กมธ.ปรองดอง ยอมถอย ตัดตัวเลขเสียงหนุน “นิรโทษ-ล้มคดี คตส.” ทิ้ง แต่ยังเล่นแง่ใส่เนื้อหาวิจัยทั้งหมดโยนให้สภาฯตัดสิน โดยไม่เปิดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็นเพื่อหาข้อสรุป เลขาฯ กมธ.ยันส่งรายงานให้สภาฯ 15 เม.ย.โดยจะไม่มีการประชุมอีก ด้าน “วุฒิสาร” ยังหวั่นใจกลัว กมธ.บางส่วนไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่พูดกันไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23 มี.ค.) นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหัวหน้าคณะผู้วิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ของสถาบันพระปกเกล้า ได้เข้าพบ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ เพื่อขอให้ทบทวนการมีมติเสียข้างมากลงความเห็นการสร้างความปรองดองใน 2 แนวทางทั้งการให้อภัยผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมและการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม โดยการยกเลิกคดีต่างๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) สอบสวนทั้งหมด
นายชวลิต กล่าวยืนยันว่า กมธ.เข้าใจการทำงานของคณะผู้วิจัยเป็นอย่างดี เพราะการทำงานของสถาบันพระปกเกล้าเป็นไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจาก กมธ.ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสบายใจทาง กมธ.จะตัดตัวเลขเสียงข้างมากดังกล่าวออกไปโดยจะเสนอแนวทางข้อเสนอการสร้างความปรองดองของสถาบันพระปกเกล้าทั้งหมดแทน ควบคู่ไปกับการแนบความเห็นของ กมธ.ซีกฝ่ายค้านที่แสดงความเห็นคัดค้านไว้ในรายงานฉบับสมบูรณ์ของ กมธ.ที่จะเสนอต่อสภาฯภายในวันที่ 15 เม.ย.โดยการตัดเสียงของ กมธ.เสียงข้างมากออกจากรายงานไม่มีความจำเป็นต้องขอมติจากที่ประชุม กมธ.อีกแต่อย่างใด
“แม้จะมีหลายฝ่ายทักท้วงไม่ให้ส่งรายงาน กมธ.ไปให้สภาฯ ภายในวันที่ 15 เม.ย.เพราะต้องการให้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายแต่ในเมื่อ กมธ.ทำงานพิจารณาเสร็จแล้วก็มีความจำเป็นต้องให้สภาฯตามกรอบเวลาโดยขอให้การเปิดเวทีนั้นเป็นเรื่องของสภาฯพิจารณา และจะไม่มีการทบทวนในกรณีที่ฝ่ายค้านขอให้ กมธ.เรียกประชุม กมธ.อีกครั้งเพื่อทบทวนผลการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าและรายงานของ กมธ.ปรองดอง”
ด้าน นายวุฒิสาร กล่าวว่า เมื่อได้เห็นท่าทีของเลขานุการ กมธ.ดังกล่าวก็เกิดความสบายใจในระดับหนึ่งแต่ไม่แน่ใจว่า กมธ.ทุกคนจะเห็นด้วยกับนายชวลิตหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าแนวทางการสร้างความปรองดองจะต้องใช้เวลาไม่สามารถเร่งรัดดำเนินการได้เพราะถือว่าความขัดแย้งมีมานานมากแล้ว จึงทำให้ในรายงานการวิจัยได้เน้นย้ำว่าต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยส่วนรวมก่อนเพื่อให้ดำเนินการสร้างความปรองดองได้
“การสร้างความปรองดองมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปิดเวทีสานเสวนาเพื่อให้ทุกฝ่ายมารับทราบและร่วมเสนอแนะการสร้างความปรองดอง โดยการทำในส่วนนี้เป็นไปเพื่อให้สังคมเกิดความเห็นร่วมกันว่าต้องการแก้ไขปัญหาอย่างไร” นายวุฒิสาร กล่าว