xs
xsm
sm
md
lg

สภาลากถู! มีมติให้ รธน.ประกาศใช้ทันทีหลังประกาศในราชกิจจา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมศักดิ์ เกียรติ์สุรนนท์
ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติให้ รธน.ประกาศใช้ทันทีหลังประกาศในราชกิจจา ด้าน “คำนูณ” ขอแปรญัตติให้มีผลบังคับใช้ 30 วัน นับจากวันประกาศราชกิจจาฯ หวั่น กกต.ไม่พร้อมรับมือเลือกตั้ง “สมศักดิ์” เร่งเดินหน้าพิจารณา ห้ามสมาชิกอภิปรายซ้ำ เจอโวยรีบร้อนผิดปกติ

วันนี้ (10 เม.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขร่าง รธน.หลังถกเถียงลากยาวร่วม 3 ชั่วโมง กว่าจะเข้าสู่การพิจารณามาตรา 2 รัฐธรรมนูญนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้ขึ้นมาทำหน้าที่ประธาน ได้เรียกให้นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.ปชป.อภิปรายตามที่ขอสงวนคำแปรญัตติไว้ แต่นายนิพิฏฐ์ชี้แจงว่า ตนไม่ได้ขอสงวนความเห็นในมาตรานี้ ซึ่งเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าร่างแก้ไขฉบับนี้ไม่ถูกต้อง จึงควรยอมรับและถอนร่างออกไป แต่นายสมศักดิ์ไม่ได้สนใจต่อคำท้วงติงเหล่านั้น และเรียกรายชื่อผู้สงวนคำแปรญัตติอื่นอภิปรายต่อไป โดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก กล่าวว่า การกำหนดไม่เห็นด้วยที่กำหนดให้ประกาศใช้ถัดวันประกาศในราชกิจจา เพราะเร่งรีบมากเกินไป ควรทิ้งเวลา 30 วัน อย่างน้อยให้เวลากับ กกต.และฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีการเตรียมตัวเตรียมพร้อมเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

“รัฐธรรมนูญนี้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ใช่ของบริษัท มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต้องใจเย็นสักนิด เร่งรีบเพราะต้องการสร้างผลงานหรือไม่”

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ไม่ว่าจะมีคนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าไม่เกิดปาฏิหาริย์อะไร การเขียนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องเดินหน้าต่อไปตามที่เสียงข้างมาเห็นไว้ ตนก็อยากให้เป็นไปอย่างสง่างาม หมดข้อสงสัย ไม่อยากให้เกิดการถกเถียงข้อบังคับ วิธีการมากกว่าเนื้อหา ตนขอแปรญัตติให้มีผลบังคับใช้ 30 วัน นับจากวันประกาศราชกิจจา เพื่อให้เวลาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมเต็มที่ในการดำเนินการ ไม่ได้เป็นเวลาที่ยาวนานเกินไป เพราะหลังจากมีผลใช้บังคับ ยังมีการกำหนดระยะเวลาที่ดำเนินการ สูตร 15-20-40-15 คือ 90 วันกระบวนการต้องจบสิ้น

แต่ยังมีที่เป็นปัญหาในเรื่องการใช้กฎหมาย คือ ร่างเดิมบอกให้ใช้ตามที่ กกต.กำหนด แต่ร่างใหม่ให้เอากฎหมายท้องถิ่นมาบังคับใช้โดยอนุโลม การจะนำอะไรมาบังคับใช้ หรือไม่บังคับใช้มีผลแตกต่างกัน และอาจทำให้การเลือก ส.ส.ร.มัวหมองได้ ไหนๆ จะมีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งที ขณะที่ประชาชนหวังจะให้เป็นฉบับสุดท้ายที่จะไม่มีการแก้ไข ยกเลิก หรือกระทำการนอกรัฐธรรมนูญอีก ก็ควรให้กระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.ร.มาด้วยความรอบคอบ นอกจากนี้หากจะมีการออกเสียงประชามติของประชาชน ก็ควรให้เวลา กกต.ได้เตรียมความพร้อม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างสมาชิกที่อภิปรายสงวนคำเห็นของตนเอง นายสมศักดิ์ได้พยายามรวบรัด โดยใช้อำนาจประธานที่ประชุม สั่งห้ามสมาชิกอภิปรายในประเด็นซ้ำกับผู้อื่น จนทำให้สมาชิกจากพรรคประชาธิปัตย์ ประท้วงว่า เป็นการใช้อำนาจที่ลุกลี้ลุกลนเกินไป เพราะสมาชิกมีสิทธิ์อภิปรายเพื่อสนับสนุนความเห็นของตนเองได้

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ชี้แจงในมาตรา 2 โดยยืนยันต่างร่างของกรรมาธิการ เพราะจำเป็นต้องประกาศถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากแม้จะมีการแก้ไขใหม่ แต่มีบางมาตราโดยเฉพาะมาตรา 3 และมาตรา 4 ที่มีเนื้อหาที่ลอกมาจากรัฐธรรมนูญปี 50 จึงจำเป็นต้องอิงการใช้รัฐธรรมนูญปี 50 ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ถ้าไม่มีอำนาจตามบทบัญญัติในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ กกต.จะไปกำหนดเรื่องกฎหมายการเลือกตั้งได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นการเริ่มต้นนับแต่วันที่มีการประกาศใช้ ถ้าหากจะรอให้ครบ 30 วัน จึงจะใช้ได้ โดยที่สมาชิกอ้างว่า ให้มีเวลานั้น นั่นคือ เวลาที่รอเฉยๆ เขาจะไปออกกฎหมายมาออกระเบียบมารองรับไม่ได้ ถ้าไม่มีกฎหมายหลักออกมา ระเบียบอื่นๆ ที่เราเขียนมารองรับก็จะทำไม่ได้เช่นกัน

นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวแย้งว่า กฎหมายนี้ถือเป็นการแก้ไขที่มีความพิเศษ คือ เหมือนเป็นการเอากฏหมายลูกมาฆ่ากฎหมายแม่ ไม่ได้เหมือนฉบับอื่นๆ ที่เคยแก้ไขกันมา จึงขอเตือนให้ระวังปัญหาที่จะตามมา

จากนั้นที่ประชุมได้มีการลงมติให้เห็นด้วยตามร่างของกรรมาธิการ คือ ให้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ด้วยคะแนน 349 ต่อ 122 คะแนน งดออกเสียง 4 และไม่ลงคะแนน 1 เสียง
กำลังโหลดความคิดเห็น