xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.จี้ “สนธิ” หยุดรวบรัด นัด กมธ.ปรองดองหาข้อสรุปก่อนส่งสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กมธ.ปรองดอง ซีก ปชป. แถลงเรียกร้อง “สนธิ” นัดประชุมหาข้อสรุปให้ชัดก่อนส่งให้สภาฯ พิจารณา เตือนอย่ารวบรัดตัดตอน ทั้งที่ยังไม่จบกระบวนการ หวั่นข้อสรุปของ กมธ. จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งรอบใหม่ ขณะเดียวกัน เรียกร้องให้ “ยิ่งลักษณ์” แสดงจุดยืนในฐานะผู้นำรัฐบาล ในการมีส่วนรวมสร้างความปรองดอง อย่าโยนเป็นเรื่องของสภาฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ (24 มี.ค.) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงข่าวแสดงจุดยืนของ กมธ.วิสามัญฯ ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ต่อร่างรายงานผลสรุปของ กมธ.ปรองดองฯ

โดยนายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกมธ.ปรองดองฯ ว่ากมธ.ของพรรคประชาธิปัตย์ต้องการที่จะเรียกร้องให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน กมธ.ปรองดองฯ เชิญประชุม กมธ.เพื่อทบทวนร่างรายงานสรุปของ กมธ.ที่จะนำเสนอต่อสภาฯ

ทั้งนี้ใน รายงานของคณะผู้วิจัยสถาบันพระปกเกล้าได้เสนอให้มีการจัดเวทีเสวนาประชาชน เพื่อสร้างบรรยากาศในการปรองดองเป็นอันดับแรก เพราะหากรีบสรุปจะทำให้เกิดความขัดแย้งใหม่ขึ้นมา ซึ่งในร่างรายงานของกมธ.ปรองดองก็ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจา กกมธ.อีกหลายคน เพราะมีการท้วงติงในที่ประชุมเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา เช่น ข้อผิดพลาดเรื่องข้อเท็จจริงในรายงาน การอ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกา รวมถึงกรณีข้อเสนอที่มีการยกเลิกผลการกระทำของคตส.

นายกนกกล่าวว่า ทั้งนายวัฒนา เมืองสุข รองประธาน กมธ. และนายชวลิต วิชยสุทธิ์ เลขาฯ กมธ. ก็ได้ทราบข้อมูลตรงนี้แล้ว แต่ก็ยังยืนยันว่าจะไม่มีการประชุมกมธ.อีก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะโดยธรรมเนียมปฏิบัติของ กมธ.ทุกคณะ หากมีความเห็นที่แตกต่าง กมธ.ก็จะต้องมีการเชิญประชุมเพื่อปรึกษาหารือว่าข้อสรุปที่จะยอมรับร่วมกันเป็นอย่างไร ดังนั้น ตนอยากให้ พล.อ.สนธิได้แสดงภาวะผู้นำที่จะเชิญประชุม กมธ.ตามข้อเรียกร้องดังกล่าว เพราะถ้าไม่อย่างนั้นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปมีข้อสงสัยว่า กมธ.นี้อยู่ภายใต้การชี้นำของรองประธาน กมธ. และเลขาฯ กมธ.ก็อาจจะเกิดความเข้าใจผิดได้

นายกนกกล่าวว่า กมธ.ปรองดองของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีเจตนาที่จะขัดขวางการปรองดอง แต่เราพยายามทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มความสามารถ โดยหวังว่าจะทำให้เกิดความปรองดองอย่างแท้จริง เพราะการปรองดองเป็นเรื่องความถูกต้องไม่ใช่เรื่องของความถูกใจ เป็นเรื่องของความยุติธรรม ไม่ใช่เรื่องของเสียงข้างมาก ใช้เทคนิควิธีการต่างๆ เพื่อรวบรัดนำไปสู่ข้อสรุปหรือเป้าหมายที่ตัวเองต้องการ เรามองเห็นว่าการปรองดองนั้น ต้องทำด้วยความรับผิดชอบต่อประเทศโดยรวม นอกจากนี้ การปรองดองไม่ใช่เรื่องที่เราต้องรับผิดชอบต่อพรรคต้นสังกัดหรือผู้มีอำนาจทางการเมือง เพราะประเทศชาติต้องมาก่อน

“เราไม่อยากเห็นการปรองดอง โดยเฉพาะบทบาทของกมธ.ปรองดองฯ แทนที่เราจะส่งมอบความปรองดองให้สภาฯ นำไปสู่การปฏิบัติ แต่เรากลับเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งใหม่ และส่งมอบความขัดแย้งที่พร้อมขยายตัวความรุนแรงไปให้สภาฯ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น เราจึงพยายามให้กมธ.ปรองดอง ได้ประชุมทบทวน ไม่มีเหตุผลที่ต้องรีบให้จบในวันที่ 18 เม.ย. หากกมธ.ต้องทำงาน 3 เดือน หรือ 6 เดือน-1 ปี แล้วความสงบสุขกลับมาจริงๆ มันจะไม่คุ้มกว่าหรือ แต่หากรวบรัดให้จบโดยเร็วแล้วมีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงใหม่ สุดท้ายประเทศติดหล่มและร้าวลึกต่อไปแบบนี้ ความเสี่ยงกับโอกาสนี้ที่จะใช้เวลามากขึ้น ท่านจะเลือกอะไร”

ด้าน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกมธ.ปรองดองฯ กล่าวว่า กมธ.ของพรรคไม่เห็นด้วยกับร่างรายงานของ กมธ.ปรองดองฯ ที่จะส่งให้สภาฯ พิจารณา เพราะร่างดังกล่าวเป็นร่างที่รวบรัด ตัดตอน เพราะหลังจากที่ กมธ.ของพรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.สนธิให้เรียกประชุม กมธ.ปรองดองฯ ไปเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนได้รับข้อความสั้นทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ วานนี้ (23 มี.ค.) ว่า “กมธ.ปรองดองฯ จะงดการประชุมกมธ.ในวันที่ 27 มี.ค. (เนื่องจากการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว)” ตนอยากถาม พล.อ.สนธิบอกว่าการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วได้อย่างไร ในเมื่อนายชวลิตบอกว่าจะมีการตัดรายละเอียดเรื่องการลงมติเสียงข้างมากออก

“เลขาฯ กมธ.ปรองดองฯ บอกเองว่าจะตัดเรื่องการลงมติเสียงข้างมากออก ถ้าอย่างนั้นการประชุมจะเสร็จได้อย่างไร หรือจะไปงุบงิบตัดกันเอง แล้วไปทำรายงานใหม่ขึ้นมา ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะไปตัดหรือเพิ่มอะไรโดยที่ กมธ.ของพรรคประชาธิปัตย์ไม่รู้เห็น ดังนั้น อยากจะเรียกร้องว่าตอนนี้ยังมีเวลา เพราะพล.อ.สนธิไปขอกับสภาฯ ให้ขยายเวลาการประชุมของกมธ.ปรองดองไปอีก 30 วัน ถ้าอย่างนั้นจะไปขอเพิ่มทำไม หรือไปขอเพื่อหลอกสภาฯ ว่าการประชุมจะดำเนินต่อไปเท่านั้น”

นายองอาจกล่าวต่อไปว่า ในรายงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าระบุว่า ภายใต้สภาวะความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันที่ต่างฝ่ายต่างยังคงยึดมั่นอยู่ในจุดยืนและความต้องการของตนเองจนไม่สามารถแสวงหาทางออกร่วมกันได้นั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการในโอกาสแรกคือ การสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเริ่มจากกมธ.ก่อนนั้น จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการเปิดเวทีดังกล่าว

นอกจากนี้ การที่คณะผู้วิจัยของสถาบันพระปกเกล้าจะไม่เห็นด้วยกับการใช้มติเสียงข้างมากก็ถือว่าถูกต้องแล้ว เพราะไม่ใช่แนวทางในการสร้างความปรองดอง นอกจากนี้ ในรายงานของสถาบันพระปกเกล้าที่เสนอว่ารัฐบาลควรดำเนินการอะไรบ้างนั้น ยกตัวอย่าง เสนอให้รัฐบาลได้แสดงเจตจำนงค์โดยชัดเจนและมีรูปธรรมที่จะสร้างความปรองดองในชาติโดยเร็ว

“ผมอยากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงเจตจำนงค์ในเรื่องความปรองดองโดยเร็ว เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยแสดงเจตจำนงค์อย่างชัดเจน เมื่อเวลานักข่าวไปถามก็จะบอกว่าการปรองดองเป็นเรื่องของสภาฯ ซึ่งก็แสดงว่ารัฐบาลไม่ประสงค์จะมาเกี่ยวข้องกับความปรองดองอย่างนั้นใช่หรือไม่ เพราะการปรองดองไม่ใช่เรื่องของสภาฯ แต่เป็นเรื่องของทุกภาคส่วนของสังคม และรัฐบาลถือเป็นกลไกสำคัญในการต้องมีส่วนร่วมที่จะสร้างความปรองดอง ซึ่งในรายงานผลวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าก็พูดไว้ชัดเจน” นายองอาจกล่าว

ส่วนการที่นายวัฒนายืนยันว่าต้องนำผลสรุปของ กมธ.ปรองดองฯ ยื่นต่อสภาฯ พร้อมกับระบุถึงเรื่องการยกเลิกผลของ คตส.โดยระบุว่า เรื่องไหนที่ผิดก็ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้น นายองอาจกล่าวว่า คตส.คือส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม เพราะเป็นฝ่ายที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ ส่งให้ศาลพิจารณาคดีความ ดังนั้น การที่บอกว่าให้ยกเลิกผลของ คตส.นั้น อยากรู้ว่ายกเลิกผลของ คตส.ส่วนไหน หรือให้ยกเลิกทั้งหมด

ส่วนเรื่องของนิรโทษกรรมนั้น กมธ.ปรองดองฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าเรื่องการนิรโทษกรรมไม่มีใครมีความเห็นในเรื่องนี้เลย แต่ทำไมร่างรายงานของ กมธ.ปรองดองฯ จึงมีแต่เฉพาะความเห็นที่ต้องการนิรโทษกรรมเท่านั้น เพราะหากมีการเสนอให้นิรโทษกรรมโดยไม่เห็นพ้องต้องกัน การนิรโทษกรรมก็จะกลายเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นมา ดังนั้น อยากรียกร้องว่านอกจากไม่ควรใช้เสียงข้างมากแล้ว ทาง กมธ.ปรองดองฯ ควรใช้กระบวนการเห็นพ้องต้องกันในการดำเนินการให้การปรองดองประสบความสำเร็จ

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากสิ่งที่ กมธ.ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้รับการตอบสนองจะดำเนินการอย่างไร จะถึงขั้นว่ากมธ.ในสัดส่วนของพรรคจะลาออกจากกมธ.ปรองดองฯ หรือไม่ นายองอาจกล่าวว่า เรายังไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงขั้นนั้น ซึ่งในวันที่ 26 มี.ค. จะมีการประชุม ส.ส.ของพรรค ทาง กมธ.ในสัดส่วนของพรรคก็ใช้โอกาสนี้ประชุมหารือเพื่อกำหนดท่าทีของเราต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนยังเชื่อว่าเมื่อได้มีการนำเสนอไปชัดเจนอย่างนี้แล้ว ทางพล.อ.สนธิที่ได้แสดงเจตนาอยากเห็นการปรองดองขึ้น หากรับฟังด้วยใจเป็นธรรม ไม่มีโจทย์อะไรในใจ คิดว่าการเรียกประชุมเรื่องหาความเห็นพ้องต้องกัน ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ เวลาก็มี ควรเรียกประชุมเพื่อทบทวนร่างรายงานของกมธ.ปรองดองฯ เพราะหากเสนอเข้าสู่สภาฯ ก็จะเป็นปัญหา และจะก่อปัญหามากขึ้น หากได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น