xs
xsm
sm
md
lg

สภารับรายงานเถื่อนปรองดอง ล้างผิด“ทักษิณ”ใกล้ความจริง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

 ทักษิณ ชินวัตร
รถด่วนบนถนนสายปรองดองของทักษิณ ชินวัตรและรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คงไม่คิดเหยียบเบรคแน่นอน และมีแนวโน้มน่าจะจอดเข้าป้าย ที่สร้างเอาไว้หลายเดือนแล้วในไม่ช้า

หลังจากที่ประชุมรัฐสภามีมติเมื่อคืนวันอังคารที่ 27 มีนาคม 2555 เห็นชอบให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติหรือกมธ.ปรองดอง ที่มีพลเอกสนธิ บุญยกลิน เป็นประธานในการประชุมสภาผู้แทนราษฏรสมัยประชุมนิติบัญญัติรอบนี้ได้ ตามช่องทางมาตรา 136 (5) ของรัฐธรรมนูญ

เพราะสมัยนี้เป็นสมัยนิติบัญญัติ ไม่สามารถพิจารณารายงานของกรรมาธิการดังกล่าวได้ แต่บัดนี้มติของที่ประชุมรัฐสภา ที่พรรคร่วมรัฐบาลได้เสียงหนุนจากสมาชิกวุฒิสภาอีกจำนวนหนึ่งก็ทำให้เงื่อนไขที่ประตูสภาปิดถูกเปิดออก สมใจฝ่ายรัฐบาล

ส่วนตอนนี้กมธ.ปรองดองหลังจากคนจากพรรคประชาธิปัตย์9คนถอนตัวไม่ร่วมสังฆกรรม เหลือแต่ฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลเป็นตัวหลัก ส่วนพลเอกสนธิ แม้จะเป็นหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ที่เป็นฝ่ายค้าน แต่ก็คือ ตัวชูโรงของทักษิณเท่านั้น แม้จะมีกมธ.จากพรรคภูมิใจไทยอยู่ร่วมด้วย แต่ก็เป็นแค่ตัวประกอบเท่านั้น หาได้มีบทบาทอะไรในกมธ.ปรองดอง
 
 
จึงในวันนี้แก้ผ้าโล่งโจ้งให้สังคมเห็นกันทั้งสภาฯแล้วว่า กมธ.ปรองดอง ก็คือ เครื่องมือของทักษิณ และพรรคเพื่อไทยในการนำรายงานของกมธ.ปรองดองมาสร้างความชอบธรรมเพื่อออกกฎหมายนิรโทษกรรมหรือกฎหมายปรองดอง รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต

หลายคนคาดการกันไว้ว่า สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร คงบรรจุระเบียบวาระรายงานการพิจารณาเรื่องการสร้างความปรองดองแห่งชาติของกมธ.ปรองดองเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏรในไม่ช้า เพื่อให้ทันก่อนจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 18 เมษายนนี้

เพราะเมื่ออุตส่าห์ดันเรื่องไปให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเห็นชอบชนิดกว่าจะสำเร็จก็สะบักสะบอมกันไม่ใช่น้อยทั้งตัวสมศักดิ์ ประธานรัฐสภา -วิปรัฐบาล-พลเอกสนธิ บุญยกลิน -กมธ.ปรองดองจากเพื่อไทย
 

อย่างไรเสียก็ต้องแรงเครื่องเดินหน้าทำให้สำเร็จภารกิจก่อนปิดสภาฯให้ได้ ยกเว้นมีเหตุจำเป็นขัดข้องจริงๆ

แต่วิเคราะห์จากทิศทางการเมืองโดยรอบแล้ว ยากที่จะมีใครขัดขวางกระบวนการนำรายงานกมธ.ปรองดองในเรื่องการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่กมธ.จะลากข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าที่มีข้อเสนอหลากหลาย

แต่หลักๆก็คือ การให้ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายพิเศษหรือกฎหมายนิรโทษกรรมคดีชุมนุมทางการเมืองทุกกรณีที่เกิดขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการให้ทบทวนหรือการยกเลิกการสอบสวนคดีของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) เพื่อนำข้อเสนอทั้งหมดไปให้สภาฯถกเถียงและกำหนดท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา

จนสุดท้ายหากสภาฯประทับตราให้ความชอบธรรมกับแนวทางต่างๆ เช่นการยกเลิกคดีคตส.หรือการนิรโทษกรรมคดีการเมือง ก็จะเป็นเหตุผลอันชอบธรรมที่ฝ่ายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยนำไปเป็นเหตุผลในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในการประชุมสภาฯสมัยหน้า!

โดยความเป็นไปได้ที่สภาฯจะพิจารณารายงานของกมธ.ปรองดอง บ้างก็คาดว่าอาจจะเป็นวันที่ 4 เมษายนนี้ แต่บางคนก็วิเคราะห์ว่าสมศักดิ์ ประธานสภาฯ น่าจะบรรจุระเบียบวาระไว้พิจารณากันหลังสงกรานต์มากกว่า เพราะยังไงก็ยังทันก่อนปิดสภาฯแน่นอน

อันนี้ก็ต้องดูว่า “ค้อนปลอมตราดูไบ” จะรับใบสั่งจากทักษิณและแกนนำพรรคเพื่อไทย ให้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร แต่เมื่อประเมินจากคะแนนเสียงที่ประชุมรัฐสภาที่เห็นชอบให้สภาฯพิจารณารายงานกมธ.ปรองดองแล้ว แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลแทบไม่ต้องกังวลใดๆเลย
 
เรื่องจำนวนเสียงในสภาฯ จะทำอะไรก็ได้ ขอให้บอกแค่กดปุ่มสั่งการ เสียงในสภาฯ ฝั่งรัฐบาลก็พรึ่บโดยพร้อมเพียง

ยิ่งเรื่องนิรโทษกรรมเป็นแนวทางที่ทักษิณ-นายใหญ่เพื่อไทยจะได้ประโยชน์มากที่สุด แล้วมีหรือบรรดา ลูกหาบลิ่วล้อในสภาฯที่แม้จะเป็นส.ส.แต่ก็คือ พนักงานบริษัททักษิณ จะไม่รีบรับคำสั่งหากถูกกดปุ่มสั่งการให้ทำทุกทางเพื่อทำให้แผนปรองดองที่วางไว้สำเร็จโดยเร็ว ภายใต้การเริ่มต้นจากการทำให้กมธ.ปรองดองคือบันได้ขั้นแรกที่ทำไว้ในฝายนิติบัญญัติสำเร็จเสียก่อน พวกส.ส.เพื่อไทยก็ต้องรีบทำให้ทักษิณแน่นอน

เพราะแม้วันนี้ ตัวหลักของกมธ.ปรองดองที่ไม่ใช่พวกประชาธิปัตย์ ไล่ตั้งแต่พลเอกสนธิ-วัฒนา เมืองสุข-ชวลิต วิชยสุทธิ์ จะพยายามปฏิเสธว่า คนอ่านรายงานของสถาบันพระปกเกล้าไม่แตกฉาน เลือกเอาแต่ประเด็นที่เห็นว่าเป็นประเด็นการเมืองโยงไปถึงทักษิณ ชินวัตรมาดิสเครดิตกมธ.ปรองดองว่าทำเพื่อทักษิณ ชินวัตร โดยมุ่งเน้นการชี้แจงประเด็นเรื่องล้มคดีคตส.เป็นหลักว่า ไม่ใช่แนวทางที่เป็นมติของกมธ.ยังต้องให้สภาฯช่วยพิจารณาอีกที แต่ก็บอกว่าหากสุดท้าย สภาฯเอาด้วยกับการทบทวนคดีคตส.ถ้าเป็นเสียงส่วนใหญ่ของสภาฯ ทางกมธ.ปรองดองก็คงทำอะไรไม่ได้

ดังนั้น หากรายงานกมธ.ปรองดองที่จะนำข้อเสนอทั้งฉบับเต็มและฉบับย่อของสถาบันพระปกเกล้า ไปถกกันในสภาฯ เมื่อพิจารณาถึงข้อเสนอให้ทบทวนการสอบสวนคดีทุจริตของคตส. ก็ต้องดูว่า ท่าทีของส.ส.เพื่อไทยส่วนใหญ่รวมถึงพวกส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลหรือแม้แต่พรรคฝ่ายค้านอย่างภูมิใจไทย จะมีท่าทีอย่างไร

เพราะล่าสุดก็มีข่าวปรากฏออกมาว่าระหว่างการประชุมของคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฏร ที่ประชุมกันเมื่อ 28 มีนาคมที่ผ่านมา กรรมาธิการได้หารือกันเรื่องรายงานวิจัยเรื่องแนวทางการสร้างความปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า

วันดังกล่าว นิยม รัฐอมฤต หนึ่งในทีมคณะวิจัยของพระปกเกล้า เข้าชี้แจงกับกรรมาธิการตอนหนึ่งว่าเรื่องข้อเสนอให้มีการโละคดีคตส.เพราะเห็นว่าในเมื่อเราจะสร้างความปรองดองแม้ว่าคตส.จะถูกตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามผู้มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้น แต่ก็ถือว่าไม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ถ้าจะสร้างความปรองดองต้องมองถึงความชอบธรรมไว้ด้วยซึ่งเราสามารถใช้กระบวนการตามปกติของกฎหมายในการพิจารณาคดีได้เช่นกัน

“แนวทางเลือกที่เราเสนอเพราะเห็นว่าสังคมยังไม่ลงรอยกันอยู่ ซึ่งถ้ามีสิ่งใดสามารถปรับเปลี่ยนความเสียหายได้ก็ควรทำ ไม่ใช่มาคงกฎเกณฑ์ทั้งที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ซึ่งเราก็แค่เสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นไม่ใช่การออกแบบใหม่ แนวทางการสร้างความปรองดองคงไม่ไกลจากที่เรานำเสนอมากนัก”

“ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ”พิจารณาจากคำชี้แจงของตัวแทนผู้ทำวิจัยดังกล่าว ก็จะพบว่า ก็ไม่ได้มีการปฏิเสธว่าข้อเสนอให้ล้มคดีคตส. คือหนึ่งในทางเลือกที่ทีมวิจัยเห็นว่าจะช่วยทำให้เกิดความปรองดองได้ อันเป็นแนวคิดที่ทีมวิจัยได้มองข้ามหลายเรื่องสำคัญไปอย่างไม่น่าเชื่อ

ทั้งเรื่องหลักว่า แล้วหากคดีความต่างๆ มีการสอบสวนจนได้ข้อยุติไปแล้ว มีการส่งเรื่องจากคตส.ไปถึงอัยการ จนส่งฟ้องศาลไปแล้ว ศาลประทับรับฟ้องแล้ว แม้จะมีหลายคดีศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราวเพราะจำเลยในคดีเช่นทักษิณ ชินวัตร หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ

แต่ก็มีบางคดีเช่นคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน คดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ คดีก็ยุติสิ้นสุดไปแล้ว

แล้วข้อเสนอของพระปกเกล้าที่ให้ทุกอย่างกลายเป็นศูนย์ หรือแม้ไม่ถึงกับเป็นโมฆะ แต่ให้ทบทวนกระบวนการคดีความกันใหม่ ทางทีมวิจัยได้ละเลยข้อเท็จจริงในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น -การใช้อำนาจทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง-การทำผิดกฎหมายหลายกรรมหลายวาระ ที่มีการสอบสวนจนมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลและศาลตัดสินออกมาแล้วได้อย่างไร

หากต่อไปในอนาคต นักการเมือง-พรรคการเมืองทำผิดกฎหมาย ทุจริตคอรัปชั่น แล้วกำลังจะถูกสอบสวนดำเนินคดี ก็ใช้วิธีเสนอญัตติให้สภาฯมีมติตั้งกรรมาธิการไปศึกษาอะไรมาแล้วก็สรุปผลบอกว่า ให้ลืมๆ กันไป เรื่องผ่านไปแล้ว ไม่ต้องทำอะไรกัน ให้นิรโทษกรรมกันไป

แล้วแบบนี้ กฎหมายบ้านเมือง จะมีไว้เพื่ออะไร

เพราะการคิดไม่รอบด้าน ทำงานวิจัยเชิงวิชาการแบบเอาวัตถุประสงค์คือต้องการสร้างความปรองดองตั้งธงไว้ก่อน แล้วหาวิธีการทั้งทางการเมืองและกฎหมายมารองรับธงที่ตั้งไว้ โดยไม่สนใจว่าผลข้างเคียงจะเป็นอย่างไร สังคมเห็นด้วยหรือไม่ จึงทำให้รายงานของพระปกเกล้า ถูกสับเละไม่เป็นชิ้นดี เพราะโจทย์กับกระบวนการหาคำตอบมันไม่สัมพันธ์กัน

มันก็เหมือนกับคำกล่าวที่ผู้คนพูดกันทั่วไปว่า กรัดกระดุมผิดเม็ดแรก เสื้อที่ใส่ก็ติดกระดุมผิดหมดทั้งตัว

เมื่อทั้งกมธ.ปรองดอง-ทีมวิจัยพระปกเกล้า ตอกเสาเข็มปรองดองผิดตั้งแต่เริ่มแรก ผลที่ออกมาเลยเป็นอย่างที่เห็น โครงสร้างปรองดองของกมธ.และสถาบันพระปกเกล้า เลยง่อนแง่น จะล้มครืนหลายรอบ หรือถึงไม่ล้ม แต่สังคมก็ไม่ยอมรับ

เพราะมันเห็นชัดว่า สิ่งที่กมธ.ปรองดองคิดและทำ จนกำลังจะคลอด รายงานกมธ.ปรองดองออกมา แท้ที่จริงแล้วมันคือ

รายงานเถื่อน
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
สมศักดิ์ เกียรติสุรนน์
กำลังโหลดความคิดเห็น