กมธ.ปรองดอง ซีก ปชป.ยื่นหนังสือประธาน จี้ เปิดประชุมทบทวนผลสรุป เจ้าตัวไม่ชัวร์สรุปผลทันสมัยประชุมนี้ รับเอกสารครบ รอแค่ถกให้ตกผลึก ลั่นไม่ได้ถูกใครชักจูง แนะอย่าพูดเรื่องอดีต ต้องปิดความจริงบ้าง ปรองดองเดินหน้าได้ ลืมแล้ว 4 ข้อรัฐประหาร อย่าพูด “ทักษิณ” โกง กลัวทำสังคมแตกแยก อ้างโละ คตส.แค่ข้อเสนอวิชาการ ยันทำเพื่อชาติ เมิน “ภรรยาร่มเกล้า” ร้อง บอกต้องทำให้ทุกฝ่ายเห็นตรง แต่ไม่ใช่ทุกคน ฉุนเจอถามไม่ทำผิดซ้ำ 2 บอกขอคำถามสร้างสรรค์หน่อย
วันนี้ (22 มี.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 15.00 น.คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ เสียงข้างน้อยในสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นายสุทัศน์ เงินหมื่น นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะประธานกมธ.วิสามัญฯ เพื่อขอให้เชิญประชุม กมธ.เพื่อทบทวนรายงานของ กมธ.ให้มีข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน และเกิดความเห็นพ้องร่วมกันของ กมธ.
โดย พล.อ.สนธิ ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับหนังสือดังกล่าว ว่า เราตั้งใจที่จะสร้างความปรองดอง อะไรที่คิดว่าเป็นเงื่อนไขหรือเป็นความคิดที่ขัดแย้งกันอยู่นั้น เราต้องคุยกันและสร้างความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ตนมั่นใจว่า หากเราตั้งใจที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น ทุกอย่างมันเดินไปได้ ส่วนจะสามารถสรุปผลภายในเดือน เม.ย.นี้ได้หรือไม่นั้น ตนยังไม่สามารถระบุได้ เพราะต้องทำเงื่อนไขที่ไม่ตรงกัน ให้ตรงกันก่อน และหากตรงกันเมื่อไหร่ถึงจะเรียบร้อย ซึ่งตนจะดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่ก็ยังไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจนว่าต้องเสร็จให้ทันภายในสมัยประชุมนี้ เพราะกรอบเวลาของ กมธ.คือ กลางเดือน เม.ย.อย่างไรก็ตาม เอกสารทั้งหมดที่รวบรวมมามีความพร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่ยังมีความต่างในความคิดที่จะต้องคุยกัน ส่วนเรื่องการเปิดเสวนาที่มีบางฝ่ายเสนอนั้น ถือเป็นเรื่องของสภาฯ กมธ.วิสามัญฯ มีหน้าที่เพียงวางกรอบแนวทางเท่านั้น
ส่วนรายงานที่ออกมามีการออกมาระบุว่า ได้เป็นข้อสรุปในทางเลือกที่ 3 นั้น ประเด็นนี้จะมีอยู่หรือไม่ พล.อ.สนธิ กล่าวว่า กมธ.ได้มีการปรับแก้ไม่ให้มีการกำหนดตัวเลขเสียงที่แสดงความเห็น จากเดิมที่มีข่าวว่า กมธ.เสียงข้างมากลงมติ 23 ต่อ 9 เสียง แต่ให้ระบุแต่เพียงความเห็นว่าแต่ละคนมีความเห็นอย่างไรตามแนวทางของเสรีทางความคิด ซึ่งความเห็นกับการลงมติถือเป็นคนละเรื่องกัน โดยความเห็นแยกเป็นเห็นด้วยและเห็นต่างได้ เพราะมีคำอธิบายว่าทำไมถึงมีความเห็นออกมาเช่นนี้ ส่วนสภาฯ จะมีความเห็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของสภาฯ ตนคิดว่า เขาก็ต้องระมัดระวัง เพราะเป็นสถาบันหลักที่มีความสำคัญ หนึ่งในระบอบประชาธิปไตย ตนคิดว่าสภาฯ ต้องคิดมากกว่าปกติ
ผู้สื่อข่าวถามว่า กมธ.ควรจะเสนอแนวทางที่สามารถป้องกันปัญหาที่จะเกิดความขัดแย้งได้ ก่อนที่จะเสนอรายงานเข้าสู่สภาฯ หรือไม่ พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ก็เป็นแนวทางหนึ่ง แต่ก็ต้องดูว่าใน กมธ.คิดกันอย่างไร ตนก็อยากให้ทุกอย่างลงเอยด้วยความเห็นที่ตรงกัน เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรให้สังคมเห็นว่าการทำหน้าที่ประธาน กมธ.ไม่ได้ถูกชักจูงจาก นายวัฒนา เมืองสุข ในฐานะรองประธาน กมธ.วิสามัญฯ พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ตนก็มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีใครมานำพาหรือชักจูงได้ มีแต่เหตุและผลเท่านั้นที่เป็นตัวชี้วัด
เมื่อถามว่า อะไรทำให้คิดว่าจะสามารถทำหน้าที่ให้เกิดความปรองดองกับประเทศได้ ในขณะที่เป็นผู้ทำปฏิวัติรัฐประหารในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ประธาน กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า เราต้องแยกแยะเรื่องอดีตกับปัจจุบัน ถ้าเราหยิบเรื่องเก่ามาพูด เราก็คุยกันไม่จบ ตนอยากให้ถามเรื่องปัจจุบันมากกว่า อย่าย้อนถามเรื่องอดีต
“ความเป็นจริงคือ เราจะสร้างการปรองดองขึ้นได้ บางประเด็นอย่าพูดกัน ถ้าพูดกันก็ไม่จบ เพราะข้อเท็จจริงปรากฏอยู่แล้ว และทุกคนก็รู้ว่าเรื่องจริงคืออะไร ผมก็รู้เรื่องจริงคืออะไร แต่เราไม่พูดเรื่องจริงทั้งหมด เพื่อให้วันนี้กับอนาคตมันเดินไปได้ วันนี้สังคมไทยมีแต่ความแตกแยก เรื่องการค้นหาความจริงก็เป็นหลักการและเป็นวิชาการ เขาบอกว่า ถ้าการค้นหาความจริงออกมาแล้วทำให้การปรองดองไม่เกิด ก็อย่าเพิ่งเปิดเผยความจริง ดังนั้น ต้องเข้าใจทฤษฎีนี้ด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นคงคุยกันไม่ได้ บ้านเราก็จะไม่มีการสร้างความปรองดองได้ และจะทะเลาะกันไปตลอด” พล.อ.สนธิกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่า เงื่อนไขการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ทั้ง 4 ข้อยังคงดำรงอยู่และเป็นปัญหากับสังคมไทยอยู่หรือไม่ พล.อ.สนธิ กล่าวว่า วันนี้ตนไม่คิดแล้ว แต่ว่าพรุ่งนี้จะเดินไปอย่างไร หลักคิดของตนในวันนี้ คือ ลืมอดีต คิดปัจจุบัน เพื่อสร้างอนาคตประเทศไทย เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่า ไม่มองถึงเรื่องการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยทุจริตในคดีต่างๆ พล.อ.สนธิ กล่าวว่า เราอย่าเอาประโยชน์อะไรบางอย่างในตอนนี้มาทำให้สังคมแตกแยก เมื่อถามย้ำอีกว่า รู้สึกผิดหรือไม่ที่ข้อสรุปของ กมธ.ในทางเลือกที่ 3 เสนอให้ยุบ คตส. ทั้งที่เป็นคนตั้งมากับมือตอนที่มีการทำรัฐประหาร พล.อ.สนธิ กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า ไม่ผิดๆ ผมโละอะไร มันเป็นแค่ข้อเสนอทางวิชาการ ส่วนสภาฯ จะเอาอย่างไรเป็นเรื่องของสภาฯ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่า กมธ.วิสามัญฯ ไม่ได้ตกเป็นเครื่องมือของ พ.ต.ท.ทักษิณ พล.อ.สนธิ กล่าวว่า กมธ.เป็นคนคิด ไม่ใช่ตน อย่าโยนมาให้ตน เพราะเราทำกันในระบอบ ปชต.เสียงข้างมากจะไม่เอา แต่เราจะเอาเสียงทุกคนมาคิด ทั้งนี้ เป็นภารกิจหน้าที่ของเราที่เดินมาครึ่งทางแล้ว ที่จะส่งให้สภาฯ พิจารณาต่อไป แต่หากยังมีอะไรที่บกพร่องเราก็จะมาแก้กัน หากมาหยุดตรงนี้แล้วถามว่าความปรองดองจะอยู่ตรงไหน ใครจะเริ่มต้น ตนทำทุกอย่างเพื่อบ้านเมืองโดยแท้ ถ้าทำแล้วเกิดประโยชน์เราก็ทำ เราจะปล่อยให้มันแตกอยู่อย่างนี้หรือ
เมื่อถามว่า การที่ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ระบุว่า ยังไม่มีโอกาสได้แสดงความเห็นต่อ กมธ.จะมีการเปิดเพื่อรับฟังความเห็นกลุ่มคนเหล่านี้หรือไม่ พล.อ.สนธิ กล่าวว่า เป็นสิทธิของภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ที่ต้องทำ คงไม่ใช่หน้าที่ของเราโดยตรง การที่บอกว่าเราต้องทำให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกคน ทั้งนี้ คำถามต่างๆ ที่ถามออกมาควรจะมีการไตร่ตรองว่าจะทำให้เกิดความปรองดองหรือไม่ ถ้าคนไทยยังมีลักษณะของ 4 ประการ มันป็นไปไม่ได้ ดังนั้น สังคมไทยต้องแก้ที่คน ปัญหาอยู่ที่สื่อ สื่อต้องช่วยให้เกิดความปรองดอง ไม่ใช่ทำให้สังคมมันหนักไปอีก อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การปรองดองต้องไม่ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม วันนี้เรากำลังเดินอยู่บนหลักนิติรัฐ นิติธรรม ควบคู่กับการสร้างระบอบประชาธิปไตย โดยมีความจริงและความยุติธรรมมาประกอบกัน
เมื่อถามว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงผลการวิจัยหรือไม่ พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ตนจะขอไปศึกษาก่อน ตนยังใหม่อยู่ ทั้งนี้ จะเรียกประชุม กมธ.วิสามัญฯ อีกครั้งเมื่อใดนั้น ตนจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำหน้าที่ของท่านจะทำอย่างไรไม่ให้เป็นความผิดซ้ำสองกับประเทศ พล.อ.สนธิ กล่าวอย่างมีอารมณ์ฉุนเฉียวว่า ตนต้องการคำถามที่เป็นความสร้างสรรค์มากกว่านี้
ด้าน นายนิพิฏฐ์ กล่าวภายหลังการยื่นหนังสือ ว่า 1.หลักของการปรองดองไม่ควรเริ่มที่การลงมติ หรือการแสดงความเห็นว่า ใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร เพราะถ้าเริ่มต้นอย่างนั้นก็จะเป็นเเงื่อนไขให้เกิดคาวามขัดแย้งขึ้น 2.ข้อเท็้จริงที่ระบุในรายงานยังไม่ครบถ้วน เรื่องบางเรื่องยังไม่ได้นำมาระบุไว้ในรายงาน 3.ได้มีการนำข้อเท็จจริงมายกตัวอย่าง หรือมาสรุปโดยคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ตนจึงอยากให้ พล.อ.สนธิ เรียกประชุม กมธ.ปรองดองฯ อีก 2-3 ครั้งเพื่อหาความเห็นร่วมกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการรับฟัง พล.อ.สนธิ ให้สัมภาษณ์เหมือนว่าจะยืนยันที่จะเสนอความเห็นของ กมธ.ปรองดอง ผ่านแบบสอบถามไปยังสภาฯก็ไม่ต่างจากการลงมติ นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า การที่เราเริ่มต้นดำเนินการเช่นนี้ เพราะวานนี้คณะผู้วิจัยของสถาบันพระปกเกล้าฯเอง ก็รับว่า จะมีการปรับเปลี่ยนรายงานผลวิจัยส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อเราให้สถาบันพระปกเกล้าฯมาวิจัยและเขาได้ยอมรับว่า มีการผิดพลาดบางส่วนและจะปรับปรุงแก้ไข เราก็ควรที่จะเปิดโอกาสให้มีการประชุมเพื่อทบทวนในเรื่องนี้ และ กมธ.ปรองดองฯ ไม่ควรสรุปรายงานในส่วนของ กมธ.ปรองดองฯ ตราบใดที่สถาบันพระปกเกล้าฯยังไม่ส่งรายงานที่จะมีการแก้ไขตามที่มีการระบุ แต่ถ้า กมธ.ปรองดองฯ ยังจะเดินหน้าโดยไม่รอรายงานที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขปรับปรุงของสถาบันพระปกเกล้าฯ กมธ.ปรองดองฯ ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินการอย่างไรนั้น ก็ต้องรอให้มีการเรียกประชุมก่อน แต่ถ้ารายงานของสถาบันพระปกเกล้าฯออกมาแล้ว แต่ กมธ.ปรองดองฯไม่ทบทวน เราก็จะมีการพิจารณาว่าเราจะทำอย่างไรต่อไปอีกครั้ง
เมื่อถามว่า กรณี นายวุฒิสาร ตัณไชย เลขาฯ สถาบันพระปกเกล้าฯ ก็ไม่ได้กล่าวยอมรับว่าที่จะไม่แก้ไขในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ อย่างเช่น กรณีคำพิพากษาที่นำมาบิดเบือนในเรื่องของ รสช.กลับมาเปรียบเทียบในส่วนของ คตส.นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าคำพิพากษานั้นเป็นเรื่องของนายวัฒนา ที่ยกขึ้นมารายงานคงไม่ใช่ความเห็นของสถาบันพระปกเกล้าฯ แต่การที่ไปอยู่ในรายงานของสถาบันพระปกเกล้าก็อาจจะมีความผิดพลาด ซึ่งตนคิดว่า ภายในสัปดาห์หน้าก็ควรที่จะเรียกประชุมได้ แต่หากไม่มีการเรียกประชุมก็ต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยอาจจะมีการพูดคุยกันใน กมธ.ปรองดอง ส่วน กมธ.ของพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการลาออกหรือไม่ ก็ต้องหารือกันอีกครั้งหนึ่ง เพราะหากมีการปรับและเราเห็นว่าเป็นความเห็นร่วมกันของทุกฝ่าย ก็ไม่มีปัญหา