xs
xsm
sm
md
lg

“สามารถ” กลัวผิด กม. ดันแก้มาตรา 3 ให้อำนาจรัฐสภาร่าง รธน.ทั้งฉบับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สามารถ แก้วมีชัย (แฟ้มภาพ)
ประธาน กมธ.แก้ รธน.นกรู้ กลัวผิดกฎหมายเตรียมดันแก้ ม.3 ในร่างแก้ไขให้อำนาจรัฐสภาจัดทำ รธน.ได้ทั้งฉบับ ขณะเดียวกัน เล็งใช้เสียงข้างมากตัดสินจะให้มี ส.ส.ร.เลือกตั้งทั้งหมด 99 คน หรือมาจากตัวแทนภาควิชาการ 22 คน


นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การประชุมกรรมาธิการฯในวันนี้ (15 มี.ค.) คาดว่าจะมีความชัดเจนในส่วนขององค์ประกอบของสภาร่างรัฐธรรรมนูญ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยจะพิจารณาในมาตรา 3 การเพิ่มเติมอำนาจให้รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบในการตั้ง ส.ส.ร.โดยวิธีสรรหา และให้ความเห็นชอบในญัตติขอจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เนื่องจากมาตรา 136 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ไม่ได้ให้อำนาจส่วนนี้ไว้จึงต้องเพิ่มเติมอำนาจเข้าไปด้วย จากนั้นจะพิจารณามาตรา 4 ซึ่งเป็นมาตราหลักในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะมีการเพิ่มเติมหมวดที่ 16 เข้ามา

นายสามารถกล่าวว่า มาตรา 4 มีทั้งหมด 17 มาตราย่อย เริ่มจากองค์ประกอบของ ส.ส.ร. โดยตามร่างแก้ไขฯ ของรัฐบาลให้ ส.ส.ร.มีที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน มาจากตัวแทนภาควิชาการ 22 คน รวมเป็น 99 คน อย่างไรก็ดี ในส่วนนี้ยังคงมีความเห็นหลากหลาย ส่วนหนึ่งเห็นว่า ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และเห็นว่าควรมาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่งมาจากภาควิชาการส่วนหนึ่ง แต่บางจังหวัดอาจมี ส.ส.ร.มากว่า 1 คนได้โดยใช้วิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.ร.จากจำนวนประชากร เมื่อเลือกตั้งแล้วให้ ส.ส.ร.ได้รับเลือกตามลำดับผลคะแนน การพิจารณาในส่วนนี้กรรมาธิการจะรับฟังเหตุผลของทั้งสองฝ่ายจากนั้นจะตัดสินว่าเสียงข้างมาจากเลือกวิธีใด

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผ่านประเด็นเหล่นี้ไปได้แล้วการพิจารณาต่อไปน่าจะดำเนินการไปได้รวดเร็วมากขึ้น อาจติดอยู่เพียงเรื่องเดียว คือ การที่กฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ซึ่ง กกต.มีความเป็นห่วงในการออกระเบียบ โดยกรรมาธิการฯ บางส่วนเห็นว่าควรอนุโลมใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มาใช้โดยอนุโลม แต่ต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนว่าจะใช้บทบัญญัติในส่วนใดบ้าง ส่วนใดให้มีการยกเว้น ประเด็นดังกล่วากรรมาธิการมอบหมาย กกต.และสำนักงานกฤษฎีกาไปร่วมกับพิจารณาถึงการออกระเบียบแล้วกับมารายงานกรรมาธิการ ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงขั้นนั้นคงจะมีการพิจารณาลงรายละเอียดต่อไป

ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า การพิจารณาของกรรมาธิการมีความคืบหน้าค่อนข้างช้า นายสามารถ กล่าวว่า จริงๆ แล้วกรรมาธิการมีประชุมกันมาเพียง 4 ครั้งเท่านั้น ต่อการพิจารณาน่าจะดำเนินการไปด้วยความรวดเร็ว เมื่อถามต่อว่าการที่กรรมาธิการทะเลากันบ่อยๆ จะทำให้การพิจารณาล่าช้าหรือไม่ นายสามารถกล่าวว่า ตนดูก็ไม่เห็นมีการทะเลาะ อาจเป็นเพราะแต่ละท่านมีบุคลิกของตัวเองต่างฝ่ายต่างตระหนักถึงภาระหน้าที่ที่ได้รับจากสภา บางทีการพูดคุยกันเหมือนเป็นการหยอกล้อกันเพียงแต่อาจจะแรงไปหน่อยในบางครั้ง แต่ไม่ถึงกับต้องเชิญให้ออกจากห้องประชุม
กำลังโหลดความคิดเห็น