xs
xsm
sm
md
lg

คาดคำวินิจฉัยกลางลงนามเสร็จศุกร์นี้ ยกคำร้อง “เรืองไกร-จำลอง” พ่วงคดี ม.68 อีก 4

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงศ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
หน.โฆษกศาลรัฐธรรมนูญเผยที่ประชุมตุลาการเห็นชอบร่างคำวินิจฉัยกลางยกคำร้องแก้ รธน.แล้วรวม 30 หน้า คาดให้ลงนามเสร็จไม่เกินวันศุกร์ ยันไม่ต่างจากเดิม ส่วนแบบรายคนอยู่ระหว่างเช็กถ้อยคำ แย้มเผยแพร่ช้าสุดสัปดาห์หน้า - จำหน่ายคำร้อง “เรืองไกร-จำลอง” หลังฟ้องสอบ ส.ส.-ส.ว.ร่วมโหวตแก้ ชี้ไร้ข้อเท็จจริงเหมือน 5 คำร้อง และไม่รับคำร้องคดี ม.68 อีก 4

วันนี้ (25 ก.ค.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบกับร่างคำวินิจฉัยกลางกรณียกคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่มีประมาณ 30 หน้าแล้ว แต่เนื่องจากจะต้องมีการปรับปรุงข้อเท็จจริงบางประการ และแก้ไขคำผิดถูก ซึ่งหากคณะทำงานที่เป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการแล้วเสร็จก็จะเสนอต่อตุลาการฯแต่ละคนให้ลงนามซึ่งน่าจะเริ่มเสนอให้ลงนามได้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป และเมื่อแล้วเสร็จคาดว่าไม่เกินวันศุกร์ที่ 27 ก.ค.นี้ คู่กรณีจะสามารถคัดสำเนาคำวินิจฉัยกลาง และสำนักงานจะนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษารวมถึงเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของคำวินิจฉัยกลางนั้นจะไม่มีอะไรที่แตกต่างจากที่คณะตุลาการได้อ่านให้คู่กรณีฟังเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ส่วนคำวินิจฉัยจะตอบปัญหาสังคม หรือทำให้หลายหน่วยงานนำไปปฏิบัติได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการทำความเข้าใจในเนื้อหาคำวินิจฉัยกลางที่จะออกมา และที่ศาลฯมีข้อแนะนำในเรื่องการทำประชามติก็เป็นส่วนหนึ่งในคำวินิจฉัย

“สำหรับคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการแต่ละคนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างที่คณะทำงาน ซึ่งคณะตุลาการตั้งขึ้นตรวจสอบความถูกต้องของถ้อยคำและส่งคืนให้ตุลาการแต่ละคนได้พิจารณา ซึ่งหากแล้วเสร็จก็จะเผยแพร่ไปพร้อมกับคำวินิจฉัยกลาง แต่หากไม่แล้วเสร็จก็คาดว่าจะสามารถเผยแพร่ได้ในสัปดาห์หน้า” นายพิมลกล่าว

นายพิมลกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมคณะตุลาการวันเดียวกันนี้ยังได้พิจารณาและมีคำสั่งจำหน่าย 2 คำร้องในกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ขอถอนคำร้องที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า การที่กรรมาธิการและสมาชิกรัฐสภา มีส่วนร่วมในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการกระทำล้มล้างการปกครองหรือไม่ และกรณี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคณะ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 212 ว่าการที่นายสุนัย จุลพงศธร กับพวก 416 คนดำเนินการจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการกระทำล้มล้างการปกครองหรือไม่ แม้ว่าก่อนหน้าที่ศาลจะมีคำสั่งให้คู่กรณียื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว แต่เนื่องจากศาลได้มีคำวินิจฉัยยกคำร้องในประเด็นเดียวกันนี้ตามคำร้องทั้ง 5 คำร้องแล้วว่ากรณีไม่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ และพบว่าไม่มีข้อเท็จจริงอื่นนอกเหนือจากใน 5 คำร้อง การพิจารณาคดีนี้ต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดี จึงมีคำสั่งให้จำหน่าย 2 คำร้องดังกล่าว

นายพิมลกล่าวอีกว่า นอกจากนี้คณะตุลาการฯยังมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยรวม 4 คำร้อง โดย 1. เป็นกรณีที่นายเรืองไกร ขอถอนคำร้องที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า กกต.และผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึง 6 พรรคการเมือง สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 จึงอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ เนื่องจากศาลฯได้มีคำวินิจฉัยยกคำร้องในประเด็นที่มีการร้องไปแล้ว 2. กรณี จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 213 เพื่อเพิกถอนการลงมติรับคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ของ 7 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

3. กรณีที่นายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ และคณะ และ 4.กรณีนายวานิช พาชารี ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยกเลิกการกระทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพิกถอนการพิจารณาคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครอง และคำสั่งที่ให้รัฐสภาชะลอการลงมติวาระ 3 รวมทั้งเพิกถอนการพิจารณาและคำวินิจฉัยที่ให้ยกคำร้อง เนื่องศาลฯ เห็นว่าคำร้องของ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ นายหนึ่งดิน และนายวานิชนั้น เป็นการขอให้วินิจฉัยโดยผู้ถูกร้องเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียเอง หากศาลพิจารณาวินิจฉัยก็จะขัดต่อหลักยุติธรรมที่ห้ามบุคคลเป็นผู้วินิจฉัยคดีของตนเอง รวมทั้งหลักความเป็นกลางในการพิจารณาคดีซึ่งเป็นเหตุในการคัดค้านตุลาการเนื่องจกาเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องในคำร้องนี้โดยตรง จึงไม่คำสั่งไม่รับคำร้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น