ผู้นำฝ่ายค้านเห็นใจครอบครัว “วีระ” ขอร้อง “ทักษิณ” ช่วยเจราจากัมพูชาปล่อยตัวจากคุก เห็นด้วย กมธ.ปรองดอง เปิดเวทีสาธาณะ พร้อมร่วมแสดงความเห็น โวยข้อมูลไม่รอบด้าน บิดเบือนความจริง ย้ำต้องเปิดทางแก้ไขข้อมูลใหม่ ชี้หากข้อสรุปฝืนความจริงสังคมรับไม่ได้ ติง “สนธิ” ไม่มีหน้าที่รับใช้รัฐบาลตามธง “แม้ว”
วันนี้ (16 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ กล่าวถึงกรณีที่นายปรีชา สมความคิด น้องชายนายวีระ สมความคิด จะไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่กัมพูชา เพื่อขอให้ช่วยเหลือนายวีระออกจากการคุมขังของทางการกัมพูชาว่า ตนเข้าใจว่าครอบครัวของนายวีระต้องแสวงหาทุกวิถีทางในการช่วยเหลือ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ก็พยายามที่จะบอกว่ามีความสัมพันธ์พิเศษกับกัมพูชา สามารถนำนายวีระกลับมาไทยได้ ก็ต้องทำต่อเนื่องเพื่อช่วยให้กลับให้ได้ แต่สาเหตุที่ทำให้ยังไม่ประสบความสำเร็จตนคิดว่า เป็นเพราะที่ผานมาในขณะที่ตนเป็นนายกฯ ได้พยามประสานกับกัมพูชาเพื่อให้ปล่อยนายวีระ แต่กัมพูชาอ้างข้อกฎหมาย ดังนั้น ถ้าจะเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ก็หมายความว่า กัมพูชาต้องหาวิธีการยกเว้นข้อกฏหมายเหล่านั้น จึงต้องทำให้เต็มที่เพราะเคยบอกเองว่าทำได้ ตนเห็นใจและเข้าใจครอบครัวนายวีระที่ต้องทำทุกทางเพื่อช่วยเหลือนายวีระออกมาให้ได้
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาฯ เตรียมเปิดเวทีสาธารณะในวันที่ 21 มี.ค.เพื่อให้คณะผู้วิจัยของสถาบันพระปกเกล้าชี้แจงและเปิดรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายเกี่ยวกับร่างรายงานวิจัยของสถาบันฯ ว่า ตนพร้อมที่จะไปร่วมให้ความเห็น หากเปิดโอกาส อย่าไปสรุปล่วงหน้า ขณะนี้ยังไม่มีใครเห็นรายงานฉบับสมบูรณ์ว่าเป็นอย่างไร มีแต่นายวัฒนา เมืองสุข รองประธาน กมธ.ปรองดองเท่านั้นที่อ้างว่า มีรายงานฉบับสมบูรณ์แล้ว นอกจากนี้ ในร่างรายงานดังกล่าวก็มีข้อบกพร่องผิดพลาดอยู่มาก โดยเฉพาะในเรื่องข้อเท็จจริงจึงจำเป็นต้องให้คณะผู้วิจัยต้องรับทราบประเด็นต่างๆ เพื่อปรับปรุงการวิจัย เนื่องจากพบว่ามีหลายประเด็นที่ในรายงานไม่พูดถึงข้อเท็จจริงที่สำคัญ เช่น การกระทำผิดกฎหมาย หรือการที่มีการยอมรับว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำผิดกฎหมายทั้งจากคำตัดสินของศาลและคนในสังคม
“เท่าที่ดูวิธีการลำดับเหตุการณ์ ช่วงไหนซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เขียนแล้ว ทำให้ฝ่ายผู้ชุมนุมในขณะนั้นดูดี ก็อ้างแหล่งที่มาซึ่งจำกัดมาก แต่ในการรายงานถึงรัฐบาลผม กลับไปอ้างอิงต่างประเทศทั้งที่เป็นเรื่องที่รับรู้โดยเปิดเผยในสังคมไทย และแหล่งข่าวในประเทศจะรับรู้ปัญหาได้ดีกว่าการสรุปข่าวจากต่างประเทศ ซึ่งมีมุมมองจำกัด ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร แต่การเขียนข้อเท็จจริงในมุมมองที่ไม่ครบถ้วนมีอิทธิพลต่อข้อเสนอแนะและข้อสรุปที่ไม่รอบด้าน ผมตั้งข้อสังเกตว่า เวลาเขียนที่นำไปสู่ข้อเสนอแนะในภาพรวมก็ไม่ลงรายละเอียดถึงที่มาที่ไป เช่น การเขียนว่าปรองดองต้องให้อภัย แต่ก็ไม่มีการเขียนอธิบายว่า ระหว่างการอภัยโทษกับนิรโทษ ซึ่งไม่เหมือนกัน และมีการอ้างต่างประเทศ พอไปไล่ดูตารางทั้ง 10 ประเทศก็มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ใช้นิรโทษกรรม โดยไม่เลือกประเภทของคดีความ และบางประเทศปัญหาความขัดแย้งก็เกิดจากการออกกฏหมายนิรโทษกรรมด้วยซ้ำไป” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า เมื่อยังมีข้อบกพร่องก็ต้องเปิดโอกาสให้ปรับปรุงเนื้อหาใหม่ และไม่เห็นด้วยที่นายวัฒนาออกมายืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาในร่างผลวิจัยฉบับนี้แล้ว เพราะนายวัฒนาไม่มีสิทธิแทรกแซงในการทำงานของสถาบันพระปกเกล้า เพราะทางสถาบันเองก็ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปของการปรองดอง ซึ่งตนเข้าใจว่าทุกฝ่ายคงอยากให้มีการสรุปข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชขน์ต่อตัวเอง แต่ต้องเข้าใจว่าหากข้อสรุปมันฝืนความเป็นจริงก็จะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งจะทำให้เกิดความปรองดองไม่ได้ และที่น่าสนใจคือ คณะผู้วิจัยเองก็ระบุในรายงานว่าต้องค้นหาข้อเท็จจริง แสดงว่า ข้อเท็จจริงหลายอย่างยังไม่ได้ข้อสรุป แต่กลับมีการไปสรุปข้อเท็จจริงในรายงานบางเรื่องไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบต่อผลการศึกษา หากจำเป็นที่กมธ.ต้องขยายเวลา ก็ต้องทำ
“เพราะ พล.อ.สนธิ ประธาน กมธ.ปรองดอง ไม่มีหน้าที่ไปรับใช้วาระของรัฐบาล หรือวาระของ พ.ต.ท.ทักษิณว่าจะต้องเสร็จในวันไหน เพื่อที่จะออกกฏหมาย โดยตั้งเป็นธงล่วงหน้า ทั้งที่ในร่างรายงานการศึกษาก็ไม่ได้บอกให้ต้องทำ ในทางตรงกันข้าม มีการระบุด้วยซ้ำว่า การที่จะสร้างความปรองดองได้ต้องมีบรรยากาศที่ทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกันด้วย ดังนั้น ถ้ายังทำไม่เสร็จในสมัยประชุมนี้ก็ต้องขยายเวลาทำต่อในสมัยหน้า แต่ถ้าพยายามที่จะหักเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ก็จะเกิดความขัดแย้ง ซึ่งผิดหลักการที่ทางสถาบันพระปกเกล้าเสนอมา พล.อ.สนธิเองต้องทำความเข้าใจบ้าง อย่าฟังเฉพาะรองประธาน กมธ. หรือเลขาฯ กมธ.เท่านั้น และขอให้ พล.อ.สนธิแสดงจุดยืนที่ชัดเจนเพื่ออธิบายต่อสังคม เพราะผมก็งงต่อท่าทีของท่าน เช่น การไปร่วมในชื่อในญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องลงมติ พล.อ.สนธิก็ไม่ได้ลงมติให้ ผมจึงไม่ทราบว่า พล.อ.สนธิ ยืนตรงไหน ดังนั้น ตัวท่านเองต้องทำความเข้าใจกับประเด็นต่างๆ ให้ชัดเจน เพราะอย่าลืมว่าเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง วันนี้ท่านต้องมีส่วนรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา แต่การรับผิดชอบไม่ใช่ปล่อยให้ใครมาลาก มาจูงไปทางไหนก็ได้ แต่ต้องทำความเข้าใจและแสดงความจุดยืนออกมา” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายวัฒนาเป็นจำเลยในคดีที่ คตส.พิจารณา คือ คดีบ้านเอื้ออาทร และการจัดซื้อเรือและรถดับเพลิงของ กทม.เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องเร่งรัดจะใช้ข้อสรุปของสถาบันพระปกเกล้ามานิรโทษกรรมคดีหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนทราบว่านายวัฒนามีความรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องปกติแต่ก็ต้องตอบให้ได้ว่ามีอะไรที่คิดว่า ตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะผลสรุปของ คตส.ไม่ใช่ข้อยุติเป็นแค่การรวบรวมข้อมูลนำเสนอจากนั้นกระบวนการยุติธรรมก็เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้คดีเต็มที่ รวมถึงประเด็นที่คิดว่า คตส.ไม่ให้ความเป็นธรรมด้วย แม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณเองก็สู้คดีโดยหยิบยกปัญหา คตส.ในลักษณะนี้จนจบกระบวนการพิจารณาคดี แต่บังเอิญไปรู้ล่วงหน้าว่าจะแพ้คดี จึงหลบหนีไปต่างประเทศ ไม่ใช่ว่าไม่มีโอกาสต่อสู้ และอย่าลืมว่า คตส.และกระบวนการที่ต่อเนื่องจาก คตส.ก็มีข้อยุติในหลายคดีที่หลายคนพ้นผิด แต่กลับไม่มีการพูดถึงในรายงาน ที่ข้อเท็จจริงนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าตั้งสมมติฐานว่า คตส.ตั้งธงเล่นงาน ก็ไม่เป็นความจริง ไม่เช่นนั้นจะปล่อยให้หลุดคดีทำไม ตั้งหลายคน