ผลสำรวจวิจัยสถาบันพระปกเกล้า กมธ.27 เสียง หนุนออก พ.ร.บ.นิรโทษให้ทุกฝ่ายรวมถึงความผิดฐานทำลายทรัพย์สิน โดยในนี้ 4 เสียงแย้งยกโทษทำลายทรัพย์ งดออกความเห็น 9 ส่วนคดีอันเนื่องการตรวจสอบของ คตส. ส่วนใหญ่เห็นควรเพิกถอนคดีทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ได้มีการรวบรวมแบบสอบถามที่มอบให้ กมธ.แต่ละคนไปแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางของสถาบันพระปกเกล้าตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า กมธ. 23 เสียง เลือกแนวทางที่ 1 คือ ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บังคับบัญชา ตลอดจนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย เฉพาะคดีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 รวมถึงความผิดอาญาอื่นซึ่งอยู่ในวัตถุประสงค์ชุมนุมทางการเมือง เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน
ทางเลือกที่ 2 ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเฉพาะคดีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยความผิดอาญาซึ่งแม้จะมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง จะไม่ได้รับการยกเว้น เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน มี กมธ.เลือกแนวทางนี้จำนวน 4 เสียง อย่างไรก็ตาม แนวทางเลือกทั้งสองนั้นมี กมธ.ที่ไม่เสนอความเห็น 9 เสียง
ส่วนการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ในส่วนเกี่ยวกับการดำเนินการคดีต่อผู้ถูกกล่าวหาจากกระบวนการตรวจสอบของ คตส. ทางเลือกที่ 1 คือ การดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติที่มีอยู่ โดยให้เฉพาะผลการพิจารณาของ คตส.สิ้นผลลง และโอนคดีทั้งหมดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบถึงคดีที่ถึงที่สุดแล้ว มี กมธ.เลือกแนวทางนี้จำนวน 3 เสียง
ทางเลือกที่ 2 ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยให้ถือว่าคดีดังกล่าวยังไม่หมดอายุความ มี กมธ.เลือกแนวทางนี้จำนวน 2 เสียง
ทางเลือกที่ 3 ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง มี กมธ.เลือกแนวทางนี้จำนวน 9 เสียง อย่างไรก็ตาม แนวทางเลือกทั้ง 3 ทางมี กมธ.ที่ไม่เสนอความเห็น 9 เสียง