xs
xsm
sm
md
lg

ส.พระปกเกล้าสรุปผลวิจัย “ทักษิณ” ต้นเหตุความขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า (แฟ้มภาพ)
“วุฒิสาร” นำทีมสถาบันพระปกเกล้าแจงผลสรุปการวิจัย พบ “ทักษิณ” ต้นเหตุความขัดแย้ง ตั้งแต่เป็นรัฐบาลปี 2548 เป็นรัฐบาลเผด็จการ อยู่เหนืออำนาจการตรวจสอบ แทรกแซงองค์กรต่างๆ ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม รับผลวิจัยยังมืดหาทางปรองดองไม่ได้ เหตุความขัดแย้งยังฝังรากลึก ไม่สรุปให้นิรโทษกรรม เหตุยังมีความเห็นต่าง แนะทุกฝ่ายต้องเสียสละ ยุติสร้างความเป็นปฏิบักษ์ต่อกัน ไม่ควรทำในสิ่งที่นำไปสู่ความไม่ไว้วางใจ ทั้งการตั้งหมู่บ้านแดง หรือเว็บไซต์หมิ่นเหม่

วันนี้(16 มี.ค.) นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับนายถวิลวดี บุรีกุล ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า นายเมธัส อนุวัตรอุดม นักวิชาการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และน.ส.ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร นักวิชาการวิทยาลัยการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า คณะผู้วิจัยของโครงการศึกษาการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าวถึงที่มาที่ไป วีธีการทำรายงานการวิจัย เรื่องการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ

นายวุฒิสารกล่าวว่า วันนี้เป็นที่ครบ 120 วัน ที่ทางสถาบันพระปกเกล้าต้องนำเสนอรายงานผลศึกษาการวิจัยดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งขณะนี้รูปเล่มยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังต้องมีการปรับปรุงถ้อยคำ ดังนั้นอาจจะส่งอย่างช้าที่สุดภายในสัปดาห์หน้า

ด้าน น.ส.ณัชชาภัทร ผู้รวบรวมข้อมูลการสัมภาษณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิในรายงานการวิจัย กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลของผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนใหญ่มองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นคู่ขัดแย้ง ขณะที่กลุ่มหนึ่งมองว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐไทย รวมถึงสถาบันของกระบวนการยุติธรรม และอีกกลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม อย่างคำพูดที่ว่า “อำมาตย์”

อีกทั้งมองว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มองว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติและอำนาจการตรวจสอบการคอร์รัปชัน จึงส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมในพื้นฐานสังคม และการแทรกแซงขององค์กรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาให้มีการตรวจสอบ จึงมองว่าจำเป็นที่จะต้องแก้ไข

ขณะที่ส่วนใหญ่มองว่าความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบันฝังรากลึกทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม ขณะเดียวกัน การตีความคำว่าปรองดองยังแตกต่างกัน โดยต่างฝ่ายต่างยึดจุดยืนทางการเมืองของตนเองอย่างเหนียวแน่น ยังขาดบรรยากาศทางการเมืองและความปรองดอง ด้วยเหตุดังกล่าวมีคนเห็นว่าควรจะนำเข้ามาสู่กระบวนการเจรจาของแกนนำต่างๆ โดยมีคนกลางเป็นคนอำนวยความสะดวก หรือเจรจากันในกลุ่มประชาชนทุกระดับถึงเป้าหมายและวิธีการที่จะนำไปสู่ความปรองดอง

ส่วนความเห็นด้านการนิรโทษกรรม พบว่ายังมีความเห็นหลากหลาย จึงไม่สามารถฟันธงได้ว่า จะดำเนินการอย่างไรกับการนิรโทษกรรม เพราะบางกลุ่มเห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรม ขณะที่บางกลุ่มเห็นว่าควรมีการนิรโทษกรรม

อย่างไรก็ตาม จึงขอเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายเสียสละ โดยการทำในสิ่งที่พูด ขณะที่ทุกฝ่ายต้องเริ่มต้นด้วยการยุติการการดำเนินการที่จะสร้างความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ตลอดจนไม่ควรกระทำในสิ่งที่นำไปสู่ความไม่ไว้วางใจ เช่น การก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง หรือเว็บไซต์หมิ่นเหม่ เป็นต้น

กำลังโหลดความคิดเห็น