xs
xsm
sm
md
lg

“วุฒิสาร” ขู่ถอนงานวิจัย หาก กมธ.ยังใช้เสียงข้างมาก “นิรโทษ-เลิกคดี คตส.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวุฒิสาร ตัณไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
“วุฒิสาร” เผย เหตุยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง กมธ.ปรองดอง คัดค้านการใช้เสียงข้างมากรวบรัดลงมติโดยไม่พิจารณข้อเสนอต่างๆ ในรายงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าให้รอบคอบจะยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น ขู่ถ้ายังดันทุรังไม่ทบทวนจะถอนงานวิจัย ลั่นไม่ต้องการเป็นเครื่องมือใคร พร้อมเรียกร้อง กมธ.หาจุดร่วมกันให้ได้ก่อน โดยเปิดเวทีเสวนาทั่วประเทศหาทางออกจากวิกฤตชาติ


 คลิกที่นี่ เพื่อฟังเสียงของนาย วุฒิสาร ตัณไชย 

นายวุฒิสาร ตัณไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหัวหน้าคณะผู้วิจัย “รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ที่นำเสนอผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ (กมธ.ปรองดองฯ) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในวันนี้ (23 มี.ค.) คณะผู้วิจัยจะนำจดหมายเปิดผนึก คำแถลงจุดยืนของคณะผู้วิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ยื่นต่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน กมธ.ปรองดองฯ เพื่อให้คณะกรรมาธิการทบทวนการใช้เสียงข้างมากในการให้ความเห็นชอบในประเด็นต่างๆ เพราะเห็นว่าการใช้เสียงข้างมาก โดยละเลยความเห็นต่างไม่เป็นทางออก และถือเป็นสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมือง

นายวุฒิสาร กล่าวว่า ที่สำคัญ การเสนอทางเลือกของสถาบันพระปกเกล้า ก็เสนอบนพื้นฐานของบรรยากาศที่การปรองดองยังไม่เกิดขึ้น กมธ.ต้องพิจารณาทุกข้อเสนอของคณะผู้วิจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้นหาความจริงต่อไป การแสวงหาสร้างความบรรยากาศให้เหมาะสมก่อนเริ่มปรองดอง และสร้างจุดร่วมของคณะกรรมาธิการ ในการยอมรับบางเรื่องที่ใม่ใช้เสียงข้างมากตัดสินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพูดคุยด้วยเหตุผลและพูดคุยในรายละเอียดตามข้อเสนอ

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า สถาบันพระปกเกล้า กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองแล้วนั้น นายวุฒิสาร กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ทำให้ต้องระมัดระวัง ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าและคณะผู้วิจัยมีความรับผิดชอบต่องานที่เสนอ และยืนยันว่าอยู่บนพื้นฐานของความตั้งใจที่อยากเห็นทางออกของประเทศในแนวทางความปรองดองเกิดขึ้น และเมื่อเห็นว่า ท่าทีการดำเนินการของคณะกรรมาธิการฯหลังจากนี้อาจจะส่งผลในทางลบและสร้างความชอบธรรมในงานวิจัย จึงมีหนังสือถึง พล.อ.สนธิ ให้ทบทวนแนวทางที่จะดำเนินการหลังจากนี้

เมื่อถามว่า จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้เป็นการแย้ง กมธ.ที่มีการรวบรัดลงมติใช่หรือไม่ นายวุฒิสารกล่าวว่า “ใช่ครับ ล่าสุด ในรายงานคณะผู้วิจัยก็มีข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการว่าให้ดำเนินการอย่างไรแล้ว ซึ่งหากรีบสรุปเกินไปจึงคิดว่ามีโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งขึ้นใหม่ได้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในจดหมายเปิดผนึกมีใจความสำคัญว่า คณะผู้วิจัยมีข้อสรุปชัดเจนว่าภายใต้สภาวะขัดแย้งทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างยังคงยึดมั่นอยู่ในจุดยืนและความต้องการของตนเองจนไม่สามารถแสวงหาทางออกร่วมกันได้นั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการในโอกาสแรกซึ่งเป็นหัวใจสำคัญและความสำเร็จในการสร้างความปรองดองคือ การสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดองในสังคมไทยด้วยการริเริ่มกระบวนการพูดคุยเสวนา ภายในคณะกรรมาธิการฯ เพื่อหาข้อสรุปเบื้องต้นร่วมกันต่อข้อเสนอในรายงานฯ โดยไม่ใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน หลังจากนั้นจึงขยายผลการพูดคุยสู่สังคมในวงกว้างโดยการเปิดเวทีเสวนาระดับพรรคการเมือง กลุ่มผู้สนับสนุน และประชาชนทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นสร้างความปรองดองที่ยอมรับร่วมกัน

แต่รายงานของคณะกรรมาธิการปรองดองฯ พบว่า กมธ.ได้ใช้เสียงข้างมากให้ความเห็นในประเด็นการให้อภัยผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองโดยรวมผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชา ตลอดจนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบ ด้วยเสียงข้างมาก 23 เสียงเลือกการออกพรบ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดทุกประเภท ขณะที่ผู้วิจัยระบุในรายงานว่าอย่างน้อยสิ่งที่ต้องดำเนินการคือพูดคุยในวงกว้างถึงคำจำกัดความของคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเสียก่อน ขณะเดียวกันใช้เสียงข้างมาก 22 เสียงเลือกให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดยคตส.ทั้งหมดและไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง แต่คณะผู้วิจัยระบุในรายงานชัดเจนวาาทางเลือกนี้จะทำให้ปรองดองได้ยาก

ซึ่งผู้วิจัยไม่เห็นด้วยต่อการใช้คะแนนเสียงข้างมากตัดสินใจเรื่องดังกล่าว โดยบรรยากาศแห่งความปรองดองเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ยังไม่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งนี้คณะผู้วิจัยขอให้คณะกรรมาธิการฯพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอริเริ่มกระบวนการพูดคุยเสวนาทั่วประเทศ เพื่อให้ได้ข้อสรุปต่อการสร้างความปรองดองในชาติที่ทุกฝ่ายยอมรับในระดับที่ทำให้สังคมไทยเดินหน้าต่อไปได้ตามทค่ได้เสนอในรายงานวิจัย แต่หากคณะกรรมาธิการฯหรือสภาผู้แทนราษฎรมีการลงมติเลือกแนวทางใดแนวทางใดแนวทางหนึ่งอย่างรวบรัดด้วยเสียงข้างมาก โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมและการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม โดยมิได้ดำเนินการตามข้อเสนอของคณะผู้วิจัยในส่วนกระบวนการที่กล่าวนั้น คณะผู้วิจัยจะขอถอนรายงานวิจัย เพื่อไม่ให้นำผลวิจัยไปใช้อ้างอิงเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการสร้างความปรองดองในชาติอีกต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น