เลขาฯ สถาบันพระปกเกล้า แจง กมธ.ปรองดอง ยันแค่เสนอแนวทางพยายามหาจุดร่วมอธิบาย ย้ำ ต้องให้อภัยนิรโทษทั้งหมด ชี้ ทบทวนคดี คตส.หวังคืนความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม แนะทางที่ดีอย่ารื้อใครผิดรัฐประหาร เผยใช้งบส่งคนไปสัมฯ “แม้ว” จริง - “นิพิฏฐ์” ติงผลสรุปเทียบ รสช., คตส.คนละเรื่อง “บิ๊กบัง” อ้างแก้ไม่ได้แล้ว ยันหนุนรายงาน ส.พระปกฯ นัดแถลงร่วมพรุ่งนี้ ก่อนนัดประชุมครั้งสุดท้าย 27 มี.ค.
วันนี้ (20 มี.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน ได้หารือถึงรายงานผลการวิจัยแนวทางสร้างความปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า โดยมี นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัย มาชี้แจง
นายวุฒิสาร กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้าไม่ได้ทำการค้นหาความจริง แต่ทำเรื่องการเสนอแนวทางสร้างความปรองดอง และทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้ดำเนินการทำวิจัยให้ไปแล้ว ยอมรับว่า หลังการเสนอผลการวิจัยมีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่คณะผู้วิจัยไม่ได้สรุปผลการวิจัยมาจากส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่พยายามหาจุดร่วมและหลักการที่สอดคล้องกับแนวคิดและทฤษฎีเพื่อนำมาอธิบาย
“ส่วนข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหาในการสร้างความปรองดอง สถาบันฯเห็นว่า หากต้องการเห็นความปรองดองการให้อภัยจะต้องเกิดขึ้นก่อน โดยการให้อภัยที่ประความสำเร็จในหลายประเทศที่มีความขัดแย้ง คือ การให้อภัยนั้นคือ การให้อภัยกับการกระทำที่มีเจตนาทางการเมือง นี่คือ ที่มาของข้อเสนอให้ยกโทษให้ผู้ชุมนุมทางการเมือง ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาทั้งหมด เพราะถือว่าทั้งหมด คือ ความขัดแย้งที่มีเจตนาทางการเมืองทั้งหมด เราได้เสนอเป็นทางเลือกเอาไว้ เพราะเห็นว่าถ้ายิ่งเสนอแบบฟันธงลงไปก็จะยิ่งสร้างความขัดแย้ง สถาบันจึงเขียนไว้ว่ากระบวนการร่วมกันในการค้นหาความจริงของกรรมาธิการจึงเป็นเรื่องสำคัญ” นายวุฒิสาร กล่าว
นายวุฒิสาร กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมโดยการทบทวนผลพวงจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นข้อเสนอที่ต้องการคืนความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรมแต่ไม่ได้หมายความว่าทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ ทั้งนี้ ในงานวิจัยได้เน้นว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีบรรยากาศที่ดีก่อนด้วยการไม่พูดถึงการรัฐประหารที่ผ่านมาว่าใครผิดใครถูก
“ส่วนการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 47 คน สถาบันฯไม่ได้ใช้จำนวน และปริมาณในการตัดสิน เดิมสถาบันวางแผนจะสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 60 คน อาทิ อดีตนายกรัฐมนตรีทุกคนยกเว้นประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ แต่เนื่องจากผู้วิจัยมีโอกาสสัมภาษณ์ได้ไม่ครบถ้วน ด้วยความรวดเร็วที่ต้องสรุปผลการวิจัยทำให้สัมภาษณ์ได้แค่นี้ สำหรับประเด็นที่ได้ไปสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้นได้ไปสัมภาษณ์จริง โดยใช้งบประมาณของสถาบันในการเดินทางไปสัมภาษณ์เพียงคนเดียวเนื่องจากงบประมาณในการเดินทางเป็นงบประมาณค่อนข้างสูง” นายวุฒิสาร กล่าว
จากนั้น กมธ.ได้เข้าสู่การพิจารณาร่างรายงานของ กมธ.ที่เตรียมจะเสนอต่อที่ประชุมสภาฯ ปรากฏว่า ยังมีหลายประเด็นที่ไม่ได้ข้อสรุป เพราะ กมธ.จากประชาธิปัตย์อภิปรายแสดงความคิดเห็นคัดค้านข้อสังเกตุของ กมธ.ในบางประเด็น
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง กมธ.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องการให้ กมธ.แก้ไขถ้อยคำในข้อสังเกตของ กมธ.ที่ระบุว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 913/2536 ที่วินิจฉัยประกาศริบทรัพย์ที่ออกโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) สามารถนำมาเทียบเคียงคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ คิดว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้องเพราะคำสั่งของ รสช.เป็นการมอบให้คณะกรรมการชุดนั้นมีอำนาจตุลาการเพื่อริบทรัพย์ได้ ซึ่งต่อมาศาลได้มีความเห็นเป็นกระทำไม่ถูกต้อง
“สำหรับกรณีของ คตส.ไม่สามารถทำมาเทียบเคียงกับ รสช.ได้ เพราะ คตส.มีอำนาจเพียงการสอบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น ส่วนพิพากษาคดีเป็นอำนาจของศาล จึงเป็นการตั้งข้อสังเกตที่คลาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริงอย่างมาก อยากให้ กมธ.พิจารณาแก้ไขถ้อยคำนี้ด้วย” นายนิพิฎฐ์ กล่าว
พล.อ.สนธิ กล่าวว่า เรื่องนี้ กมธ.ได้มีความเห็นไปแล้วคงจะแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่หาก นายนิพิฏฐ์ ไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตในส่วนนี้ก็สามารถทำหนังสือเป็นรายงานมายัง กมธ.เพื่อนำประกอบแนบท้ายรายงานของ กมธ.ที่จะเสนอสภาฯได้ต่อไป
ภายหลังการประชุมนานกว่า 4 ชั่วโมง พล.อ.สนธิ แถลงถึงผลการประชุมว่า ขณะนี้ กมธ.ได้เดินหน้าทำงานมาอย่างสมบูรณ์แล้ว เหลือเพียงแต่การรวบรวมความเห็นของ กมธ.ทั้งในส่วนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับแนวทางการสร้างความปรองดองของสถาบันพระปกเกล้านำมาประกอบกันเป็นรายงานของ กมธ.ที่เตรียมนำเสนอสภาฯต่อไป โดยคาดว่า ในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 27 มี.ค.จะสามารถสรุปรายงานได้และเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายเพื่อกำหนดส่งรายงานต่อสภาฯอีกครั้งหนึ่ง
“เชื่อว่า ผลการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า จะไม่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น และข้อเสนอดังกล่าวเป็นการนำเสนอในลักษณะที่เป็นทางเลือกไม่ได้นำเสนอเจาะจงให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่ง กมธ.ก็มีความเห็นด้วยกับรายงานของสถาบันพระปกเกล้า ส่วน กมธ.คนไหนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยในวันพรุ่งนี้ (21 มี.ค.) จะมีการแถลงผลสรุปแนวทางการสร้างความปรองดองร่วมกับคณะวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า และจะเชิญตัวแทนหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค ส.ส.และสมาชิกวุฒิสภา มาร่วมรับฟัง ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ในเวลา 10.00 น.” พล.อ.สนธิ กล่าว