ปชป.รุมค้านให้ ปธ.รัฐสภาตีความร่าง รธน.หาก ส.ส.ร.ตุกติกสอดไส้เปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ แตะหมวดสถาบัน เสนอศาลรธน.วินิจฉัยแทน “นิพิฏฐ์” ห่วงพระราชอำนาจถูกริดรอน ด้าน “เหวง” แหกโค้งอัดทหารทรราชเผาบ้านเผาเมืองหลังถูก ส.ว.ทหารโวยใส่ร้ายกองทัพ
วันนี้ (10 พ.ค.) ในการประชุมร่วมรัฐสภาได้มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่...) พ.ศ.... ในมาตรา 291/13 ที่บัญญัติว่า เมื่อ ส.ส.ร.ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วให้นำเสนอต่อประธานรัฐสภา เมื่อประธานรัฐสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว หากเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นมิได้มีลักษณะตามมาตรา 291/11 วรรคห้า ที่ต้องเสนอให้รัฐสภาวินิจฉัย ให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นจาก ส.ส.ร. เพื่อให้ กกต.ดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติของประชาชนว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนั้นหรือไม่
ให้ กกต.ประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติภายในไม่เกิน 60 วัน แต่ไม่น้อยกว่า 45 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากประธานรัฐสภา วันออกเสียงประชามติให้กำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้กกต.ประกาศรับรองผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันออกเสียงประชามติ หากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบ ให้ดำเนินการตามมาตรา 291/14 ต่อไป แต่หากคะแนนการออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป โดยให้แจ้งผลการลงประชามติให้ประธานรัฐสภารับทราบด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณา พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ ส.ว.สรรหา ขอใช้สิทธิประท้วง นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่อภิปรายเมื่อวันประชุมกลางดึกวันที่ 8 พ.ค. ถึงประเด็นการเผาห้างสรรสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ช่วงชุมนุมของคนเสื้อแดงปี 2553 โดยมีทหารเป็นผู้ดำเนินการว่า เป็นการกล่าวร้ายกองทัพ ขาดพยานหลักฐาน พฤติกรรมเช่นนี้ถือว่าไม่เหมาะสม ขณะที่ประธานในที่ประชุมได้วินิจฉัยว่า เป็นห่วงว่าประเด็นนี้จะกลายเป็นประเด็นที่นำไปขยายผลไม่จบ เนื่องจากยังไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จ หากอนุญาตให้อภิปราย อาจทำให้เสียเวลาการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า กองทัพมีทั้งที่เป็นประชาธิปไตยและที่เป็นเผด็จการทรราช ตนเศร้าใจที่ประเทศไทยฉิบหาย เพราะทหารทรราชย์รัฐประหาร ดังนั้น หากให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงเชื่อว่าทหารเผด็จการเป็นคนเผาและทำลายประเทศชาติ แต่ พล.อ.เลิศฤทธิ์ลุกขึ้นตอบโต้ทันทีว่า ขอให้เข้าใจใหม่หากมองว่าทหารเป็นเผด็จการทรราช เพราะทหารเป็นของประชาชน ทำงานเพื่อประเทศชาติ หากมองว่าทหารเผาบ้านเผาเมืองควรต้องรอศาลพิสูจน์ก่อน
ต่อมานายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ใช้สิทธิประท้วง นพ.เหวง ที่กล่าวพาดพิงให้บุคคลอื่นเสียหาย พร้อมขอใช้สิทธิชี้แจงกรณีเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ แต่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ไม่อนุญาตและปิดไมโครโฟน พร้อมกล่าวว่าให้เรื่องนี้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ได้ก่อน แต่นายนิพิฏฐ์ยังคงตะโกนต่อไปว่าเรื่องนี้ได้ข้อพิสูจน์แล้ว มีคนไปฟ้องเอาผิดกลุ่ม นปช. และเสื้อแดงทั้งหมด ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 54 ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาจำคุก 7 คนเสื้อแดงที่ขโมยของที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน จากนั้นประธานในที่ประชุมได้ตัดบทไม่อนุญาตให้สมาชิกใช้สิทธิอภิปรายในประเด็นดังกล่าวอีก และให้เข้าสู่เนื้อหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรานี้ไม่มีการแก้ไข มีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนความเห็นและสมาชิกรัฐสภาที่สงวนคำแปรญัตติได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะไม่เห็นด้วยที่ให้อำนาจประธานรัฐสภาวินิจร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 291/11 วรรค 5 ที่มีสาระสำคัญว่าร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเปลี่ยนแปลงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำไม่ได้ เช่น นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม. นายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง กรรมาธิการเสียงข้างน้อยจากพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่าถือเป็นการให้อำนาจประธานรัฐสภาคนคนเดียว และคนที่ทำหน้าตรงนี้ต้องไม่มีส่วนได้เสียทางการเมืองด้วย ดั้งนั้นต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ขณะที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ กรรมาธิการเสียงข้างน้อยจากพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้เป็นอำนาจของที่ประชุมรัฐสภาที่จะพิจารณาประเด็นนี้ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่ให้อำนาจแค่คนคนเดียววินิจฉัย
ด้าน นายสมศักดิ์ชี้แจงว่า หากมีปัญหาในประเด็นนี้จะมอบให้เลขาธิการรัฐสภาตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณาในเรื่องนี้ แต่นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการชี้แจงว่า พระราชอำนาจที่อยู่ในหมวดต่างๆ นอกจากในหมวดที่ 2 หากไปแตะตรงนี้ทำไม่ได้อยู่แล้ว ส.ส.ร.99 คนไม่มีใครที่ไม่จงรักภักดี และได้เขียนไว้ในมาตรา 291/11 วรรค 5 ครอบคลุมอยู่แล้วที่ไม่ให้กระทบต่อพระราชอำนาจในหมวดอื่นๆ
ด้านนายนิพิฏฐ์อภิปรายว่า ไม่ควรให้รัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัย แต่ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่นี้ และเราต้องมีความรู้ในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะสถานะของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นายนิพิฏฐ์กล่าวต่อว่า ตนเป็นห่วงว่าหากร่างรัฐธรรมนูญมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะที่ผ่านมาเราเคยได้ยินคำว่ารูปแบบของรัฐไทยใหม่ ซึ่งหากมีคนสงสัยโดยให้รัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัยเราจะทะเลาะกัน การต่อสู้เรื่องรูปแบบของรัฐมันกำลังเกิดขึ้น ทั้งนี้ เรากำลังมองเรื่องรูปแบบของรัฐแตกต่างกัน ความขัดแย้งจะเกิดขึ้น ตนจึงเสนอให้คนกลางคือ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด “การบัญญัติไว้ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้นั้น ซึ่งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไม่ได้มีแค่หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่มีมากกว่าที่บัญญัติไว้ เพราะมีหมวดอื่นที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจที่สามารถแก้ไขได้ เช่น จะมีการไปแก้ไขพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษได้หรือไม่ เพราะไม่ได้อยู่ในหมวด 2 แต่อยู่ในหมวดของคณะรัฐมนตรี รวมทั้งพระราชประเพณีของพระมหากษัตริย์ก็มีอยู่หลายเรื่อง ก็ไม่ได้อยู่หมวด 2 แต่เป็นพระราชอำนาจโดยทั่วไป เป็นต้น หากบอกว่าต่อไปพระราชอำนาจจะกระทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ แล้วให้รัฐสภาเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งมันยิ่งใหญ่เกินไป เราจึงควรให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย” นายนิพิฏฐ์กล่าว
นายสามารถชี้แจงว่า มาตรานี้เป็นเพียงการบัญญัติกระบวนการว่าหลังจาก ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญก็จะส่งต่อมาให้ประธานรัฐสภา เมื่อรับเรื่องเสร็จประธานรัฐสภาจะใช้อำนาจวินิจฉัยว่าจะขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในมาตรา 291/11 วรรคห้าหรือไม่ ซึ่งก็มี 3 เงื่อนไขคือการจัดทำต้องไม่กระทบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่เปลี่ยนรูปของรัฐ และไม่แตะหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ คือ หมวด 2 โดยประธานรัฐสภาวินิจฉัยเบื้องตนเห็นว่าขัดก็จะนำเข้ารัฐสภา ส่วนที่มีการเสอนให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยนั้น โดยเกรงว่าจะสร้างประเพณีใหม่ในการวินิจฉัยกฎหมายนั้น ยืนยันว่าสมาชิกรัฐสภาเราทราบถึงเจตนารมณ์ของการเขียนรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาจึงสามารถวินิจฉัยได้ดีที่สุด
ในส่วนของพระราชอำนาจที่มีอยู่ในหมวดอื่น นอกเหนือจากหมวด 2 นั้น คือ หมวดคณะรัฐมนตรี เช่น พระราชอำนาจการทำสนธิสัญญาสงบศึก พระราชอำนาจการอภัยโทษ หรือแม้กระทั่งพระราชอำนาจการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง ซึ่งการที่เขียนว่าห้ามร่างรัฐธรรมนูญที่กระทบต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแค่นี้ก็ครอบคลุมแล้ว นอกจากนี้ ส.ส.ร.ทั้ง 99 คน ตนมั่นใจว่าไม่มีใครที่จะไปริดลอนพระราชอำนาจ และไม่มีใครจะไม่จงรักภักดี ดังนั้นยืนยันว่าไม่มีใครไปเขียนรัฐธรรมนูญที่จะเป็นการลิดรอนพระราชอำนาจอย่างแน่นอน