xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” ปัดให้คนอื่นกดบัตรแทน เตรียมฟ้อง “ประชา” กุข่าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันไม่เคยให้ใครกดบัตรลงคะแนนแทน เฉ่ง “ประชา” พยายามทำให้สับสน หลังพรรคพวกตัวเองถูกตรวจสอบ เตรียมฟ้องดำนินคดี ห่วงแก้ รธน. ม.291/6 ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การส่งผู้สมัคร ส.ส.ร.สรรหา 22 คน หวั่นครอบงำ


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์ให้คนอื่นกดบัตรลงมติแทนว่า เป็นเรื่องแปลก เพราะไม่มีเหตุผลที่ฝ่ายค้านและตนจะไปกดบัตรแทนกัน ยืนยันว่าไม่เคยทำและไม่ได้ทำ ถือเป็นเรื่องของความพยายามของพรรคเพื่อไทย ที่เมื่อมีการตรวจสอบเรื่องอะไรขึ้นมาก็พยายามที่จะทำให้เกิดความสับสน โดยหวังว่าในที่สุดเรื่องจะผ่านไป แต่ประเด็นคือ ขณะนี้รัฐบาลพยายามเร่งผลักดันร่างรัฐธรรมนูญทุกวิถีทาง ในลักษณะการกินรวบไม่เปิดให้คนมีส่วนร่วม พยายามวางแนวทางครอบงำ พรรคประชาธิปัตย์จึงจำเป็นต้องคัดค้านต่อสู้เท่าที่จะทำได้

โดยในการประชุมรัฐสภาหลายครั้ง สมาชิกฝั่งรัฐบาลก็มาไม่ครบองค์ประชุม ถึงขนาดหาที่จอดรถได้ง่าย จากเดิมที่เมื่อมีการประชุมร่วมรัฐสภาจะหาที่จอดรถได้ยาก แต่องค์ประชุมกลับครบ ถือเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะฉะนั้นต้องดูว่ากระบวนการตรากฎหมายชอบหรือไม่ จึงทำให้เกิดความพยายามทำให้เกิดความสับสน กล่าวหากันไปมาทำนองว่าใครๆ ก็ทำอย่างนี้

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่นายประชาระบุว่ามีหลักฐานนั้น ตนก็เห็นว่านำมาเปิดแล้วแต่ไม่เห็นว่ามีอะไร อยากถามกลับนายประชาว่าทุกครั้งกดบัตรเองหรือไม่ ช่วยหาหลักฐานมาพิสูจน์ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องตลก ส่วนที่นายประชาระบุว่าถ้าไม่เป็นไปตามที่กล่าวหาก็พร้อมขอโทษนั้นก็เป็นการพูดเพื่อให้เกิดความสับสน อย่าเล่นการเมืองแบบนี้เลย ขอให้ไปทำเรื่องให้ถูกต้องดีกว่า ให้ประชาชนมั่นใจว่าสมาชิกรัฐสภามากันครบองค์ประชุมและใช้สิทธิกันเอง ไม่มีการไปใช้สิทธิของคนอื่น ทั้งนี้ ฝ่ายกฎหมายของพรรคกำลังพิจารณาเรื่องการดำเนินการฟ้องร้องอยู่ ส่วนคลิปของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ที่มีการระบุว่ากดบัตรแทนกันนั้น ตนเห็นว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้กระบวนการตรวจสอบ โดยมาตรฐานการตรวจสอบต้องมี

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ฝ่ายค้านยังติดใจร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291/6 เรื่องการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากผู้เชี่ยวชาญ 22 คน โดยเกรงว่า การให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ขององค์กรต่างๆ ที่จะเสนอชื่อเข้ามา จะทำให้เสียงส่วนมากครอบงำได้ ดังนั้น แนวทางที่สำคัญที่สุดคือ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน

ส่วนการที่พรรคประชาธิปัตย์จะตั้งเวทีนอกสภาตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนหรือไม่นั้น ยังต้องรอดูตัวกติกาสุดท้ายว่าจะออกมาอย่างไร ส่วนแนวทางการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความร่างรัฐธรรมนูญนั้น ฝ่ายกฎหมายของพรรคกำลังรวบรวมประเด็นที่เป็นปัญหาในเชิงกระบวนการและการกดบัตรแทนกัน ก็เป็นประเด็นหนึ่ง ไม่ได้มีเงื่อนเวลาว่าจะต้องยื่นก่อนที่รัฐธรรมนูญจะผ่านวาระ 3 หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น