที่ไม่ชัดเจน เช่น ที่บอกว่ารีบไปทำให้เกิดรูปธรรมที่สุด แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าทำอะไร หรือระบุสั้นๆ ว่าเห็นด้วยกับสถาบันที่ให้มีการนิรโทษกรรม แต่สถาบันบอกว่าข้อเสนอแนะมีรายละเอียดมากกว่านั้น จึงเกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิดจากสังคม
ด้าน พล.อ.สนธิ ลุกขึ้นตอบเพียงสั้นๆ ว่า ตนเดินบนหลักการและวิถีทาง วันนี้การรายงานของ กมธ.ปรองดองเสร็จแล้ว และได้นำเรื่องส่งสภาฯ ซึ่งถือว่าการทำงานของตนสมบูรณ์ และจบสิ้นลงแล้ว ส่วนจะทำอย่างไรเป็นหน้าที่ของสภาฯ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นด้วยว่า เมื่อศึกษาเสร็จแล้วก็ต้องรายงานต่อสภา ส่วนสภาชิกจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นสิทธิ สภาจะมีความเห็นอย่างไร หรือ กรณีสภามีข้อสังเกตที่ต้องส่งไปยังองค์กรต่างๆ เพื่อให้ดำเนินการตามจึงจะเป็นหน้าที่ของสภา และในรายงานก็ไม่มีข้อเสนอแนะใดๆ ที่จะเป็นผลผูกพันที่นำไปสู่การปฏิบัติที่ขัดหรือแย้งกับข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า เพราะเพียงแต่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายตระหนัก และมาสร้างบรรยากาศการปรองดอง ซึ่งก็โยงไปที่รายงานที่ว่าให้มีสานเสวนา หรือหน่วยงานที่ใช้อำนาจรัฐต้องยึดหลักนิติธรรม ที่สำคัญเห็นด้วยกับแนวทางปรองดองที่เสนอโดยสถาบัน ที่มีมาตรการระยะสั้น ระยะยาว ส่วนข้อห่วงใยที่จะนำไป ต้องใช้สภาให้เป็นประโยชน์เพื่อความปรองดอง เชื่อว่าสมาชิกมีความรักชาติ จึงควรเปิดโอกาสให้แสดงความเห็น ส่วนจะมอบให้ใครไปดำเนินการอย่างไรเป็นความเห็นของสภา