ASTVผู้จัดการรายวัน -"พัลลภ" ปูด คมช.ภาค 2 จ้อง"ปฏิวัติ" ด้าน ตท.10 เตรียมแผนสู้ เผย "ลับ ลวง พราง" ภาค 5 แฉ ตท.10 เตรียมแผนพา "แม้ว" กลับบ้าน ผวาลอบสังหาร แนะให้เครื่องลงเชียงใหม่ แฉ"ปู"อ้อน"ป๋าเปรม" ขอพี่ชายกลับบ้าน "มหาจำลอง" ให้สังคมจับตา "บิ๊กบัง- เสธ.หนั่น" ทำเพื่อแม้ว "มาร์ค" จี้ทีมวิจัย ส.พระปกเกล้า ทบทวนรายงาน 3 ประเด็นหลัก "คณิต" ยันไม่เคยเสนอให้ล้มคดี คตส.-นิรโทษ ชี้จะเป็นชนวนขัดแย้งรุนแรง
พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และ อดีตรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (รอง ผอ.รมน.) เปิดเผยผ่านหนังสือ “ลับ ลวง พราง ภาค 5” ของวาสนา นาน่วม ถึงความเป็นไปได้ในการปฏิวัติ ว่า ขณะนี้มีความพยายามจากกลุ่มเดิมในการที่จะปฏิวัติรัฐประหารล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ภาค2 ซึ่งเป็นพวกกลุ่มเดิม ที่ตนเคยไปร่วมประชุมวางแผนปฏิวัติ เมื่อ19 ก.ย.49 โดยพวกนี้เขายังไม่ยอมหยุด และจะพยายามล้มรัฐบาล ด้วยวิธีการเดิมๆในอดีต แต่ถ้าไม่สำเร็จ ก็ต้องให้ทหารปฏิวัติ พวกนั้นยังอยู่กันครบ แต่ละคนรอจ้องอยู่ทั้งนั้น ซึ่งอาจจะมี คมช. อีกครั้ง เพราะทีมงานที่เคลื่อนไหววางแผนกันอยู่ก็พวกเดิมๆ ทั้งนั้น แต่จะกล้าปฏิวัติหรือเปล่า ก็ลองดู
ขณะที่ พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี แกนนำ ตท.10 กล่าวว่า ไม่กลัวปฏิวัติ อยากจะปฏิวัติก็ปฏิวัติไป จะรอดู และมีการให้ร่างแผนต่อต้านการปฏิวัติในด้านยุทธวิธี การใช้กำลังของหน่วยต่างๆ ไม่มีใครกลัวปฏิวัติแล้ว ถ้าอยากปฏิวัติ ก็ลองดู ชนะก็ชนะไป แต่ถ้าแพ้ก็เป็นกบฏ
นอกจากนี้ อ.วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ โหรคมช. แห่งจ.เชียงใหม่ ยังระบุในหนังสือเล่มดังกล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. จะเป็นนายทหารกู้ชาติ เนื่องจากในชาติปางก่อน พล.อ.ประยุทธ์ เคยเกิดเป็นหนึ่งในทหารเอกของพระองค์ดำ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อส่วนตัวของพล.อ.ประยุทธ์ ที่นับถือ สมเด็จพระนเรศวรฯ อย่างมาก พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นความหวังของคนไทย ในการที่จะนำพาชาติรอด และจะเป็นนายทหารที่กู้ชาติ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จะได้นำกู้ชาติ และเป็นคนที่รักษาชาติ และรักษาราชบัลลังก์ แน่นอน แต่ตอนนี้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องทำหน้าที่ในการช่วยเหลือรัฐบาล ช่วยเหลือนายกรัฐมนตรีหญิง ไปก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหนังสือลับ ลวง พราง ภาค 5 ยังระบุว่า ทางแกนนำ ตท.10 ได้มีการเตรียมแผนการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศอย่างปลอดภัย โดยเตรียมให้เครื่องบินมาลงจอดที่สนามบินเชียงใหม่ บ้านเกิด ส่วนสาเหตุที่ไม่ลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อแก้เคล็ดจากการกลับประเทศครั้งก่อน เมื่อปี 2551 มาจูบแผ่นดินที่สุวรรณภูมิ แต่สุดท้ายต้องหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง และเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากกลัวจะถูกลอบสังหาร เพราะที่สนามบินสุวรรณภูมิ ดูแลยาก แต่ที่สนามบินเชียงใหม่ เป็นพื้นที่เสื้อแดง จึงมีแผนใช้คนเสื้อแดงที่มารอต้อนรับ เป็นโล่มนุษย์ ป้องกันพ.ต.ท.ทักษิณ ให้มีความปลอดภัย
นอกจากนี้ หนังสือดังกล่าวยัง ระบุว่า ในระหว่างงานเลี้ยงเนื่องในวันกองทัพบกที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้พบกันครั้งแรกนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้กระซิบข้างหู พล.อ.เปรม ว่า " ขอให้พี่ชายกลับบ้านได้ไหมคะ" จนนำมาซึ่งการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศว่า จะเดินทางกลับประเทศไทย ภายในปีนี้
**ไม่เชื่อผลวิจัยฯปรองดองสำเร็จ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวทางการปรองดอง ตามผลการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าว่า เป็นเพียงข้อเสนอ ไม่ใช่ข้อสรุป ดังนั้นจึงไม่เชื่อว่าผลการวิจัยดังกล่าว จะนำไปสู่การปรองดองได้ หากทุกฝ่ายไม่ให้ความร่วมมือ โดยเห็นว่าท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นส่วนหนึ่งในการพยายามขัดขวางความปรองดอง เพราะเมื่อเกิดความปรองดองขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะต้องเป็นฝ่ายค้านตลอดไป
นายจตุพร ยังเรียกร้องให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร จับเข่าคุยกัน และควรหยุดพูดถึงเบื้องหลังการรัฐประหาร และเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการปรองดองต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับตนเองไม่ได้ติดใจหรือโกรธแค้น พล.อ.สนธิ แต่เห็นว่าสิ่งที่พล.อ.สนธิกำลังดำเนินการอยู่ เป็นการแก้ไขสิ่งที่ทำผิดพลาดในอดีต
** อยากปรองดองต้องลืมอดีต
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร เตรียมบรรจุวาระ ผลการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า เข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เป็นสิ่งที่ประชาชนอยากรับรู้ข้อเท็จจริงเนื่องจากตั้งแต่เกิดความขัดแย้งหลัง 19 กันยายน 2549 ประเทศไทยเกิดความล้าหลังกว่า 10 ปี โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ จึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคม รวมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ให้ลืมอดีต หันมาร่วมมือสร้างความปรองดองให้เกิดในชาติ ยึดแนวทางการให้อภัย เหมือนกรณีของประเทศแอฟริกาใต้ และประเทศพม่า ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการปรองดอง เพื่อไม่ให้ไทยเสียโอกาสในหลายๆ ด้าน อีกต่อไป ส่วนความคิดเห็นที่แตกต่างก็ควรจะนำเสนอผ่านเวทีรัฐสภา
**"บิ๊กบัง-เสธ.หนั่น"ทำอะไรกันอยู่
ด้านพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)กล่าวถึงสถานการณ์การเมือง ที่มีความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน กับพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่มีการถามหาผู้บงการปฏิวัติปี 49 และเสนอให้ยกเลิกผลจากปฏิวัติทั้งหมด เพื่อให้เกิดความปรองดองว่า ตนและคนส่วนใหญ่ก็ต้องการคำตอบ ที่ต้องจี้ตัวให้ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนให้หมด จากปากสองคนนี้ว่ากำลังทำอะไรกันอยู่ และเพื่อต้องการให้เกิดอะไรกับบ้านเมืองนี้ ไม่ต้องอ้างว่าตายก็พูดไม่ได้ ตนพยายามเฝ้าติดตาม และรอคำตอบทั้งหมดจากสองคนนี้ และขอให้ประชาชนช่วยกันติดตามดูต่อไปด้วย ว่าสถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไร ดูจากปฏิกิริยาของพล.อ สนธิ และพล.ต.สนั่น ต้องการให้ทุกฝ่ายให้ความสนใจต่อกรณีการปรองดองไปอย่างกระชั้นชิด
"ขอให้คนไทยทุกคน ช่วยกันติดตามสองคนนี้ว่า ต่อไปจะดำเนินการทางเมืองอย่างไร จะมีส่วนช่วยให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับเมืองไทยหรือไม่ จะได้รู้ว่า เขาทำเพื่ออะไร ซึ่งผมมั่นใจประชาชนคนไทยที่ติดตามสถานการณ์การเมืองไทยมาโดยตลอด มองด้วยใจที่เป็นธรรม เขาจะรู้ว่าใครทำถูก ใครทำผิด ด้วยใจตนเอง ผมมองว่าขณะนี้ประเทศเริ่มเข้าสู่วิกฤติทางการเมืองแล้ว ซึ่งเป็นวิกฤติที่เกิดจากคนรุ่นเก่าที่สร้างปัญหาไว้ให้กับประเทศ หน้าที่ของรุ่นใหม่ ต้องมาช่วยแก้ไขให้ประเทศเดินไปในทางที่ถูกต้อง และฝากถามด้วยว่า จะแก้รัฐธรรมนูญกันอีกกี่ฉบับและมาทำให้ประเทศชาติพัฒนาดีขึ้นได้อย่างไร ปัญหานี้อยู่ที่ตัวนักการเมือง หรืออยู่ที่ระบบ ต้องมองให้ออก ถ้าไม่เห็น ก็หาทางออกไม่ได้ วิกฤติก็จะเกิดขึ้นอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" พล.ต.จำลอง กล่าว
**"มาร์ค"จี้ทีมวิจัยปรองดองถอนเรื่อง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 3 เรื่องการปรองดอง โดยมีสาระสำคัญสรุปว่า ตนเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และคณะผู้วิจัย มีความตั้งใจดีที่จะร่วมหาทางออกให้แก่บ้านเมือง แต่อาจลืมมองถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า หากปล่อยให้มีการนำงานวิจัยนี้เข้าสู่สภา จนนำไปสู่การลงมติ ย่อมสายเกินกว่าที่จะถอนรายงานวิจัยออกมา และเมื่อถึงเวลานั้นแม้ทางคณะผู้วิจัย จะอ้างว่าได้ทำข้อโต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังกรรมาธิการฯแล้ว ก็คงไม่สามารถหนีสภาพที่ต้องตกเป็นจำเลยร่วมกับเสียงข้างมาก ที่กำลังลากความปรองดองไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ได้
ในฐานะที่ตนเป็นกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า และเป็นหนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิ ที่คณะผู้วิจัยกรุณามาสัมภาษณ์ ถามความเห็น เกี่ยวกับแนวทางปรองดอง จึงขอเสนอให้ถอนรายงานวิจัยออกจากคณะกรรมาธิการฯทันที เพื่อดำเนินการยืนยันตามเจตนารมณ์ของคณะผู้วิจัยที่ได้ประกาศไว้ และทบทวนรายงานในประเด็นดังต่อไปนี้
** ทบทวนบทสรุป 3 ประเด็นด่วน
1. กรณีข้อเท็จจริง เมื่อคณะผู้วิจัยเสนอให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงของคอป. และเสริมความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการปรองดอง ก็ควรจะเริ่มต้นจากคณะผู้วิจัยเองที่ควรนำเอาข้อสรุปของคอป. เกี่ยวกับต้นตอของวิกฤติ คือ คดีซุกหุ้นของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาเป็นส่วนหนึ่งของรายงาน แทนการเขียนถึงเรื่องนี้เพียง 2-3 ประโยค ในลักษณะที่สวนทางกับข้อสรุปของคอป. และยังสมควรเอาคำพิพากษาของศาล ในหลายๆ คดีที่เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง การเผาศาลากลาง และสถานที่สำคัญมาบรรจุไว้ มิใช่กล่าวลอยๆ ว่า ขณะนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันว่าอะไรเกิดขึ้น ในช่วงเดือน เม.ย.- พ.ค.ปี 53
2. ทบทวนข้อเสนอที่สุดโต่ง และนำมาสู่ความขัดแย้ง คือ การยกเลิกคดี คตส. ทั้งหมด และห้ามไม่ให้มีการนำมาพิจารณาใหม่ ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ของผู้ต้องการหลุดคดี และเป็นการเสนอโดยกลุ่มคนดังกล่าว โดยคณะผู้วิจัยก็ยอมรับว่า เป็นข้อเสนอที่จะทำให้การสร้างความปรองดองเป็นไปได้ยาก เพราะบางกลุ่มเห็นว่าถ้าผู้กระทำผิดยังลอยนวล ไม่มีการพิสูจน์ข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดหรือไม่ ขณะที่คณะผู้วิจัยกลับไม่ยอมรับข้อเสนอของผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมาก ที่ไม่มีส่วนได้เสียในคดี ที่ให้คดี คตส. เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป โดยอ้างว่าไม่ตอบโจทย์การปรองดอง
" หากไม่มีการทบทวนเรื่องนี้ รัฐบาลก็จะหยิบทางเลือกนี้ไปเริ่มดำเนินการตามรายงานของกรรมาธิการปรองดอง ทำให้กระบวนการปรองดองถูกแปรเป็นการตอบโจทย์ผู้กระทำความผิดโดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรม กับความถูกต้องของบ้านเมืองไปสู่สภาพ ความยุติธรรมของผู้ชนะ"
3. คณะผู้วิจัยควรใช้โอกาสการทบทวนนี้ประสานกับคอป. ซึ่งกำลังทำรายงานฉบับที่ 3 ส่งให้รัฐบาลภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อนำมาประกอบการวิจัย เพราะแม้แต่นายคณิต ณ นคร ประธาน คอป. ยังตั้งข้อสังเกตว่า ข้อเสนอต่างๆ ของกมธ.ปรองดองไม่ปรากฏข้อเสนอแนะ ของคอป.อยู่เลย จึงสงสัยว่า คอป.ทำงานไม่ดีหรืออย่างไร และการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ 47 คน ของสถาบันพระปกเกล้า ใช้เทียบเคียงกับงานสำรวจความคิดเห็นได้หรือไม่ เพราะมองว่าสัดส่วนน้อยมาก ตนจึงเรียกร้องให้คณะผู้วิจัย ถอนรายงานที่กำลังถูกบิดเบือนไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ซึ่งจะสร้างความขัดแย้งและทำลายความถูกต้องในบ้านเมือง อันจะส่งผลให้คณะผู้วิจัยและสถาบันพระปกเกล้า ถูกครหาว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องการกระทำเช่นนี้ด้วย
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังยื่นข้อเสนอ ถึง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ในฐานะประธานกรรมการสภา สถาบันพระปกเกล้า และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในฐานะเลขานุการสภาฯ ให้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการสภาฯโดยด่วน เพื่อพิจารณาปัญหาทั้งหมดนี้ เพราะกรรมการสภาฯ เป็นผู้อนุมัติให้มีการจัดทำงานวิจัยนี้ จึงหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ การประชุมเพื่อการกำหนดท่าทีที่ชัดเจน จะเป็นการปกป้องชื่อเสียงของสถาบันฯ เพราะการไม่เรียกประชุมในขณะนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการปล่อยให้รายงานของคณะกรรมาธิการฯ เขียนโดยกรรมาธิการคนเดียว หรือกลุ่มเดียว ทั้งๆ ที่มีการทักท้วงจากกรรมาธิการอีกจำนวนหนึ่ง หากปล่อยไปเช่นนี้ ประธานคณะกรรมาธิการฯ จะต้องรับผิดชอบกับกระบวนการบิดเบือนข้อเสนอของผู้วิจัย และการสร้างความขัดแย้งในสังคมรอบใหม่ เพราะการเข้ามาเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯในครั้งนี้ ต้องการเข้ามาแก้ไขความขัดแย้ง ที่ตนมีส่วนร่วมในการสร้างขึ้นด้วย
"ขณะนี้ความสำเร็จเรื่องการปรองดองแขวนอยู่บนเส้นด้าย รายงานของคณะผู้วิจัย สามารถนำไปใช้เป็นจุดเริ่มต้น ในการหาข้อยุติร่วมกัน เพื่อสร้างความปรองดองได้ จะเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก หากรายงานชิ้นนี้ ต้องกลายเป็นเพียงเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ในการฉกฉวยผลประโยชน์ และสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ ส่งผลให้ความหวังของสังคมในเรื่องการปรองดองต้องล่มสลายไปโดยสิ้นเชิง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ ยังไม่เห็นด้วย ที่นายกรัฐมนตรี โยนให้สภาเป็นผู้กำหนดแนวทางปรองดอง เพราะการปรองดองไม่ใช่เรื่องของการออกกฎหมายเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารด้วย แต่ที่พูดเช่นนี้ เพราะต้องการโยนความรับผิดชอบให้พ้นตัวมากกว่า ซึ่งตนคิดว่า นายกรัฐมนตรี ต้องฟังคณะผู้วิจัย และเดินหน้าตามเจตนารมณ์ดังกล่าว อย่าใช้เสียงข้างมากในสภา มาสรุปแนวทางปรองดอง และควรรอผลสรุปของ คอป.ด้วย ไม่ใช่หยิบเฉพาะประเด็นที่ตัวเองได้ประโยขน์ กรณีการเยียวยาไปใช้ แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ปรองดองให้กับส่วนรวม
**ชี้ 6 ปัจจัยทำปรองดองเหลว
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่า กระบวนการปรองดองจะล้มเหลวเพราะรัฐบาล โดย มีสัญาณบ่งชี้ 6 ข้อ ดังนี้
1. ท่าทีนายกรัฐมนตรี ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับผลวิจัยการปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเชื่อว่าไม่ได้อ่านผลวิจัยอย่างละเอียด ทำให้การตอบคำถามไปคนละทิศละทาง และยิ่งสร้างความสับสนกับประชาชน
2. การเคลื่อนไหวของคนในพรรคเพื่อไทย ตามข้อตกลงของที่ประชุมหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ให้หยุดแก้ มาตรา 112 และการตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง แต่ยังปรากฏว่ามีการเคลื่อนไหวในประเด็นเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
3 .นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะแกนนำคนเสื้อแดง ประกาศจุดยืนจะต่อสู้กับอำมาตยาธิปไตยต่อไป สะท้อนว่า การสร้างภาพโดยเชิญประธานองคมนตรี มาร่วมงานเลี้ยง เป็นแค่ละครตบตาประชาชน
4. การที่กรรมาธิการปรองดองบิดเบือนข้อเสนอของคณะผู้วิจัยสถาบันพระปกเกล้า
5. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการขยายสมัยประชุมไปถึงเดือนพฤษภาคม เพื่อเร่งรัดให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
6 . ท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในการโฟนอิน ที่เวทีเสื้อแดง ประกาศแทรกแซงศาล โดยมอบให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ ไปเจรจากับผู้พิพากษา ให้ปล่อยตัวคนเสื้อแดงนั้น เป็นวิธีการที่สังคมจะไม่ยอมรับ
ดังนั้น จากเหตุผลทั้ง 6 ข้อข้างต้น จะทำให้กระบวนการปรองดอง ไม่ประสบความสำเร็จ หากนายกรัฐมนตรี ไม่ทัดทาน หรือห้ามปรามกระบวนการเหล่านี้ ความสำเร็จในกระบวนการปรองดอง จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
**คอป.เตรียมเสนอรายงานฉบับ 3
นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เปิดเผยว่า หากไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคหรือขัดข้อง คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ คอป.จะสามารถนำเสนอรายงานฉบับที่ 3 เพื่อส่งไปยังรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
ทั้งนี้ เนื้อหาในรายงานฉบับที่ 3 ส่วนใหญ่จะเป็นการติดตามสิ่งที่ คอป.ได้สนอไปแล้วในรายงาน ฉบับที่ 1 และ 2 แต่ยังไม่ได้รับการปฏิบัติ เช่น การตีตรวนผู้ต้องหา หรือ สิทธิในการประกันตัวชั่วคราว ที่ในขณะนี้ยังไม่ได้รับการดำเนินการอย่างเป็นเรื่องเป็นราว รวมไปถึงการสอบถามสาเหตุด้วยว่า เหตุใดจึงดำเนินการไม่ได้ เป็นเพราะอะไร
" เราเสนอเรื่องการตีตรวน ตั้งแต่ คอป.เริ่มทำงานในระยะแรกๆ แต่ยังไม่ไปถึงไหนเลย เช่นเดียวกับเรื่องสิทธิการประกันตัวชั่วคราว ที่ขณะนี้ยังมีผู้ต้องขังถูกคุมขังอีกประมาณกว่า 100 คน เราจึงอยากรู้ว่า มันมีอุปสรรคอะไร ผมอุตส่าห์ทั้งเสนอแนะ และเขียนบทความไป แต่กลับไม่ได้ถูกใช้เลย ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ความจริงเรื่องความเป็นธรรม ถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ และ คอป.ทำงานโดยอาศัยองค์ความรู้ เสนอแนะทางวิชาการทั้งสิ้น ที่ไม่ได้ใช้ความรู้สึกในการทำงาน" ประธานคอป. ระบุ
ประธานคอป. กล่าวด้วยว่า คอป. มีเวลาทำงานเหลืออีกไม่กี่เดือนแล้ว โดยหลังจากที่มีการนำเสนอรายงานฉบับที่ 3 ออกไป หลังจากนั้น ก็จะสรุปสิ่งที่ คอป.ทำมาทั้งหมด เป็นรายงานฉบับสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นประมาณเดือนก.ค.55 ถือเป็นอันหมดภารกิจ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าหลังจากหมดวาระแล้ว ก็จะไม่ขอทำงานต่อ เพราะไม่อยากให้ทำเหมือนเป็นงานประจำ
** ชี้ล้มคดีคตส.-นิรโทษฯชนวนขัดแย้ง
นายคณิต ยังกล่าวถึง รายงานผลการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า เสนอแนะให้มีการล้มคดีที่มาจากการทำงานของ คตส. ว่า ตั้งแต่ คอป.ได้เข้ามาทำหน้าที่เพื่อแสวงหาความปรองดองนั้น ในที่ประชุม คอป.หรือแม้แต่ข้อเสนอแนะของคอป.เอง ไม่มีเคยมีการพูดถึงการล้มคดีของ คตส. หรือ การนิรโทษกรรม เพราะเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นร้อน และเป็นเรื่องทางการเมืองที่อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งกันได้ ซึ่ง คอป.จะทำแต่ประเด็นที่จะนำมาสู่ความสงบ ความเข้าใจกันดีของคนในบ้านเมืองเท่านั้น
"รายงาน คอป.ทุกฉบับ เราเผยแพร่ และจะส่งรายงานเข้าไปทุกหน่วยงาน รวมไปถึงกมธ.ปรองดอง หรือ สถาบันพระปกเกล้าเอง โดยไม่มีอะไรปิดบัง แต่ยืนยันว่า เรื่องล้มคดี คตส.หรือนิรโทษกรรมไม่มีอยู่ในข้อเสนอแนะ ส่วนเรื่องการทำงานของกมธ.ปรองดองนั้น ถือเป็นอีกภาคหนึ่ง ซึ่งรู้สึกว่าจะเป็นทางด้านการเมืองเสียหมด เพราะว่าประธาน กมธ. และตัวกรรมการก็เป็นนักการเมือง ซึ่งคอป.ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองอยู่แล้ว แต่เราจะเกี่ยวข้องกับความสงบที่เป็นภาคประชาชน และการที่จะทำให้เกิดความถูกต้องในภาคประชาชนได้" นายคณิต กล่าว.