xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ชี้แนวคิดพา “แม้ว” กลับบ้าน ทำลายระบบนิติรัฐ สวนทางปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ผู้นำฝ่ายค้าน ดักคอ “ปู” อย่าปัดความรับผิดชอบ “แม้ว” กลับบ้าน โดยไม่มีมลทิน ชี้เป็นความพยายามทำลายระบบนิติรัฐ ยันสวนทางแนวปรองดอง ตอกย้ำแนวคิดยกเลิกกองทุนน้ำมัน ทำค่าครองชีพพุ่ง-กระทบโครงสร้างพลังงาน เชื่อ สาเหตุเพราะอนาคตจ้องขายรัฐวิสาหกิจ-ร่วมทุนกับเอกชน

วันนี้ (11 มี.ค.) ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ กล่าวถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามหลังจากที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ออกมาระบุว่า จะพา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับบ้าน โดยไม่มีความผิดว่า นายกรัฐมนตรีจะปัดความรับผิดชอบในเรื่องนี้ไปให้เป็นเรื่องของสภาฯไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ รัฐบาล เองก็เป็นผู้เสนอให้แก้ไข หรือ พ.ร.บ.ปรองดอง ตัวของนายกฯก็เป็นคนออกมาพูดเองว่า จะเสนอ ดังนั้น จึงเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี เพราะหากต้องการสร้างความปรองดองจริง ก็ควรที่จะยุติประเด็นที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งในสังคม ทั้งนี้ ตนไม่เห็นด้วยที่จะมีการล้มล้างอำนาจของฝ่ายตุลาการ และ ศาล เพราะคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทางศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ได้เปิดโอกาสให้มีการต่อสู้คดีในชั้นศาลอย่างเต็มที่ทั้ง 2 คดี ดังนั้น การจะมากล่าวอ้างว่า คตส.ไม่ให้ความเป็นธรรม ก็คงไม่ได้ เพราะทุกประเด็นทาง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้ต่อสู้ไปแล้ว ซึ่งศาลท่านก็ได้พิจารณาไปหมดแล้ว จึงเห็นว่า แนวทางที่ดีที่สุด คือ การยอมรับคำพิพากษาของศาลและกลับมารับโทษตามคำพิพากษาของศาล ไม่ใช่กลับมาทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศบ้านเมือง และหวังว่า การแปรญัตติของตนในเรื่ององค์กรอิสระและอำนาจศาลตามกระบวนการยุติธรรม จะมีส่วนช่วยในการลดปัญหาความขัดแย้งในสังคม

เมื่อถามต่อว่า คอป.ควรแสดงบทบาทอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คอป.ต้องย้ำข้อเสนอว่าเป็นอย่างไร สำคัญที่สุด ทุกฝ่ายต้องเลี่ยงการสร้างปมขัดแย้งในสังคม เพราะไม่อยากเห็นเหตุลุกลามบานปลายมากขึ้นไปกว่านี้ ส่วนระบบนิติรัฐ นิติธรรม จะถูกทำลายหรือไม่นั้นก็อยู่ที่รัฐสภาและรัฐบาล ว่า จะยอมให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นหรือไม่ ถ้ายังยึดหลักตามที่ ร.ต.อ.เฉลิม พูดมาก่อนหน้านี้ ก็มีปัญหาแน่ เพราะถ้าทุกคนทำในสิ่งที่กฏหมายห้าม บ้านเมืองก็มีปัญหา

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการปรับราคาของพลังงานน้ำมันและก๊าซหุงต้มที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนแนวคิดในการยกเลิกกองทุนน้ำมันของรัฐบาล ว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรให้ความใส่ใจ เพราะหากเกิดมีการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มครัวเรือนขึ้นไปอีก หรือประกาศลอยตัว จะทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระนี้สูงขึ้นเป็นเท่าตัว จึงจะกระทบต่อประชาชนในภาคครัวเรือนและเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า รมว.พลังงาน ระบุชัดเจนว่า จะประกาศให้มีการลอยตัวก๊าซหุงต้มในเดือนตุลาคมนี้ โดยจะยกเลิกกองทุนน้ำมันไปด้วย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งนี้จะทำให้เกิดปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น และเกิดเงินเฟ้อไม่รู้จบ เพราะขณะนี้น้ำมันก็ขึ้นราคาเกือบทุกสองสัปดาห์อยู่แล้ว หากเป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ควรจะเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาน้ำท่วมเมื่อปีกลายอีก

เมื่อถามย้ำว่า ก่อนที่รัฐบาลจะยุบกองทุนน้ำมัน รัฐบาลควรมีคำตอบในเรื่องนี้อย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เดิมทีตอนที่รัฐบาลนี้หาเสียงว่าจะยกเลิกกองทุนนน้ำมัน หมายถึงจะเป็นการลดภาระให้ประชาชน แต่ขณะนี้กลายเป็นว่า รัฐบาลจะไม่ใช้กองทุนน้ำมันในการช่วยเหลือประชาชนเหมือนที่ผ่านมา ความจริงการบริหารจัดการกองทุนน้ำมัน ให้อยู่ในภาวะไม่ขาดทุนก็สามารถทำได้ แต่ต้องลงในรายละเอียดว่า โครงสร้างของพลังงานแต่ละตัวจะมีนโยบายอย่างไร แต่รัฐบาลนี้กลับไม่ใส่ใจ ตนเข้าใจว่า รัฐบาลอยากจะลอยตัวก๊าซและมีเป้าหมายที่จะคำนึงถึงเรื่องของผลกำไรของธุรกิจพลังงานมากกว่า ซึ่งในวันหน้าอาจจะมีเรื่องการขายรัฐวิสาหกิจ หรือมีกรณีที่จะไปร่วมลงทุนกับเอกชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการยกเลิกกองทุนน้ำมันจริง จะกระทบต่อการอุดหนุนพลังงานทดแทนอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า โครงสร้างด้านพลังงานต่างๆก็จะกระทบหมด เท่ากับว่า เราขาดเครื่องมือในการดูแล 2 กลุ่ม คือ 1.สินค้าที่มีความจำเป็นสำหรับประชาชน 2.กลุ่มพลังงานทดแทนที่เราต้องการส่งเสริม สนับสนุน เพราะที่ผ่านมากองทุนน้ำมันดูแลเรื่องเสถียรภาพของราคา และช่วยแบ่งเบาภาระสินค้าของประชาชนที่จำเป็น และใช้เป็นแรงจูงใจในพลังงานทดแทน การยกเลิกทั้งหมดจะทำให้เป้าหมายไม่ได้รับการดูแล เมื่อถามต่อว่า ข้ออ้างว่าที่ต้องทำเพราะต้องเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่จริง เพราะข้อเท็จจริง ภาษีในประเทศของสินค้าบางตัว ไม่เท่ากันอยู่แล้ว และการใช้พลังงานในการขนส่งก็สามารถตรวจสอบได้ง่าย

เมื่อถามย้ำอีกว่า หากมีการขยับราคาแก๊สหุงต้มต่อถัง ไปที่เกือบ 600 บาท ประชาชนจะรับไหวหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วย เพราะเราเคยคำนวณดูแล้ว ต้นทุนที่แท้จริง หากคำนวณให้ดีใช้ตามหลักค่าความร้อน และหลักวิทยาศาสตร์ ในการแยกก๊าซ คิดว่า ราคาขณะนี้ก็ไม่ได้ต่ำเกินไป ถ้าปรับก็ควรปรับขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ใช่การประกาศลอยตัว เมื่อถามอีกว่า นโยบายเรื่องนี้ ปตท.หรือประชาชนเป็นผู้ได้ประโยชน์ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ชัดเจนว่า รัฐบาลเลือกที่จะดูแล ปตท.มากกว่าดูแลประชาชน และแสดงออกมาตลอดเวลา แน่นอนว่า จะทำให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเป็นต้นทุนพื้นฐานทั้งหมด ทำให้เกิดเงินเฟ้อ เกิดปัญหาตามมาตลอดจนการเก็งราคาต่างๆ ก็จะเกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐิกจยิ่งขึ้นไปอีก

ส่วนกรณีที่อธิบดีกรมธนารักษ์ ออกมาระบุว่า จะมีการผลิตเหรียญ 20 บาท ออกมาใช้ในตลาด แสดงให้เห็นว่า ค่าเงินของไทยถูกลงใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบแนวคิดนี้ แต่สิ่งสำคัญรัฐบาลต้องเร่งดูปัญหาสินค้าราคาแพงให้เร็วที่สุด ซึ่งผลสำรวจล่าสุดของเอแบคโพลล์ ระบุว่า 60% ยังไม่เห็นการแก้ไขปัญหาสินค้าแพงของรัฐบาล ก็ไม่มีจริงๆ กลับมีแต่นโยบายซ้ำเติมยกเว้นเรื่องของธงฟ้า

กำลังโหลดความคิดเห็น