xs
xsm
sm
md
lg

รัฐสภาผ่าน ม.291/16-17 นัดใหม่ 14 พ.ค. - “รสนา” จี้ยุบสภารับผิดหาก รธน.ไม่ผ่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิกตระกูล ส.ว.กทม. (แฟ้มภาพ)
ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ผ่าน ม.291/16 และ ม.291/17 ก่อน ปธ.สั่งปิดประชุม นัดใหม่ถก ม.5 จันทร์นี้ - ส.ว.กทม.สับสุดหัวหมอ ไม่เขียนร่างฯ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ร.หวังยกร่าง รธน.ได้เรื่อยๆ จนกว่าจะพอใจ ชี้ถ้า รธน.ไม่ผ่านประชามติ ต้องยุบสภาเพื่อรับผิดชอบ จวกแก้กฎหมายมีแต่นักการเมืองได้ประโยชน์ “สามารถ” อ้างตั้ง ส.ส.ร.ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ ขณะที่ “วิเชียร” ตามคาด ประกาศลาออกกลางสภาลงเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี


วันนี้ (11 พ.ค.) ที่รัฐสภา การพิจารณามาตรา 291/16 ระบุว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตามหมวดนี้ตกไปตามมาตรา 291/11 วรรคหก หรือการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จ เพราะเหตุ ส.ส.ร.สิ้นสุดลงตามมาตรา 291/15 (1) หรือ (2) คณะรัฐมนตรีหรือ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ว. และส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภามีมติให้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามความในหมวดนี้อีกได้ การออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ทั้งนี้ บุคคลที่เคยเป็น ส.ส.ร.ชุดเดิมจะเป็น ส.ส.ร.อีกไม่ได้ เมื่อรัฐสภามีมติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะมีการเสนอญัตติตามวรรคหนึ่งอีกไม่ได้ เว้นแต่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่

โดยสมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติส่วนใหญ่เห็นควรให้ตัดมาตรานี้ออกทั้งหมด รวมทั้งไม่เห็นด้วยหาก ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่เสร็จสิ้น แล้ว ครม.หรือสมาชิกรัฐสภาสามารถเข้าชื่อเสนอญัตติต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อีก

โดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยที่มีการเสนอให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เห็นได้ชัดว่าเขียนไว้เพื่อให้สามารถจัดทำร่างใหม่ได้ตลอด เป็นการแสดงให้เห็นเจตนาว่า การที่ไม่มีการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือก ส.ส.ร.เป็นการเฉพาะเพื่อให้เกิดความรวดเร็วของกระบวนการ ซึ่งหากกระบวนการยกร่างฉบับใหม่ไม่สำเร็จก็เขียนเปิดโอกาสให้ตัวเองสามารถยกร่างใหม่ได้เรื่อยๆ จนกว่าจะประสบความสำเร็จ ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการแก้กฎหมายแบบหัวหมอ ซึ่งตนยืนยันว่าจะคัดค้านไม่ลงมติในวาระ 3 ด้วย

“หากรัฐธรรมนูญต้องตกไปตามที่ท่านได้เขียนไว้ ครม.และรัฐสภาควรเขียนให้ตัวเองต้องรับผิดชอบว่าหากรัฐธรรมนูญต้องตกไป สภาควรจะยุบไปด้วย และรัฐบาลควรจะลาออก เพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างขึ้นมาโดยรัฐบาล และได้ผ่านรัฐสภา สิ่งที่รัฐสภาทำคือเป็นการโอนอำนาจของตัวเองออกไป” น.ส.รสนากล่าว

เมื่อถึงตรงนี้ทำให้มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยพากันประท้วง เช่น นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. ได้ประท้วงตามข้อบังคับที่ 43 ว่าเป็นการให้พูดซ้ำซาก วกวน ไม่อยู่ในประเด็น แต่ น.ส.รสนากล่าวว่า จะไม่ให้เสียงข้างน้อยพูดเลยก็เป็นเผด็จการรัฐสภาเกินไป ถึงอย่างไรเสียงข้างมากก็ต้องผ่านอยู่แล้ว

จากนั้น น.ส.รสนาอภิปรายต่อว่า ในอดีตเผด็จการอย่างฮิตเลอร์ทำก็เป็นแค่รัฐบัญญัติ เพื่อมอบอำนาจให้รัฐ แต่รัฐสภาไทยกำลังทำสิ่งที่ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกว่ามีการร่วมมือกันสร้างรัฐธรรมนูญ เพื่อมอบอำนาจสิทธิขาดให้กลุ่มการเมือง โดยที่รัฐสภาไม่ได้มีโอกาสได้เห็นเนื้อหาสาระ ตนเห็นว่าการที่ กมธ.เสียงข้างมากได้กำหนดว่า เมื่อการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องตกไปตามมาตราดังกล่าวก็ควรจะยุติการที่จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะเปลืองงบประมาณ ทั้งที่เรามีกฎหมายอื่นอีกเยอะแยะ และต้องใช้เวลายาวนาน ถ้าทำไม่สำเร็จรัฐสภาก็ไม่ต้องไปออกกฎหมายอื่น มัวแต่มาแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญผู้ที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มอำนาจระดับบน คือ นักการเมือง แต่ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ในสิ่งนี้ เราจึงไม่สามารถจะคาดหวังได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแท้จริงหรือไม่

ต่อมา นายสามารถ แก้วมีชัย ประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า เนื้อหาเป็นไปตามร่างเดิม คือ หลังจากที่เราได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ ส.ส.ร.ก็จะดำเนินการไป แต่หาก ส.ส.ร.ไม่สามารถที่จะทำภารกิจเสร็จสิ้น หรือ ส.ส.ร.ไปดำเนินการไม่เป็นไปตามข้อห้ามที่เราบัญญัติไว้ก็จะมีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งเราก็บัญญัติมาตรานี้ไว้ 3 กรณีที่เราจำเป็นต้องให้สิทธิ ส.ส., ส.ว. หรือ ครม.ที่จะร้องขอต่อรัฐสภา เพื่อที่จะขอทำ ส.ส.ร.ชุดใหม่ที่ต้องทำงานต่อไปให้เสร็จ อย่างไรก็ตาม มาตรานี้เราเอาแบบอย่างมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 34 หากเกิดเหตุเหล่านั้นขึ้นก็จะได้หาทางออกได้ การที่สมาชิกเป็นห่วงว่าเปิดโอกาสให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างซ้ำซากนั้น ยืนยันว่าหากไม่เกิดเหตุขึ้นตามมาตรานี้ เราก็ไม่จำเป็นต้องเอามาตรานี้มาใช้ ซึ่งการตั้ง ส.ส.ร.ไม่ได้ทำขึ้นในทันที แต่เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะต้องลงมติให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ในการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา ดังนั้น กมธ.เสียงข้างมากจึงขอยืนยันตามร่างเดิม

หลังจากที่ปล่อยให้สมาชิกอภิปรายกันมาพอสมควร ก่อนจะปิดการอภิปรายในมาตรา 291/16 นายวิเชียร ขาวขำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ถือโอกาสกล่าวกลางที่ประชุมรัฐสภาว่า ขอใช้สิทธิในการอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภาเป็นครั้งสุดท้าย แต่ยังกล่าวไม่ทันจบ นายบุญยอดได้ลุกขึ้นประท้วงว่า ไม่ควรใช้เวทีรัฐสภาแห่งนี้เพราะเป็นการเอาเปรียบเพื่อน เนื่องจากมีข่าวว่านายวิเชียรจะลาออกเพื่อไปลงสมัครเป็นนายก อบจ.อุดรธานี ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง นายวิเชียรจึงตอบโต้ว่า ตนมีมารยาทพอที่จะไม่ทำอะไรเช่นนั้น แต่ขอชี้แจงว่าการลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ต้องมีการเลือกตั้งซ่อม ดังนั้นจึงไม่ได้กระทบกระเทือนใครเลย ก็ขอใช้โอกาสนี้ขออนุญาตกราบลาท่านประธานและเพื่อนสมาชิกรัฐสภาไว้ ณ ตรงนี้

จากนั้น นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย หารือว่าการประกาศลาออกของนายวิเชียรถือว่ามีผลแล้วหรือไม่ ขอให้ประธานรัฐสภาได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ และตรวจนับองค์ประชุมอีกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำประเด็นดังกล่าวนี้ไปตีความว่ามาตราดังกล่าวนี้เป็นโมฆะหรือไม่ ซึ่งนายสมศักดิ์ได้แจ้งว่า นายวิเชียรได้นำบัตรประจำตัวสมาชิกมาคืนตนแล้ว แสดงว่านายวิเชียรไม่ได้กดบัตรแสดงตนเพื่อลงมติ จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามกรรมาธิการฯ เสียงส่วนใหญ่ด้วยคะแนน 346 ต่อ 88 เสียง งดออกเสียง 7

ต่อมาเป็นการพิจารณาในมาตรา 291/17 ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ ส.ส.ร. รับผิดชอบงานธุรการ งานประชุม การศึกษาหาข้อมูล และกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานของ ส.ส.ร. โดยที่ประชุมมีมติเห้นชอบตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก ด้วยคะแนน 354 ต่อ 72 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง จากนั้นประธานได้สั่งปิดประชุมในเวลา 16.05 น.

สำหรับมาตราที่ยังค้างการพิจารณา คือ มาตรา 5 เกี่ยวกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่จะต้องมีการตราพระราชกฤษฏีกาภายใน 15 วัน เพื่อให้มีการดำเนินการจัดหา ส.ส.ร.ภายใน 90 วัน มาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ โดยจะมีการนักประชุมร่วมรัฐสภาต่อในวันที่ 14 พ.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น