xs
xsm
sm
md
lg

ลือสะพัด!"บิ๊กอ๊อบ" เสียบรองนายกฯ เบียด"เหลิม"คุมตำรวจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ลือสะพัด! "เพรียวพันธ์" นั่งรองนายกฯ คุมตำรวจ "ชูวิทย์"แฉคนดูไบไฟเขียวแล้ว ส่วน "เหลิม"คาดถูกลดชั้นให้ทำแค่ไปงานแต่ง ตัดริบบิ้น ด้านศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจคำวินิจฉัยกลางเสร็จแล้ว เตรียมส่ง 2 ฝ่ายสัปดาห์หน้า "นิติราษฎร์"ป่วนอีก เล็งยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนิติเรด "มาร์ค" จี้ "ปู"แสดงจุดยืนแก้รัฐธรรมนูญ พร้อมฉะ "แม้ว"เร่งนิรโทษเพื่อตัวเอง เพื่อไทยนัดถก 29 ก.ค. หาท่าทีเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ "อุกฤษ"แนะคว่ำวาระ 3 ทำประชามติก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีกระแสข่าวมาตั้งแต่เดือนเม.ย.2555 ว่า อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายกรัฐมนตรี จากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นบุคคลอื่น หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง โดยเฉพาะช่วงที่มีปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากผิดจริง จะมีโทษถึงขั้นยุบพรรค โดยล่าสุดเรื่องดังกล่าว เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น และมีกระแสข่าวต่อเนื่องว่า คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีชื่อนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รมว.มหาดไทย รวมถึงคนในตระกูลชินวัตร ตระกูลดามาพงษ์ อีกทั้งยังมีชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ที่จะเกษียณอายุราชการจาก ผบ.ตร. ในเดือนก.ย.นี้ เป็นแคนนิเดตนายกฯ ด้วย โดยเบื้องต้นอาจจะให้นั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี คุมตำรวจไปก่อน

ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้ปฏิเสธกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ระบุว่า ร.ต.อ.เฉลิมอาจจะได้ปรับไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยยืนยันว่า ยังมีความสุขในการทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลการปราบปรามยาเสพติด ที่สำคัญหากให้ตนไปเป็น รมว.มหาดไทยจริง อยากถามว่าจะให้นายยงยุทธ จะไปอยู่ตรงไหน

ส่วนแนวโน้มที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ จะเข้ามาร่วม ครม.หรือไม่นั้น ส่วนตัวเห็นว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ มีความเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องการปราบปรามยาเสพติด และเป็นคนที่ซื่อสัตย์สุจริต มีความสามารถ เรียบง่าย ส่วนการตัดสินใจของนายกฯ เป็นอย่างไร ตนไม่สามารถก้าวล่วงได้ หากจะให้มาดูแลงานแทนตน ก็ไม่มีปัญหา เคารพการตัดสินใจของนายกฯ เพราะ พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ มีความเหมาะสมที่จะดูแลงานด้านความมั่นคง และแก้ปัญหายาเสพติดอยู่แล้ว

ที่รัฐสภา นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขณะนี้คนดูไบ เตรียมให้พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ ที่จะเกษียณอายุ ผบ.ตร. มาทำหน้าที่ รองนายกรัฐมนตรีดูแล สตช. อยู่แล้ว ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม ก็ยังให้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ให้ไปงานแต่งงาน ตัดริบบิ้น และทำหน้าที่ตอบโต้ในสภาฯ เท่านั้น

ทางด้่านพล.ต.อ.เพรียวพันธ์กล่าวว่า ตนยังเป็น ผบ.ตร. อยู่ และเห็นว่า ร.ต.อ.เฉลิม เหมาะสมกับตำแหน่งนี้มากกว่า

**ศาลตรวจคำวินิจฉัยกลางเสร็จ

สำหรับความคืบหน้าการจัดทำรายละเอียดคำวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า รายละเอียดคำวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในคำร้องกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิถีทางที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ได้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเตรียมที่จะตรวจทานถ้อยคำผิด และตีพิมพ์ส่งให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ภายในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน กำลังเร่งเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนอยู่ แม้ว่าระเบียบของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จะกำหนดให้เผยแพร่คำวินิจฉัย ภายในไม่เกิน 60 วัน นับตั้งแต่มีคำวินิจฉัย แต่เนื่องจากคำร้องเรื่องสำคัญ และอยู่ในความสนใจของประชาชน จึงต้องเร่งดำเนินการ และในสัปดาห์นี้ จึงไม่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใดเดินทางมายังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

"ศาลให้คัดคำวินิจฉัยกลางได้ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่มีคำวินิจฉัย คาดว่าน่าจะเป็นภายในสัปดาห์หน้า"

อย่างไรก็ตาม คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีวาระการประชุมอีกครั้ง ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ เพื่อพิจารณารายละเอียดต่างๆ ที่ยังไม่เรียบร้อย รวมถึงพิจารณาคำร้อง ออกคำสั่งในคำร้องเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 อีก 1 สำนวน ที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นผู้ร้อง และ 416 ส.ส. และ ส.ว. เป็นผู้ถูกร้อง

** “เรืองไกร”ยื่นขอถอน 2 คำร้อง

นายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เบื้องต้นตนยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดหรือเนื้อหาของคำวินิจฉัย แต่ก็จะเป็นไปตามที่ศาลได้อ่านไปแล้วทั้ง 4 ประเด็น โดยอยากให้ทุกฝ่ายรออ่านคำวินิจฉัยให้ชัดเจนอีกครั้ง เชื่อว่าสังคมก็จะเข้าใจ

อย่างไรก็ตาม นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ได้ยื่นหนังสือขอถอน 2 คำร้อง กรณีที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า ส.ส. ส.ว. จำนวน 317 คน และ 6 พรรคการเมือง รวมถึงกกต. และผู้ตรวจการแผ่นดิน มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291มายังสำนักงานแล้ว โดยอยู่ระหว่างการนำเสนอเรื่องให้ตุลาการฯพิจารณา คาดว่าจะสามารถเข้าสู่การประชุมได้ในการประชุมวันที่ 25 ก.ค. นี้

ทั้งนี้ ยังคงเหลือคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และคณะ ที่ยื่นร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาถอดถอนคณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาที่ลงมติสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวม จำนวน 416 คน โดยทางกลุ่มส.ส.และส.ว. ได้มีส่งหนังสือขอขยายเวลาการจัดทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาออกไปอีก 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทางนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับหมายให้รับผิดชอบสำนวนดังกล่าว ก็ได้ลงนามอนุญาต ขยายเวลาให้ทางส.ส.และส.ว. ทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาออกไป 30 วัน จึงทำให้ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ จะยังไม่มีการนำวาระดังกล่าวเข้าสู่การประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากกลุ่มพันธมิตรฯ มีความประสงค์ที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญถอนคำร้องดังกล่าวออกจากการพิจารณา ก็สามารถยื่นหนังสือเข้ามาทางศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ที่ประชุมตุลาการฯ พิจารณาว่าจะถอนคำร้องได้

**"นิติราษฎร์"ร่างรัฐธรรมนูญนิติเรด

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะแกนนำคณะนิติราษฏร์ กล่าวว่า คณะนิติราษฏร์ มีแนวคิดที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฏร์ หวังจะให้เป็นรัฐธรรมนูญต้นแบบที่มีความเหมาะสมกับสังคมไทย เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้นำไปใช้เป็นแนวคิดในการปรับแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเนื้อหายังคงความเป็นราชอาณาจักรไทย และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งมีความเป็นนิติรัฐมากขึ้นด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดของสมาชิกในคณะนิติราษฏร์

**จี้"ปู"ทำสัญญาประชาคม

ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายกฯ ควรแสดงจุดยืนที่ชัดเจน ซึ่งตนจะถือว่านั่นคือคำมั่นสัญญา หรือสัญญาประชาคมกับประชาชน

เมื่อถามว่า สุดท้ายแล้วอยู่ที่การตัดสินใจของพ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็ต้องดู เพราะพ.ต.ท.ทักษิณเวลาพูดต่อสาธารณะทำนองว่าอยากทำตามศาล แต่เราไม่ทราบว่าภายในคุยกันอย่างไร

เมื่อถามอีกว่า มองอย่างไรที่นายกฯ ออกมาพูดว่ารอคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ และให้เป็นหน้าที่ของสภาฯ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนถึงย้ำว่าปัญหาที่จะตัดสินใจเวลานี้ ไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายแล้ว แต่เป็นการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ในการบริหารบ้านเมืองและการตัดสินใจทางการเมือง การที่จะพูดว่าเป็นเรื่องของสภาฯ โดยข้อเท็จจริงเป็นเรื่องของเสียงข้างมาก รัฐบาลสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้อยู่แล้ว ก็จะทำให้เรื่องมันจบได้ อย่าไปสร้างความไม่แน่นอนให้เกิดขึ้นเลย เพราะยังมีความกังวลอีกหลายเรื่อง แล้วจะมาซ้ำเติมประเทศทำไม

ต่อข้อถามว่า นายกฯ อ้างว่าเรื่องนี้พ้นครม.ไปแล้ว และอยู่ในชั้นสภาฯ ถือว่าฟังขึ้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขอถามว่าถ้าวันนี้นายกฯ เดินเข้าไปที่พรรคเพื่อไทย แล้วบอกว่ารัฐบาลมีทิศทางที่ชัดเจน จะขอให้ทุกฝ่ายหยุดเรื่องนี้ไว้ แล้วไปทำตามที่ศาลชี้ ตนก็มั่นใจว่าทุกอย่างสามารถที่จะดำเนินการตามนี้ได้

**ฉะแม้วดันนิรโทษแบบตัดตอน

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มที่อาจมีการผลักดันร่างพ.ร.บ.ปรองดองในสภาอีกรอบ หลังจากที่พ.ต.ท.ทักษิณ ยังพยายามผลักดันเรื่องนิรโทษกรรมนั้น มีความเป็นไปได้ เพราะเป็นการพูดในลักษณะตัดตอน ตนคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณพยายามที่จะทำให้เกิดความไขว้เขวว่าถ้าไม่นิรโทษกรรมแล้ว แปลว่าการปรองดองเกิดขึ้นไม่ได้ ซึ่งมันไม่ได้เริ่มต้นอย่างนั้น แต่ต้องเริ่มจากการสร้างบรรยากาศความปรองดอง แล้วมาตกลงว่าอะไรบ้างสมควรได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งมีอยู่แล้ว

**"เหลิม"แอ่นอกรับงานให้ “นายใหญ่”

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้พูดมาหลายครั้งแล้ว ขอเพียงให้ใช้บริการตนในการเดินหน้าเรื่องนี้ ไม่นานจะเรียบร้อยทั้งหมด โดยตนจะทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนเป็นเบื้องต้น ให้ทำความเข้าใจกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ฉบับของตนจนครบ 6 มาตรา ซึ่งในร่างของตน ก็มีในส่วนการนิรโทษกรรมครอบคลุมไว้แล้ว

**รัฐบาล ชี้แก้รายมาตราสำเร็จยาก

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานมากในการแก้ไขทีละมาตรา เนื่องจากที่ผ่านมา เคยมีการแก้ไขประมาณ 10 มาตรา ซึ่งใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ แต่หากต้องมีการแก้ไขทั้งฉบับต้องใช้เวลาเป็นปี และหากว่ามีการมีการชะลอการดำเนินการเรื่องดังกล่าวจะทำให้ไม่มีโอกาสแก้ไขให้แล้วเสร็จ ซึ่งต้องมีการดำเนินการอีกครั้ง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการการดำเนินการตามประชามติหรือไม่นั้น นายวรวัจน์กล่าวว่า จะขอดูคำวินิจฉัยส่วนตนอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากทางศาลรัฐธรรมนูญใช้คำว่า ”ควร” ซึ่งต้องขอดูความหมายที่แท้จริงว่าคืออะไร

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากคำว่า "ควร” เมื่อกฤษฎีกาตีความหมายว่า ไม่เข้าข่ายผูกพันกับองค์กร จะมีการเดินหน้าวาระ 3 ต่อไปหรือไม่ นายวรวัจน์ กล่าวว่า ในเรื่องนี้ต้องขอศึกษาก่อน เนื่องจากมีรายละเอียดมาก และต้องขอศึกษาข้อมูลที่แน่ชัดเสียก่อน ซึ่งศาลต้องการให้มีการแก้รายมาตรา แต่ในส่วนตัวรู้สึกว่าการแก้ไขรายมาตรานั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ส่วนกรณีข้อเสนอของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 นั้น ทางพรรคได้รับทราบข้อมูลแล้วและยินดีจะรับฟังข้อมูล และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพูดคุยกัน

**พท.ระดมความเห็นหาข้อยุติ

ที่พรรคเพื่อไทย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่พัทยา จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 28-29 ก.ค. พรรคจะระดมความคิดเห็นระหว่างน.ส.ยิ่งลักษณ์ คณะกรรมการบริหารพรรค คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคที่ปรึกษา และ ส.ส.ทั้งหมด เพื่อหาข้อสรุปว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในแนวทางใด ประกอบด้วย เดินหน้าลงมติวาระที่ 3 ชะลอการลงมติแล้วทำประชามติ หรือแก้ไขเป็นรายมาตรา ตามคำวินิจฉัยของศาล ก่อนเปิดสมัยการประชุมสามัญทั่วไป

นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า จะไม่มีการถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกอย่างแน่นอน แต่ตามที่ 416 ส.ส. และ ส.ว. มีมติไปนั้น ก็ยังไม่ได้มีมติไปว่า จะลงมติวาระ 3 หรือไม่ ส่วนตัวสนับสนุนให้ทำประชามติก่อน ค่อยลงมติวาระ 3 เพราะไม่อยากให้มีผู้ทักท้วง แล้วไปร้องศาลรัฐธรรมนูญอีก ทั้งนี้ ส.ส.และส.ว. มองว่า ทางออกที่จะสรุปว่า จะลงมติวาระ 3 ต่อไปหรือไม่ ก็คือการถามสมาชิกรัฐสภา หลังจากเปิดสมัยการประชุมสภาแล้ว

**"โภคิน"ชี้แก้รายมาตราเริ่ม ม.309

นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา กล่าวว่า การเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรานั้น ควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่ขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเอง อาทิ มาตรา 309 ที่ขัดกับมาตรา 3 และเป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ยึดอำนาจและออกคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงควรแก้ไขเพื่อสร้างหลักประชาธิปไตยให้ประเทศเดินหน้า ซึ่งไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามที่ถูกตั้งข้อสงสัย ทั้งนี้ เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่จำกัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญนั้นต้องพิจารณาเป็นรายกรณี ในอดีตเคยมีศาลยุติธรรมคอยทำหน้าที่แก้ไขข้อพิพาทเรื่องรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จะยังคงมีศาลรัฐธรรมนูญอยู่หรือไม่ต้องพิจารณาขอบเขตอำนาจให้ดี แต่ย้ำว่าหลังจากนี้ต้องระบุอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่าการยื่นคำร้องตามมาตรา 68 ต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อนเท่านั้น

**“อุกฤษ”เสนอคว่ำวาระ3

ที่รัฐสภา นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ออกแถลงการณ์ ว่า รัฐสภาควรปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญที่รอลงมติในวาระที่ 3 ตกไป เพื่อไปดำเนินการออกเสียงประชามติ โดยกำหนดหัวข้อให้ชัดเจน คือ ให้ประชาชนมีตัวเลือกว่า หากไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว รัฐบาลจะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาปรับปรุงแก้ไข และประกาศใช้บังคับแทน ซึ่งเห็นว่าควรนำรัฐธรรมนูญ 2517 มาเป็นตัวเลือก หากประชาชนลงประชามติไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550ก็จะนำรัฐธรรมนูญ 2517 มาปรับปรุงแก้ไขตามกระบวนการมาตรา 291 จากนั้นให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้งก่อนประกาศใช้บังคับ

**ส.ส.ร.40 ค้านลงประชามติ

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตส.ส.ร.ปี 40 กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีการลงประชามติ เพราะความเห็นดังกล่าวไม่ได้เป็นคำวินิจฉัย อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ก็ไม่ได้เขียนในเรื่องการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ส.ส.ร.มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้ ร่างแก้ไขในมาตรา 291 โดยสาระเหมือนกับมาตรา 313 ของรัฐธรรมนูญ 40 ดังนั้น การที่อ้างว่า เจตนารมณ์ของมาตรา291 ต้องการให้มีการลงมติก่อนว่า จะเห็นชอบกับการให้มีส.ส.ร.หรือไม่ จึงเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยที่ไม่มีบทบัญญัติรองรับ อาจจะทำให้ขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง

นอกจากนี้ หากจะมีการออกเสียงประชามติว่าจะให้มี ส.ส.ร. หรือไม่ ก็ต้องไปแก้เพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญ50 เสียก่อน ซึ่งก็ไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้ยื่นญัตติดังกล่าว ซึ่งตนไม่เห็นด้วยหากให้คณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเป็นฝ่ายยื่น เพราะจะกลายเป็นประชามติเฟ้อ และเป็นภาระประชาชน แถมยังต้องเสียเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่วนการแก้ไขเป็นรายมาตราก็ ไม่สามารถทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น