xs
xsm
sm
md
lg

อัดรัฐอย่าแถปรองดอง ย้ำไม่ร่วมฟอกขาว"แม้ว"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"มาร์ค"ย้ำคู่ขัดแย้งรัฐไทย คือ"แม้ว" จี้รัฐบาลแจงแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ชัดเจน ยันกฎหมายนิรโทษกรรม ต้องไม่คลุมคดีทุจริต ลั่นไม่ยอมเป็นตัวประกอบให้ ด้าน"ณัฐวุฒิ"อ้างแนวทางปรองดองจะก้าวข้าม "แม้ว" ไม่ได้ เพราะเป็นผู้ถูกกระทำ ด้วยการยึดอำนาจ ตั้ง คตส. มายัดข้อหาทุจริต ลั่นต้องคืนความยุติธรรมตรงจุดนี้ให้ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (13 มี.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงกรณี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า แนวทางปรองดองไม่มีทางทำสำเร็จ ถ้ายังไม่หยุดพูดเรื่องพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังคงปฏิเสธที่จะตอบถึงความชัดเจน ในการเดินทางกลับไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ หลังจากที่สมาชิกพรรคเพื่อไทย ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ตอบคำถาม หลังร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ระบุว่า จะนำพ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางกลับประเทศไทยในปีนี้ว่า ประเด็นคงไม่ได้อยู่ที่นายกฯ จะมาตอบคำถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะกลับมาไทยหรือไม่ แต่ต้องตอบว่ารัฐบาลมีนโยบายอย่างไรกับปัญหาของพ.ต.ท.ทักษิณ เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ตลอดเวลา แต่ต้องยอมรับคำพิพากษา เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถเดินทางกลับเข้ามาในวันนี้ แต่การกลับมาโดยไม่ติดคุกนั้น แสดงว่ารัฐบาลต้องออกกฏหมายนิรโทษกรรม หรือทำบางอย่างให้ พ.ต.ท.ทักษิณ

"สิ่งที่ประชาชนอยากรู้ คือ รัฐบาลมีนโยบายอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะไม่ได้ถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะน้องสาวว่าพี่ชายจะกลับหรือไม่"

ส่วนที่ร.ต.อ.เฉลิม กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ พูดไม่ตรงกัน ก็คงขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะเชื่อใคร ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าการที่ร.ต.อ.เฉลิม พยายามที่จะกันให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากเรื่องนิรโทษกรรมพ.ต.ท.ทักษิณ นั้น ทำไม่ได้ เพราะกฏหมายจะออกไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับสนับสนุนจากรัฐบาล

"คู่ขัดแย้งของปัญหาบ้านเมืองทั้งหมดวันนี้ คือ กระบวนการและปัญหาของ พ.ต.ท.ทักษิณ กับรัฐไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นตัวแทนของรัฐไทย ฉะนั้นต้องให้คำตอบว่า จะจัดการอย่างไรกับปัญหาของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีความขัดแย้งเพราะต้องคำพิพากษาให้ได้รับโทษ สิ่งที่เราต้องการคือทิศทางที่ชัดเจนว่า รัฐบาลจะบริหารอย่างไร โดยการตอบอย่างตรงไปตรงมา ไม่ควรหลีกเลี่ยง คิดอย่างไรก็ต้องบอกมา และรับผิดชอบ อย่าพยายามทำอ้อมๆ เหมือนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เคยบอกว่ารัฐบาลจะไม่เสนอ แต่วันดีคืนดี อ้างว่ารัฐบาลต้องเสนอเพื่อรักษาสิทธิ์ จนทำให้ร่างของประชาชนไม่ได้รับการพิจารณา"

** "มาร์ค"ลั่นไม่เป็นตัวประกอบปรองดอง

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมักอ้างเสมอว่า จะยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรมและคนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์ ไม่ใช่พ.ต.ท.ทักษิณ คนเดียว ไม่ว่าจะเป็น ร.ต.อ.เฉลิมหรือคนในรัฐบาล แต่สุดท้ายก็เห็นชัดเจนว่าเป้าหมายก็คือจะนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน เพราะฉะนั้นคนอื่นๆ เป็นเพียงแค่ตัวประกอบ การพูดถึงเรื่องนิรโทษกรรม ตนมองไม่ออกว่า ทำไมจะให้ครอบคลุมถึงคดีทุจริต เพราะที่พูดกันในขณะนี้ คือ เหตุการณ์ทางการเมือง ที่มีความผิดทางอาญา และตนยืนยันมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมในส่วนนี้ แต่แม้ว่าจะมีการพูดถึงคดีอาญา ก็ไม่ไปถึงคดีทุจริต เพราะฉะนั้นต้องพูดให้ชัดว่า หลักคิดคืออะไร ถ้าจะอ้างว่านิรโทษกรรมเพื่อความปรองดอง คดีทุจริตของคนๆ หนึ่ง ก็ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

"อยากให้ทบทวนคำถามของนายโคฟี อันนัน ที่เดินทางมาประเทศไทย และได้ถามไปถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ว่า ตัดสินใจได้หรือยังว่าจะให้ประเทศเดินหน้า หรือจะยึดในเรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งหากรัฐบาลยังทำแบบนี้ เท่ากับทำให้ประเทศติดหล่ม เสียโอกาส และเกิดความขัดแย้งที่ก้าวไม่พ้น ทางที่ดีที่สุดคือ ยอมรับ ปล่อยกระบวนการยุติธรรมให้เดินต่อไป ถ้าจริงใจในการปรองดอง ต้องรับฟังทุกฝ่าย โดยไม่ให้ระบบเสียหาย แต่ถ้าตั้งธงว่ามีเสียงข้างมาก แล้วทำแบบไม่ตรงไปตรงมา ที่บางวันอ้างข้อเสนอของ คอป. แต่พอข้อเสนอไม่ถูกใจ ก็ทำเฉย บางที่ก็ไปหา คอนธ. และวันไหนถูกใจข้อเสนอของ กมธ.ปรองดอง ก็เห็นด้วย วันไหนสถาบันพระปกเกล้า มีทางเลือกที่ตรงใจตัวเอง ก็เห็นด้วย แต่เวลาคนอื่นเสนอในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ประโยชน์ ก็ไม่รับฟัง ก็กลับไปสู่ธงของร.ต.อ.เฉลิม ในการ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง 6 มาตรา ที่เช้าร่าง เย็นเสร็จ และเสนอสภาฯ ก็ไม่ต้องมาอ้างกระบวนการ อื่นๆ" นายอภิสิทธิ์กล่าว

สำหรับกรณีที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมาเปิดเผยว่า มีการติดต่อในเรื่องของคดี เพื่อให้เข้ามาสู่กระบวนการนิรโทษกรรมนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีการพูดเรื่องนี้มาโดยตลอด รวมถึงการกล่าวหาตน เพื่อให้คนเข้าใจว่าทุกฝ่ายมีความผิด และมีคดีความ ต้องเข้าสู่กระบวนการปรองดอง พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันมาตลอดว่า เราต้องการให้กระบวนการยุติธรรมทำงาน ตนไม่ยอมเป็นตัวประกอบในการนิรโทษกรรม เพราะหากจะทำให้เกิดความปรองดอง ต้องอยู่บนสมมติฐานของการค้นหาความจริงอย่างตรงไปตรงมา ให้ได้ก่อน

** ชี้พ.ร.บ.ปรองดองมุ่งนิรโทษ"แม้ว"

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง ตามที่ ร.ต.อ.เฉลิม ได้กล่าวเอาไว้ว่า จะเสนอ พ.ร.บ.ปรองดองในอีกไม่กี่เดือนนั้น ทางวิปฝ่ายค้านได้มีการวิเคราะห์ว่า ในความจริง พ.ร.บ.ปรองดอง ก็คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตัวเก่า ที่เคยเสนอมาแล้ว แต่ว่าแท้งไปเสียก่อน เพราะมีคนไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ก็เลยเปลี่ยนโฉมใหม่ แต่ พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ว่านี้ เมื่อฟังข้อเสนอเบื้องต้นจากผู้เสนอแล้วน่าเป็นห่วงกว่าพ.ร.บ.ตัวเดิม เพราะพ.ร.บ.ตัวเดิม ถือว่าทำผิดแล้ว จึงล้างผิด แต่พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ว่านี้ ให้ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ทั้งหมด ก่อน 19 ก.ย.2549 ฉะนั้น ก็ถือว่าความผิดไม่เกิด คดีความต่างๆ แม้กระบวนการยุติธรรมได้ดำเนินการพิพากษาไปแล้ว ก็ถือว่ายกเลิกไปทั้งหมด เสมือนว่าไม่เกิดขึ้น และไม่มีการกระทำดังกล่าวมาก่อน

** ค้านปรองดองฉบับ"พระปกเกล้า"

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เพื่อให้ทบทวนผลการวิจัยแนวทางการสร้างความปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า ที่เสนอต่อ คณะกรรมาธิการฯ ก่อนหน้านี้ เพราะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติ ข้อ 2.1.1 คือ การให้อภัยผ่านกระบวนการนิรโทษกรรม คดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง โดยรวมถึงผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้บังคับบัญชา ตลอดจนผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย และ 2.1.3 การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ในส่วนที่เกี่ยวข้องการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา จากกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

ทั้งนี้ เนื่องจากการทำวิจัยดังกล่าว สถาบันพระปกเกล้า ได้สอบถามความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิ 47 คน แต่ปรากฏว่า ในจำนวนดังกล่าว มีผู้ถูกดำเนินคดีอาญา และการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คตส.ไม่ต่ำกว่า 10 คน ดังนั้น ถือว่าบุคคลเหล่านี้มีส่วนได้เสียในผลการนิรโทษกรรม ความคิดเห็นบุคคลเหล่านี้ จึงรับฟังไม่ได้ ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า บุคคลไม่พึงตัดสินคดีของตัวเอง และคิดว่า งานวิจัยฉบับนี้ ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ อยากให้สถาบันพระปกเกล้า ทบทวนเพราะอาจมีผลกระทบต่อสถาบันพระปกเกล้า ในระยะยาว

**ลั่นต้องคืนความยุติธรรมให้"แม้ว"

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีจะใช้ พ.ร.บ.ปรองดอง เพื่อพาพ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศไทยว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียด เนื้อหาสาระ จึงไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ส่วนความเป็นไปได้ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะกลับมาในเดือนเม.ย.นั้น ไม่ทราบในเรื่องระยะเวลา แต่เห็นว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ควรได้รับโอกาส และความเป็นธรรมในการกลับเข้ามา และท่านเป็นคนไทยคนหนึ่ง ที่กระบวนการยุติธรรมจะปฏิเสธ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้

"วันนี้สังคมไทยต้องหาคำตอบร่วมกัน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากระบวนการรัฐประหารที่ผ่านมา ใช่หรือไม่ และหากพ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากกระบวนการดังกล่าว สังคมไทยควรคืนความยุติธรรมให้พ.ต.ท.ทักษิณ ใช่หรือไม่ ผมเห็นว่าหากบ้านเมืองมีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มิอาจได้รับความเป็นธรรม มันจะไม่มีหลักเลยว่า ประชาชนคนอื่น จะมีโอกาสเข้าถึงความยุติธรรมในประเทศนี้" นายณัฐวุฒิกล่าว

**ยันปรองดองก้าวข้าม"แม้ว"ไม่ได้

เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ควรจะกลับมาถูกดำเนินคดีตามขั้นตอนก่อนหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ควรได้รับการพิสูจน์ตัวเองในกระบวนยุติธรรมที่เป็นประชาธิปไตยปกติ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมือง จะเอาความเห็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงลำพังไม่ได้ ก็คงต้องรอกระบวนการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และมันเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ความขัดแย้งของประเทศไทยมาโดยตลอดในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา คงจะไปแยก พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง คงไม่ได้ เพราะถือเป็นตัวละครหลัก สำคัญที่สุดตัวหนึ่ง และเวลานี้มีบางคนบางฝ่าย ที่พยายามอธิบายว่าความขัดแย้งทางการเมืองกับพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนละเรื่องกัน แต่ความเห็นตน ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน และเมื่อทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน การจะพิจารณากรณีดังกล่าว ก็น่าจะมองในภาพรวมพร้อมๆ กันด้วย การให้ความยุติธรรมกับคนใดคนหนึ่ง ไม่น่าจะมีกระบวนการสกัดขัดขวาง

เมื่อถามว่า การรีบนำตัวพ.ต.ท.ทักษิณ กลับ จะทำให้อายุรัฐบาลสั้นลงหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เรื่องพ.ต.ท.ทักษิณประเด็นหลักไม่อยู่ที่เงื่อนไขเวลา แต่อยู่ที่สถานการณ์การเมืองในภาพรวมมากกว่า และยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ถูกกระทำอย่างร้ายแรงที่สุดคนหนึ่ง ในหลายๆ ที่เป็นผู้ถูกกระทำ และได้รับความเสียหายใน 6 ปี แห่งความขัดแย้ง ที่ผ่านมา แต่วันนี้ก็บอกว่า ทุกคนต้องได้รับความเป็นธรรม แต่การกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ออกนอกวงของความเป็นธรรมนี้ ตนไม่เห็นเหตุผลว่า ทำไมเราต้องคิดกันเช่นนั้น นอกจากว่า เป็นความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้ามที่ปฏิเสธ การดำรงอยู่ของพ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเองเท่านั้น

"กระบวนการค้นหาข้อเท็จจริง การสร้างความปรองดอง ก็ย่อมมีประเด็นของพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นองค์ประกอบในการคิด หรือพูดคุยกัน เหมือนกับความเสียหายของเสื้อแดง เสื้อเหลือง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือผู้ประกอบการต่างๆ จะต้องเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาทั้งสิ้น"

** ชี้การเมืองคืออุปสรรคปรองดอง

เมื่อถามว่าจะบอกได้หรือไม่ว่ารัฐบาลชุดนี้จะนำ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้าน เหมือนที่หาเสียงไว้ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า คงสรุปอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ หากรัฐบาลจะดำเนินการสิ่งใด ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านหลักของประเทศ ถ้าเราเข้าใจสถานการณ์ตรงกัน เรื่องนี้จะไม่เป็นประเด็นความขัดแย้งเลย แต่มีการอธิบายแยกส่วน ปรองดองต้องทำ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะกลับบ้านไม่ได้ ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน จะแก้ปัญหาต้องบูรณาการในภาพรวม คิดแยกส่วนไม่ได้ เราต้องเปิดใจกว้าง มีคนบางกลุ่มพยายามบอกว่า ต้องปิดทางพ.ต.ท.ทักษิณ ทุกกรณี ตนไม่อยากให้คิดอย่างนั้น เราต้องพยายามเปิดบ้านเมืองทุกทาง เพื่อให้ออกจากความขัดแย้ง

เมื่อถามว่า มีการระบุว่าก้าวไม่พ้น พ.ต.ท.ทักษิณ เรื่องปรองดองก็ไม่จบ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า บางกลุ่มพยายามทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นสุดยอดจักรวาลชีวิต มีอะไรก็ “ทักษิณ ทักษิณ” ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องของประเทศไทย หากเราไม่ช่วยกันแก้ไขสถานการณ์อาจวิกฤตบานปลาย หลายประเทศในโลกเคยบาดหมางรุนแรงกว่านี้ มีเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา เป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่านี้ เขายังหาทางปรองดองกันได้ เพราะทุกคนเปิดใจกว้าง เดินจับมือข้ามความขัดแย้งด้วยกัน แต่ของเรามีความขัดแย้งทางการเมืองเป็นหลัก เป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นหลัก บางฝ่ายจึงไม่ยอมเปิดใจกว้าง แล้วหาหนทางให้กลับประเทศมากกว่า การปิดหนทางกับคนที่ตนเองคิดว่าเป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองเท่านั้น

** อ้าง"แม้ว"ถุกคตส.ยัดข้อหาทุจริต

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะให้ พ.ต.ท.ทักษิณ มาพิสูจน์ตัวที่ชั้นศาลหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ต้องเข้าใจกระบวนการก่อนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคดีความที่เกิดขึ้น โดยอำนาจของคณะปฏิวัติ และคณะปฏิวัติ ก็ตั้ง คตส.มาทำหน้าที่พนักงานสอบสวน และคตส.หลายคนสื่อเองก็ทราบบทบาททางการเมืองเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดแจ้ง และจนถึงปัจจุบันยังแสดงความเป็นปฏิปักษ์ชัดเจนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ ฉะนั้น กระบวนการยุติธรรมแบบนั้น เป็นปัญหา

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า 1 ใน 4 เหตุผลที่ คมช.ยึดอำนาจในขณะนั้น คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ทุจริตคอร์รัปชัน ก็ตั้ง คตส.ขึ้นมาตรวจสอบว่า ทุจริตจริงหรือไม่ ซึ่ง คตส.ต้องมีหน้าที่ชี้ว่า ทุจริตหรือไม่ ถ้าชี้ว่าสุจริต เหตุผลในการยึดอำนาจก็ตกไป เท่ากับทำลายความชอบธรรมในการยึดอำนาจ ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าเมื่อคมช.ยึดอำนาจแล้ว ก็มีผู้รับเหมาแบ่งงานกันทำ รับเหมาร่างรัฐธรรมนูญ รับเหมาจัดการ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ทำ รับเหมาในการวางแผนสืบทอดอำนาจ ก็ว่ากันไป เขาจึงเรียกว่ามีผู้รับเหมาทำบันได 4 ขั้น ให้กับคมช.ในเวลานั้น สถานการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เกิดขึ้นจากตรงนั้น แตกต่างจากกระบวนการยุติธรรมโดยปกติ

"เราจะยอมให้กลไกระบอบเผด็จการมาสร้างสิ่งที่ล้ำค่าในประวัติศาสตร์ทางการเมือง แล้วต้องปกปักรักษาไว้ หรือจะทำให้ทุกสิ่งที่ระบอบเผด็จการสร้างถูกคลี่คลายสลายลงด้วยประชาธิปไตย และให้บ้านเมืองเดินหน้าไปต่อ ตนเชื่อว่าประชาชนมีวิจารณญาณ แต่บางฝ่ายไม่มีอะไร นอกจากวิญญาณพยาบาทเท่านั้นเอง เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมต่อสู้ในการกระบวนการยุติธรรม หากบ้านเมืองกลับสู่ประชาธิปไตย และให้ความเชื่อมั่นว่า ต้องได้รับความเป็นธรรมเหมือนคนไทยได้รับ"

**"วัฒนา"ปัดไม่มีใบสั่งดันกม.ปรองดอง

นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีกระแสข่าว ถูกวางตัวให้เป็นคนประสานงานในการผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดอง เพื่อพา พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้าน ว่า ไม่จริง ไม่เคยได้ยิน หรือถูกสั่งการจากพ.ต.ท.ทักษิณ ให้เป็นคนประสานความปรองดอง ส่วนที่มีกระแสข่าว จะให้พรรคภูมิใจไทย ขั้วของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่เตรียมย้ายเข้ามาสังกัดพรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองนั้น เป็นเรื่องเลอะเทอะ ขั้นตอน และกระบวนการสร้างความปรองดอง ต้องให้คณะกรรมาธิการฯ ปรองดอง เป็นผู้พิจารณา การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ต้องนำความถูกต้องไปใส่ในกระบวนการ ไม่ใช่ทำเพื่อช่วยเหลือใคร

** พ.ร.บ.ปรองดองช่วย“แม้ว”หลุดคดีไม่ได้

นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหาร และส.ส.พรรคว่า ที่ประชุมได้มีการพุดคุยถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งพรรคกังวลว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งที่ยังอยู่ในขณะนี้ให้ลุกลามขึ้น โดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง มีข่าวว่าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นในสมัยประชุมนี้ หรือก่อนที่จะปิดสมัยประชุมในวันที่ 18 เม.ย. เพื่อรีบนำ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศไทยนั้น พรรคมองว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะขั้นตอนการออกกฎหมาย มีรายละเอียดค่อนข้างมาก อีกทั้งต้องได้รับเสียงเห็นของจาก ส.ส. ส.ว. ที่ผ่านมา ก็มีเพียง ร.ต.อ.เฉลิม เพียงคนเดียวที่ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ ว่าจะยื่นเสนอร่างในนามส.ส. มี 6 มาตรา

"พรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า จะไม่สนับสนุนการออกฎหมาย หรือการทำอะไรให้ได้ประโยชน์เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง เราไม่เห็นด้วย แต่ถ้าหากทำเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปสู่ความปรองดอง พรรคก็พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่"โฆษกพรรคภูมิใจไทยกล่าว

** กมธ.ปรองดองยังไร้ข้อสรุป

นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุม กมธ. ประจำสัปดาห์ ว่า ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อสรุป ถึงแนวทางการสร้างความปรองดองได้ หลังจากสถาบันพระปกเกล้า ได้นำเสนอรายงานการวิจัยแนวทางการสร้างความปรองดองมายัง กมธ. ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้มอบหมายให้กมธ. แต่ละคนไปดำเนินการตอบแบบสอบถามว่ามีความเห็นกับแนวทางของสถาบันพระปกเกล้า ข้อใดบ้าง และนำมาส่งให้กับที่ประชุมในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ การทำแบบสอบถามดังกล่าว ไม่ได้เป็นการขอมติจากที่ประชุม แต่เป็นสอบถามความคิดเห็นของกมธ.แต่ละท่าน มีความคิดเห็นอย่างไร และเอาความคิดเห็นดังกล่าวใส่เข้าไปในรายงานของกมธ. ที่จะต้องสรุปให้ได้ภายในวันที่ 15 เม.ย. เพื่อให้ทันกับเวลาปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติวันที่ 18 เม.ย.

"ในรายงานของกมธ.ที่จะมีการจัดทำ จะไม่มีลงมติว่า ที่ประชุมจะเสนอแนวทางการสร้างความปรองดองอย่างไร เพราะเราตระหนักดีว่าในแต่ละประเด็น มีความละเอียดอ่อน ประกอบกับตอนนี้สถานการณ์ยังมีความขัดแย้งอยู่ จึงเกรงว่าหากดำเนินการอะไรลงไป จะเกิดปัญหาได้ โดยในส่วนนี้ กมธ.จะให้ที่ประชุมสภาฯ หรือที่ประชุมร่วมรัฐสภาเป็นผู้ตัดสินแทน" นายไชยา กล่าว

** ปชป.ค้านทำแบบสอบถามนิรโทษ

นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาฯ กล่าวถึงกรณีที่ กมธ.ได้มีการทำแบบสอบถามความคิดเห็นของกมธ. ต่อทางเลือกที่เสนอโดยสถาบันพระปกเกล้า ว่า ข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า ที่นำมาทำแบบสอบถาม ไปสอบถามผู้ทรงคุณวุฒิที่ส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดง หลายคน อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ ตนอยากรู้ว่า ทำไมต้องไปถามคนเหล่านั้น ทำไมถึงไม่ไปถามคนที่มีความเป็นกลางมากกว่านี้ เมื่อไปถามความเห็นของคนเหล่านี้ ก็ออกมาเป็นแบบสอบถามดังกล่าว นอกจากนี้ ข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าเหมือนถูกอำนาจแทรกแซงข้อมูลทางวิชาการบางอย่าง เสมือนมีธงในใจอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ตนและกมธ.ในฝ่ายของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับการทำแบบสอบถามดังกล่าว เพื่อส่งกลับไปยังกมธ.เป็นข้อสรุปต่อไป เพราะการให้ทำแบบสอบถามดังกล่าว ไม่ใช่แนวทางของความปรองดอง เพราะความปรองดอง คือ การหาจุดร่วมกัน ซึ่งการทำแบบสอบถามแบบนี้ ถือเป็นการลงมติ ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้ง เกิดการแบ่งฝ่ายระหว่างเสียงข้างมาก และเสียงข้างน้อยขึ้นมา นั่นคือเสียงข้างมากก็ต้องลากไป จึงไม่ใช่แนวทาวของความปรองดอง
กำลังโหลดความคิดเห็น