ประธานวิปรัฐบาล เผย ที่ประชุม ถกรายงาน กมธ.ปรองดอง ซัดซีก ประชาธิปัตย์ลาออกไม่อยากปรองดองชัด ด้าน “ชวลิต” อ้างรีบดันเข้าสภาฯไม่อยากดองงานไปอีก 3 เดือน เชื่อยังออก พ.ร.บ.ไม่ได้ง่าย
วันนี้ (26 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล การประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) โดย นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาลทำหน้าที่ประธานการประชุม พร้อมเปิดเผยผลการประชุม ว่า การประชุมวันนี้เพื่อพิจารณาวาระกฎหมายที่จะเข้าสู่การพิจารณาร่วม 2 สภาฯ ในวันที่ 27 มี.ค.เกี่ยวกับกฎหมายตามมาตรา 190 ที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ประเด็นที่พูดถึงกันมาก คือ รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ที่จะต้องขออนุญาตจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา ให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม หากเรื่องเข้าสู่กระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะมีหน้าที่เพียงรับทราบและมีความเห็นว่าจะเสนอต่อรัฐบาลหรือไม่ จะไม่มีการพิจารณารายละเอียดที่คณะกรรมาธิการทำเสร็จแล้ว ส่วนจะต้องมีการลงมติหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องหารือกันอีกครั้ง สำหรับกรณีที่คณะกรรมาธิการซีกฝ่ายค้านลาออกนั้น คิดว่า เป็นเรื่องปกติของคนที่ไม่อยากปรองดอง แต่สำคัญคือ คณะกรรมธิการทำรายงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว การลาออกไปก็เพียงแสดงเจตจำนงว่าไม่ขอมีส่วนเกี่ยวข้องชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วย
ด้าน นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานเลขานุการ กมธ.ปรองดอง กล่าวว่า การยื่นข้อสรุปของกมธ.ปรองดองต่อการประชุมรัฐสภาในวันที่ 27 มี.ค.นั้น โดยปกติการบรรจุเรื่องผลสรุปของ กมธ.ต่างๆ ในสมัยการประชุมสภาฯสมัยนิติบัญญัติ ไม่สามารถทำได้ เว้นแต่จะขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 127และ มาตรา 136(5) ด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง จึงจะสามารถนำเข้าสู่การประชุมสภาฯในสมัยดังกล่าวได้ หากที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบ เป็นหน้าที่ประธานรัฐสภาจะบรรจุวาระดังกล่าวเมื่อใดตามความเหมาะสม เพราะ กมธ.ปรองดอง ไม่ต้องการให้เก็บงานที่พิจารณาเสร็จสิ้นแล้วให้อยู่เฉยๆ ไปอีก 3 เดือน และรอให้เปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป วันที่ 1 ส.ค.ขณะที่ผลสรุปของ กมธ.ก็มีหลายเรื่องที่จะต้องทำต่อไปตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า อาทิ การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการตอบคำถามข้อสงสัยต่างๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเร่งรัดเช่นนี้มีข้อกังวลว่าจะมีการเร่งรัดออกพระราชบัญญัติโดยผลสรุปของกมธ.ปรองดองนั้น นายชวลิต กล่าวว่า เชื่อว่ากฎหมายยังไม่สามารถออกได้ง่ายๆ และในเร็ววันนี้ หากความเห็นต่างๆ ยังไม่ตกผลึกร่วมกันในสังคมเสียก่อน