คณะผู้วิจัยสร้างความปรองดอง สถาบันพระปกเกล้า เตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง ประธาน กมธ.ปรองดอง ค้านใช้เสียงข้างมากเห็นชอบให้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทั้งคดีความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และคดีอาญา พร้อมให้ยกเลิกคดี คตส. ระบุการใช้เสียงข้างมากจะเป็นเพียงการสร้าง “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” เท่านั้น
นายวุฒิสาร ตัณไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหัวหน้าคณะผู้วิจัย สร้างความปรองดองแห่งชาติ สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า บ่ายในวันนี้ (23 มี.ค.) คณะผู้วิจัยจะเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกคำแถลงจุดยืนของคณะผู้วิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ต่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จดหมายเปิดผนึกของคณะผู้วิจัยสร้างความปรองดองแห่งชาติ เป็นจดหมายคัดค้านการที่คณะกรรมาธิการฯ จะเสนอรายงานตามผลวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า โดยใช้เสียงข้างมากเห็นชอบที่จะออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด ทั้งคดีที่เกี่ยวข้องกับการความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง
นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังคัดค้านและไม่เห็นด้วยที่คณะกรรมาธิการฯ ใช้เสียงข้างมากลงมติเห็นชอบตามทางเลือกที่ 3 ของคณะผู้วิจัยให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และให้นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง
ในจดหมายเปิดผนึกระบุตอนหนึ่งว่า “คณะผู้วิจัยไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการใช้คะแนนเสียงข้างมากในการตัดสินใจดังกล่าวของคณะกรรมาธิการฯ หรือของสภาผู้แทนราษฎร โดยที่บรรยากาศแห่งความปรองดองซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญ ยังไม่เกิดขึ้นในสังคม และเชื่อว่าการใช้เสียงข้างมากในการกำหนดแนวทางสร้างความปรองดองจะเป็นเพียงการสร้าง "ความยุติธรรมของผู้ชนะ” เท่านั้น
สำหรับจดหมายเปิดผนึก เรื่อง คำแถลงต่อจุดยืนของคณะผู้วิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สถาบันพระปกเกล้า มีเนื้อหาดังต่อไปนี้
วันที่ 23 มีนาคม 2555
เรื่อง คำแถลงต่อจุดยืนของคณะผู้วิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สถาบันพระปกเกล้า
เรียน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร
จาก “รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ของสถาบันพระปกเกล้าที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎรนั้น คณะผู้วิจัยได้มีข้อสรุปชัดเจนว่า ภายใต้สภาวะความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันที่ต่างฝ่ายต่างยังคงยึดมั่นอยู่ในจุดยืนและความต้องการของตนเองจนไม่สามารถแสวงหาทางออกร่วมกันได้นั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการในโอกาสแรกซึ่งเป็นหัวใจสำคัญและความสำเร็จในการสร้างความปรองดอง คือ การสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดองในสังคมไทยด้วยการริเริ่มกระบวนการพูดคุยเสวนา (Dialogue) ภายในคณะกรรมาธิการฯ เพื่อหาข้อสรุปเบื้องต้นร่วมกันต่อข้อเสนอในรายงานฯ โดยไม่ใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน หลังจากนั้นจึงขยายผลการพูดคุยสู่สังคมในวงกว้างโดยการเปิดเวทีเสวนาระดับพรรคการเมือง กลุ่มผู้สนับสนุน และประชาชนทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและพิจารณาหาแนวทางการสร้างความปรองดองในชาติที่ยอมรับได้ร่วมกัน
บัดนี้ ได้ปรากฏตาม “(ร่าง) รายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งจัดทำโดยสำนักกรรมาธิการ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ณ วันที่ 20 มีนาคม 2555 ว่าทางคณะกรรมาธิการฯ ได้ใช้เสียงข้างมากในการให้ความเห็นชอบในประเด็นดังต่อไปนี้
1) การให้อภัยผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง โดยรวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชา ตลอดจนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยเห็นชอบในทางเลือกที่ 1 คือ ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดทุกประเภท ทั้งคดีการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ด้วยเสียงข้างมากจำนวน 23 ท่าน ในขณะที่คณะผู้วิจัยได้ระบุไว้ในรายงานชัดเจนว่าอย่างน้อย สิ่งที่ต้องดำเนินการคือการพูดคุยเสวนาในวงกว้าง ถึงคำจำกัดความของคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเสียก่อน
2) การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและเป็นการลดเงื่อนไขของข้อกล่าวอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในส่วนของการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาโดยกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยเห็นชอบในทางเลือกที่ 3 คือ ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมดและไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ด้วยเสียงข้างมากจำนวน 22 ท่าน ในขณะที่คณะผู้วิจัยได้ระบุไว้ในรายงานชัดเจนว่า ทางเลือกนี้จะทำให้ความปรองดองเป็นไปได้ยาก และมีบางฝ่ายเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาในกรณีการทุจริตหรือใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบนั้น ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการใช้คะแนนเสียงข้างมากในการตัดสินใจดังกล่าวของคณะกรรมาธิการฯ หรือของสภาผู้แทนราษฎร โดยที่บรรยากาศแห่งความปรองดองซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญ ยังไม่เกิดขึ้นในสังคม และเชื่อว่าการใช้เสียงข้างมากในการกำหนดแนวทางการสร้างความปรองดองจะเป็นเพียงการสร้าง “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” เท่านั้น ซึ่งรายงานวิจัยได้ระบุว่า การยึดถือเสียงข้างมากโดยละเลยความเห็นที่แตกต่างนั้น ถือเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงรอบใหม่ได้อีกในอนาคต อันขัดกับเจตนารมณ์ของคณะผู้วิจัยอย่างชัดเจน
ด้วยเหตุนี้ เพื่อดำรงคุณค่าและหลักการสำคัญของการปรองดอง ตลอดจนป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นอีกครั้งในสังคม คณะผู้วิจัยจึงขอให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอในส่วนของการริเริ่มกระบวนการพูดคุยเสวนาทั่วประเทศ เพื่อให้ได้ข้อสรุปต่อการสร้างความปรองดองในชาติที่ทุกฝ่ายยอมรับในระดับที่ทำให้สังคมไทยเดินหน้าต่อไปได้ตามที่ได้เสนอไว้แล้วในรายงานวิจัย โดยไม่จำกัดเวลาและวาระการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อให้ภารกิจมีความต่อเนื่อง แต่หากคณะกรรมาธิการฯ หรือสภาผู้แทนราษฎรมีการลงมติเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งอย่างรวบรัดด้วยเสียงข้างมาก โดยเฉพาะในประเด็นการให้อภัยผ่านการนิรโทษกรรมและการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม โดยมิได้ดำเนินการตามข้อเสนอของคณะผู้วิจัยในส่วนของกระบวนการดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วเสียก่อน คณะผู้วิจัยจะขอถอนรายงานวิจัยที่ได้เสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ เพื่อมิให้มีการนำผลวิจัยไปใช้ในการอ้างอิงเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการสร้างความปรองดองในชาติได้อีกต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา จักขอบพระคุณยิ่ง
ลงชื่อคณะผู้วิจัย