“สถาบันพระปกเกล้า” เผยผลวิจัยสร้างความปรองดอง เสนอ กมธ.ปรองดองฯ เข้าทางแก๊งแดง-เพื่อไทย ทุกประเด็น ทั้งจ่ายเงินเยียวยาม็อบป่วน พร้อมสร้างพิพิธภัณฑ์ยกย่อง ขณะเดียวกันยังให้นิรโทษกรรมความผิดทางการเมือง โยนคดีที่ คตส.ทำให้กระบวนการยุติธรรมปกติดำเนินการ พร้อมเปิดทางทุกฝ่ายกำหนดกติกาการเมือง แก้ไข รธน.ใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันพระปกเกล้า ได้นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง การสร้างความปรองดองแห่งชาติ ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ ผลการศึกษาพบว่าสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยมาจากปัญหาใจกลางอันประกอบด้วยปัญหามุมมองต่อประชาธิปไตยที่แตกต่างกันทั้งในขั้นอุดมการณ์ และชั้นผลประโยชน์ และปัญหาพื้นฐาน คือ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งล้วนมีความเกี่ยวข้องกัน โดยมีตัวแปร คือ การใช้อำนาจที่อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่ชอบธรรม เช่น การแทรกแซงกลไกการตรวจสอบ การรัฐประหาร บทบาทขององค์กรตรวจสอบ ฯลฯ และความรุนแรงแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมวลชน สื่อมวลชน และกลุ่มต่างๆ เช่น นักการเมือง นักลงทุน นักวิชาการฯลฯ ที่มีส่วนทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นและขยายตัวออกไป
ดังนั้น ในการสร้างความปรองดองให้คนในสังคมไทยสามารถกลับมาอยู่ร่วมกันได้อย่าสันติ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดอง โดยรัฐบาลควรแสดงเจตจำนงทางการเมืองรวมทั้งมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมที่จะสร้างความปรองดองในชาติโดยเร็ว รัฐบาลควรสร้างความตระหนักของทุกภาคส่วนในสังคมให้เห็นความสำคัญของการสร้างความปรองดองในชาติ และรัฐบาลควรเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในรูปของตัวเงินและความรู้สึก เช่นการยกย่องผู้สูญเสีย หรือการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นที่ระลึก
สำหรับแนวทางในการจัดการปัญหาความขัดแย้งนั้น คณะผู้ศึกษาได้เสนอแนวทางในระยะสั้น และระยะยาว ดังนี้ ระยะสั้น เพื่อให้การใช้ความรุนแรงยุติลง และทำให้ความขัดแย้งความบาดหมางและบาดแผลที่เกิดขึ้นขึ้นกับสังคมและปัจเจกบุคคลกลับสู่ภาวะปกติ จะต้องมีการพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้
1. การจัดการกับความจริงของเหตุการณ์รุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสีย โดยการสนับสนุนส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมการอิสระค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้ดำเนินการค้นหาความจริงให้แล้วเสร็จภายในหกเดือน และควรเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่ไม่ระบุตัวบุคคลในระยะเวลาทีเหมาะสมกับสถานการณ์ และบริบาททางสังคม โดยวัตถุประสงค์ของการเปิดเผยนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อให้สังคมเรียนรู้บทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีตและป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในอนาคต
2. การให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองโดยรวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชา ตลอดถึงผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย
ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้เสนอทางเลือกในกรณีดังกล่าว ด้วยการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท ทั้งคดีที่กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง จะไม่ได้รับการยกเว้น เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน หรือออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเฉพาะคดีการระทำความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยความผิดอื่นแม้จะมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองจะไม่ได้รับการยกเว้น เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐและเอกชน ทั้งนี้ทั้งสองทางเลือกให้ยกเว้นกรณีความผิดที่เกียวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยให้กรณีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
3. การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหาจากกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยกำหนดทางเลือก ให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติโดยให้พิจารณาเฉพาะผลการพิจารณาของ คตส.สิ้นผลลง และโอนคดีทั้งหมดให้ ป.ป.ช.ดำเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบถึงคดีที่ถึงที่สุดแล้ว
ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยให้ถือว่าคดีดังกล่าวไม่ขาดอายุความ และให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและการตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ไม่ว่าทางเลือกใดจะต้องไม่มีการฟ้องร้อง คตส.ในเวลาต่อมา เนื่องจากถือว่าการกระทำของ คตส.เป็นไปตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ขณะนั้น
4. การกำหนดกติกาทางการเมืองรวมถึงการแก้ไขกฎหมายหลัก และรัฐธรรมนูญ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาหาข้อสรุปต่อประเด็นที่อาจจะขัดต่อหลักนิติธรรมและความเป็นประชาธิปไตย และต้องหลีกเลี่ยงการสร้างความยุติธรรมของผู้ชนะ เช่น การได้มาซึ่งบุคคลที่เข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และการตรวจสอบองค์กรอิสระและประเด็นพรรคการเมือง การถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริเหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและองค์กรอิสระระยะยาว สังคมต้องมีการพิจารณาร่วมกันในประเด็นที่เป็นปมปัญหา ได้แก่ คุณลักษณะของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อแสวงการสาระร่วมกันของอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แตกต่างโดยการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย อันนำไปสู่การสร้างเป้าหมายร่วมกันของประเทศชาติ
ตลอดจนมีการกำหนดกติกาทางการเมืองร่วมกันผ่านการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อหาดุลยภาพของการเมืองอันเป็นการกำหนดแนวทางที่มาจากการยอมรับของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
นอกจากนี้จะต้องมีการพิจารณารวมกันถึงการวางรากฐานของประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะประเด็น เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคม การเสริมสร้างวัฒนธรรมความเป็นพลเมือง และการอยู่ร่วมกันในความแตกต่างควบคู่ไปด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวมาจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยปัจจัยความสำเร็จอย่างน้อง 3 ประการ คือ เจตจำนงทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐที่จะสร้างความปรองดอง, กระบวนการสร้างความปรองดองที่จะต้องมีพื้นที่ให้กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง และประชาชนทุกภาคส่วน และปัญหาใจกลางซึ่งเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งจะต้องได้รับการแก้ไขและแปรเปลี่ยนเป็นพลังในการพัฒนาประชาธิปไตย