“สถาบันพระปกเกล้า” อ้างข้อเสนอปรองดอง ทั้งนิรโทษกรรม-โละคดี คตส.-จ่ายเงินเยียวยา มาจากการศึกษาเชิงทฤษฎีที่นำไปสู่ความปรองดองในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ยันมีความเป็นกลาง ไม่มีเป้าหมายที่จะให้ใครคนใดคนหนึ่งได้กลับประเทศ
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยถึงรายงานข้อเสนอสร้างความปรองดองในชาติ ที่จะจัดส่งให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ จะประกอบไปด้วย 1. การจัดการกับความจริงของเหตุการณ์รุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสีย โดยการสนับสนุนคณะกรรมการอิสระค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้ดำเนินการค้นหาความจริงให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ควรเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่ไม่ระบุตัวบุคคลในระยะเวลาที่เหมาะสม
2. การให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง โดยรวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชา ตลอดถึงผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยใช้การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท แต่คดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองจะไม่ได้รับการยกเว้น เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐ หรือเอกชน หรืออีกทางเลือก คือ การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเฉพาะคดีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทั้ง 2 ทางเลือกให้ยกเว้นกรณีความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยให้กรณีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
3. การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจากกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยกำหนดทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 ให้ดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติโดยให้พิจารณา เฉพาะผลการพิจารณาของ คตส.สิ้นผลลงและโอนคดีทั้งหมดให้ ป.ป.ช.ดำเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบถึงคดีที่ถึงที่สุดแล้ว ทางเลือกที่ 2 ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยให้ถือว่าคดีดังกล่าวไม่ขาดอายุความ ทางเลือกที่ 3 ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและการตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใดจะต้องไม่มีการฟ้องร้อง คตส.ในเวลาต่อมา
4. การกำหนดกติกาทางการเมือง รวมถึงการแก้ไขกฎหมายหลักและรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาหาข้อสรุปต่อประเด็นที่อาจจะขัดต่อหลักนิติธรรมและความเป็นประชาธิปไตย
ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า หลักคิดต่างๆ เกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าวมาจากการศึกษาจากทั้งเชิงทฤษฎี กรณีศึกษาปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างความปรองดองในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยเอกสารเกี่ยวกับข้อเสนอทั้งหมดของสถาบันพระปกเกล้าที่สมบูรณ์ ซึ่งจะมีประมาณ 100 กว่าหน้า ก็จะได้มีการนำเสนอต่อสาธารณชนต่อไป ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าจุดยืนของสถาบันพระปกเกล้า เกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าว มีความเป็นกลางและไม่ได้มุ่งหมายที่จะนำใครคนหนึ่งคนใดกลับประเทศแน่นอน
นอกจากนี้ ข้อเสนอในระยะสั้น ทางสถาบันมีทางเลือกให้ ยกตัวอย่างเช่นข้อเสนอการนิรโทษกรรม ที่จะมีทางเลือกให้หลายๆ ทาง เช่น อาจจะเป็นตัวเลือกที่ 1. ล้มล้างความผิดทั้งหมด หรือ 2. เว้นการพิจารณาคดีเป็นบางกรณี หรือ 3. เปลี่ยนการพิจารณาคดีให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้หมายความว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นการล้างความผิดให้แก่บุคคลที่กระทำความผิดไปทั้งหมดแต่อย่างใด แต่ถึงที่สุดแล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับทางคณะกรรมาธิการปรองดองเองว่าจะเลือกแนวทางใด
ส่วนในระยะยาวจะมีการเสนอให้มีการส่งเสริมบรรยากาศการปรองดอง โดยการให้รัฐบาลแสดงเจตจำนงทางการเมือง ให้มีแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการสร้างความปรองดองแห่งชาติโดยเร็วที่สุด ให้รัฐบาลสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้เห็นว่าการสร้างความปรองดองแห่งชาติมีความสำคัญยิ่ง และให้รัฐบาลเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในรูปของตัวเงินและความรู้สึก
และข้อสำคัญที่สุดก็คือ ให้ทุกฝ่ายงดเว้นการกระทำที่ทำให้คนรู้สึกว่าสังคมไม่เคารพกฎหมายและนิติรัฐ เช่น การนำมวลชนออกมากดดันต่อเรื่องต่างๆ
ส่วนเรื่องการออกเสนอให้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่สุดของข้อเสนอปรองดองของสถาบันพระปกเกล้านั้น จะมี 2 ทางเลือก คือ 1. นิรโทษกรรมในทุกกรณี 2. นิรโทษกรรมแต่เว้นผู้ที่กระทำความผิด โดยในแต่ละทางเลือกจะมีความเห็นทั้งผลดีและผลเสียเสนอประกอบไปให้ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาด้วย
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ขณะที่ในเบื้องต้น การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะคลอบคลุมตั้งแต่เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา น่าจะเหมาะสมที่สุด ส่วนจะเป็นวันที่ชัดเจนวันที่เท่าใดนั้นก็สุดแต่ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะเป็นผู้พิจารณา อย่างไรก็ดี ในส่วนของการนิรโทษกรรมนี้หากจะมีการนำไปใช้คงจะต้องมีกระบวนการคิดที่ละเอียดกว่านี้ เพราะจะต้องมีกระบวนการชัดเจน และที่สุดแล้วการนิรโทษกรรมจะนำไปสู่การเยียวยา เพราะกระบวนการเยียวยา จะดำเนินไปไม่ได้หากยังมีคดีความกันอยู่